ส่องคะแนนนิยม “แพทองธาร” กู่ไม่กลับหลังนิด้าโพลเผยผลสำรวจอยากให้ลาออก ขณะที่ “ลุงตู่” มาแรงขึ้นอันดับหนึ่งนายกฯคนต่อไป
ข่าวที่น่าสนใจ
น่าสนใจยิ่งนักสำหรับ “นิด้าโพล” ที่เปิดเผยผลสำรวจ คนไทยต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย จะไปต่อแบบไหนดี ซึ่งผลสำรวจปรากฎว่า ร้อยละ 42.37 อยากให้ นายกแพทองธาร ชันวัตร ลาออก เพื่อหานายกคนใหม่ ,ร้อยละ 39.92 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ควรยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป ,ร้อยละ 15.04 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ควรบริหารประเทศต่อไปเหมือนเดิม ร้อยละ 1.37 ระบุว่า เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ร้อยละ 0.99 ระบุว่า อย่างไรก็ได้
นอกจากนี้นิด้าโพลยังสำรวจว่า ประชาชนจะสนับสนุนแคนดิเดตนายกที่เหลืออยู่ในบัญชีพรรคการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พบว่า ร้อยละ 32.82 เป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (องคมนตรี -แต่เป็นแคนดิเดตจากพรรครวมไทยสร้างชาติ) ,ร้อยละ 27.94 ระบุว่า ไม่สนับสนุนใคร, ร้อยละ 11.53 นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) ,ร้อยละ 10.92 นายชัยเกษม นิติสิริ (พรรคเพื่อไทย), ร้อยละ 9.77 ใครก็ได้ตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ , ร้อยละ 3.82 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) , ร้อยละ 1.83 นายจุรินทร์ ลักษณวิศษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์), ร้อยละ 0.84 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ),ร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อดูให้ละเอียดถึงผลสำรวจ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าฯ ไปแล้ว แต่กลับพบว่า ประชาชนร้อยละ 82.29 เห็นว่า นายกแพทองธารไม่ควรบริหารประเทศต่อไป ซึ่งเป็นการสะท้อนความไม่เชื่อมั่นต่อนายกแพทองธาร แล้ว จากปัญหาที่รุมเร้า วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำยังไม่รวมภาษีทรัมป์ ,รัฐบาลพรรคร่วมขัดแย้งกัน , ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา นำมาซึ่งคลิปเสียงจนถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ล้วนเป็นปัจจัยที่พอสรุปความรู้สึกของประชาชนได้
แต่ที่น่าสนใจคือมีคะแนนที่พุ่งเป้ามาที่ตัว นายกฯคนต่อไปตามบัญชีแคนดิเดตพรรคการเมือง พบว่าร้อยละ 32.82 อยากให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกต่อนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจของนิด้าโพล เรื่องความนิยมพรรคการเมืองเมื่อ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา คนเทใจโหวตให้นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ร้อยละ 31.48 ,ส่วนอันดับ2 ร้อยละ 19.88 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ,อันดับ 3 ร้อยละ 12.72 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นบุคคลที่พูดจริงทำจริง ตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ ,อันดับ 4 ร้อยละ 9.64 ระบุว่าเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งสูงกว่านายกแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้เพียง ร้อยละ 9.20 เท่านั้น
อย่างไรก็ดีโอกาสที่จะมาถึงพลเอกประยุทธ์ แม้ว่า จะไม่มีกฎหมายห้ามการลาออกจากองคมนตรีแล้วมาเป็นนายกฯ เพราะในอดีต พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยลาออกจากองคมนตรี เพื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งสามารถทำได้ แต่การเมืองในปัจจุบันขั้วรัฐบาลเสียงเกินกึ่งหนึ่งเชื่อว่า ยังไงต้องหนุน นายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย แต่ขณะเดียวกับหากมองไปที่ฝ่ายค้านก็ยังแอบหวังลึกๆ ว่า รวมไทยสร้างชาติจะมาหนุนถ้ามีคนเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถึงอย่างไรเสียพรรคประชาชนคงไม่ยกมือโหวตหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างแน่นอน ซึ่งนายก คนต่อไปก็คงหนีไม่พ้นนายชัยเกษมอยู่ดี
น่าสนใจยิ่งนักกับอีกหนึ่งผลสำรวจของนิด้าโพล เมื่อถามว่า การที่พรรคประชาชนควรร่วมลงชื่อกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อขอเปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ/หรือรัฐมนตรี จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันพบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 64.43 ระบุว่า ควรลงชื่อ ,ร้อยละ 26.26 ระบุว่า ไม่ควรลงชื่อ, ร้อยละ 7.48 ระบุว่า อย่างไรก็ได้ และร้อยละ 1.83 ระบุว่า ไม่ตอบ
นี่ยังเป็นคำถามใหญ่พุ่งเป้ามาที่พรรคประชาชน เพราะทันทีที่ปรากฏคลิปเสียงนายกอิ๊งค์กับฮุนเซน คนทั้งประเทศต่างรับไม่ได้ มวลชนมาชุมนุมให้นายกรับผิดชอบด้วยการลาออก สว.รวมชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนจากตำแหน่ง ภาคประชาชนยื่นป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบเอาผิดปมจริยธรรม และกฎหมายอาญา พรรคฝ่ายค้านป้ายแดงอย่างพรรคภูมิใจไทย ประกาศตั้งแต่ยังไม่เปิดสมัยประชุมสภาจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ติดอยู่ที่ต้องรวมชื่อให้ได้ 99 รายชื่อ เสียงฝ่ายค้านมีเพียง 89 เสียงหากไม่นับรวมพรรคประชาชน
ชัดเจนยิ่งนักสำหรับท่าทีของพรรคส้มที่เลือกเดินเกมส์หล่อให้เหตุผลว่า รัฐบาลเพิ่งปรับครม. และยังไม่ได้บริหารงาน หากรีบยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นการเสียโอกาสจัดการได้ไม่เต็มที่ โดยพรรคประชาชนมีแต่ข้ออ้างสารพัดเพื่อยื้อ อุ้มหนุนรัฐบาลไป และเมื่อภาคประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯลาออก หรือยุบสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคประชาชนกลับด้อยค่าว่า เป็นม็อบเรียกรัฐประหาร ทั้งที่ฝ่ายค้านมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและเอาผิดรัฐบาลแท้ๆ แต่กลับเพิกเฉย
เมื่อย้อนกลับไปดูจังหวะลีลาของพรรคประชาชนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา ซึ่งล็อกเป้ารุมถล่มไปที่นายกฯแพทองธาร คนเดียว โดยขุดคุ้ยข้อมูลเชิงลึกมาอภิปรายแบบมีใบเสร็จ อาทิ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เรื่องตั๋วพีเอ็นซี้อหุ้น การทำนิติกรรมอำพราง , นายธีรัจชัย พันธุมาศ เรื่องที่ดินครอบครัวนายกฯที่เขาใหญ่ และนายจุลพงศ์ อยู่เกษ อภิปรายที่ดินอัลไพน์ที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้มีความชอบธรรมที่จะยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยปมจริยธรรมความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร แต่ทำไมพรรคประชาชนถึงไม่ไปให้สุด โดยเลือกจะจบด้วยการยื่นเรื่องต่ออธิบดีกรมสรรพากรให้ตรวจสอบ ซึ่งกรมสรรพากรก็อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรมว.คลัง เท่านั้น ซึ่งพฤติกรรมของประชาชนชนเป็นเหมือนกับว่า ฉากหน้าดูขึงขัง แต่ฉากหลักมีดีลสัมพันธ์ทางใจจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้ากันอยู่หรือไม่
ทุกพฤติกรรมของพรรคประชาชนที่แสดงออกมานั้น ยิ่งทำให้สะท้อนไปถึงดีลลับ ฮ่องกง ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคส้ม เคยออกมายอมรับผ่านสื่อเองว่า “ยอมรับว่าไปคุยกับนายทักษิณเพื่อจัดตั้งรัฐบาลจริง และเชื่อว่า ถ้าก้าวไกลได้ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย ประเทศไทยจะดีกว่านี้” ดังนั้นจากนี้ไปจึงต้องจับตาไปที่รัฐบาลว่าจะมีการปรับทัพสู้เพื่อกู้วิกฤติหลังจากคะแนนความนิยมร่วงชนิดกู่ไม่กลับ รวมถึงท่าทีพรรคประชาชนจากนี้ต่อไปว่า จะสวมบทบาทเล่นไพ่สองหน้าได้อีกต่อไปหรือไม่หลังต้องเผชิญแรงกดดันจากฉันทามติของประชาชนที่ต้องการเห็น พรรคส้มยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อเช็คบิลรัฐบาลเพื่อไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น