มติสภาฯผ่านฉลุย 3 วาระรวด เปลี่ยนชื่อ “สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” เป็น “สำนักงานพระคลังข้างที่”

สภาฯ มีมติผ่านฉลุย 3 วาระรวด เปลี่ยนชื่อ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็น สำนักงานพระคลังข้างที่ ด้าน เท้ง ยืนเดี่ยวฝ่ายค้าน ไม่ขัดข้องเปลี่ยนชื่อ แต่ไม่เห็นด้วย ครม. เร่งรัดกว่าปกติ ชี้กฎหมายนี้สำคัญ ควรรอบคอบ ก่อน ชลน่าน ลุกแจง ตั้ง กมธ. เต็มสภาได้ ไม่มีอะไรซับซ้อน

มติสภาฯผ่านฉลุย 3 วาระรวด เปลี่ยนชื่อ “สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” เป็น “สำนักงานพระคลังข้างที่” – Top News รายงาน

มติสภาฯ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.10 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยมีสาระสำคัญคือ เปลี่ยนชื่อสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็น สำนักงานพระคลังข้างที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี แถลงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยร้องขอให้ที่ประชุมใช้กระบวนการพิจารณาแบบกรรมาธิการเต็มสภา ทั้ง 3 วาระ

ทั้งนี้ มีผู้ประสงค์จะอภิปรายเพียง 1 คน คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า เมื่อได้ทราบว่า ครม. จะเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฉบับนี้เข้าสู่สภา ก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของแผ่นดินที่สำคัญอย่างยิ่ง คือเป็นทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว มีการประเมินไว้ว่า ทรัพย์สินในส่วนนี้มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาท

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติขึ้นตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. ปี 2561 ส่งผลให้การบริหารจัดการและดูแลพระราชทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ชื่อเรียก Crown Property หรือทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เคยเรียกกันว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในรัชสมัยก่อนหน้านี้ ก็ได้เปลี่ยนเป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ ก็เปลี่ยนเป็นคำว่า ทรัพย์สินในพระองค์ รวมถึงการดูแลพระราชทรัพย์ทั้ง 2 ส่วน ก็เปลี่ยนไปด้วย คือ ในรัชสมัยก่อนหน้านี้ การดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะแยกกันกำกับดูแลจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือแยกกันดู การดูแลทรัพย์สินส่วนพระองค์จะเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

“แต่การดูแลทรัพย์สินของสถาบันฯ นั้น จะดูแลโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ผลของกฎหมายยุค คสช. ทำให้เส้นแบ่งนี้เลือนลงไป โดยเปลี่ยนเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยดูแลและบริหารพระราชทรัพย์ทั้ง 2 ส่วน ไม่ว่าทรัพย์สินส่วนพระองค์ หรือทรัพย์สินที่เป็นส่วนของสถาบันฯ ล้วนแต่ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย พระองค์จะทรงมอบหมายให้สำนักงานฯ บุคคลใด หน่วยงานใด เป็นผู้จัดการพระราชทรัพย์ทั้ง 2 ส่วนก็ได้“

 

ข่าวที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับพระราชทรัพย์ในส่วนของสถาบันฯ นั้น เราจะมีวิธีบริหารจัดการดูแลอย่างไร ให้สถาพรที่สุดเพื่อธำรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศและพระราชสถานะ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาถกเถียงกันในวันนี้ เพราะร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมาวันนี้ ไม่ได้มีเนื้อหาที่จะกระทบกับการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการพระราชทรัพย์ทั้ง 2 ส่วน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่ตนได้กล่าวมานั้น ได้ทำไปเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช.

สาระสำคัญจริงๆ ของกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียง การเปลี่ยนชื่อจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตามกฎหมายปี 2561 ไปเป็น สำนักงานพระคลังข้างที่ แต่เพียงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พวกตนไม่ได้มีประเด็นอะไรที่จะคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ที่รัฐบาลเสนอมา ในฐานะผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง อยากให้การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นไปตามกระบวนการนิติบัญญัติปกติ ไม่อยากให้เสนอกฎหมายฉบับนี้ด้วยกระบวนการพิเศษ เช่น การพิจารณา 3 วาระรวดผ่านกรรมาธิการเต็มสภา ให้จบเพียงแค่ 1 วัน ที่ ครม. เสนอมา เพราะถ้ายิ่งเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่เป็นพระประมุขของชาติ สภาของเรายิ่งต้องควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย หรือการตั้งคำถามในหมู่ประชาชน

“ขอยืนยันว่า ผู้แทนราษฎรของพรรคประชาชน จะทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ Constitutional Monarchy หรือประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เราจะระมัดระวังไม่ให้กฎหมายใดถูกติฉินนินทา หรือมีข้อครหาได้ว่า มีใครที่มีความพยายามทำให้หลุดพ้นไปจากกรอบที่ว่านี้ ที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง อันเป็นการรักษาพระราชสถานะของประมุข ให้ปราศจากจากการเมืองอย่างแท้จริง”

 

 

ดังนั้น ถึงแม้พวกตนจะสามารถรับหลักการในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ แต่ก็ไม่อาจเห็นด้วยกับกระบวนการที่ ครม. เสนอให้มีการใช้คณะกรรมาธิการเต็มสภา เพื่อเร่งรัดกระบวนการในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ พร้อมเสนอประธานสภาตามข้อบังคับการประชุมที่ 120 วรรค 2 อาจจะมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรที่วรรคตอนไม่ชัดเจน ที่เขียนไว้ว่าเมื่อ ครม. ร้องขอ หรือ สส. 20 คนเสนอญัตติ และที่ประชุมอนุมัติ อยากเสนอให้ประธานทำหน้าที่วินิจฉัยให้เด็ดขาด ว่าคำว่า “และที่ประชุมอนุมัตินี้” บังคับใช้กับกรณีที่ ครม. เสนอมาด้วยหรือไม่ ต้องเกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อให้การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้มีความรอบคอบและรัดกุม

ด้าน นายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นอภิปรายต่อโดยขอใช้สิทธิ์เห็นต่าง ว่า ตนเคารพความเห็นของผู้นำฝ่ายค้าน แต่ตนโตมาในระบบที่เชื่อและเคารพในอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างยิ่ง ตนไม่เคลือบแคลงใน พ.ร.บ.ฉบับนี้แม้แต่น้อย เนื้อหากฎหมายฉบับนี้หลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน

คำที่ว่า “บริหารทรัพย์สินตามพระราชอัธยาศัย“ ประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า คนไทยทั้งประเทศได้ประโยชน์ เนื่องจากรัฐบาลอาจจะมีงบประมาณไม่เพียงพอดูแลไม่ทั่วถึง โดยยกตัวอย่างเด็กชาติพันธุ์ตามตะเข็บชายแดน จำนวน 37,000 คน พระมหากษัตริย์ก็ทรงดูแลผ่านมูลนิธิและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

ส่วนเครื่องพิสูจน์ว่าการบริหารงานนั้นโปร่งใสหรือไม่ จะเห็นได้จากกรณีที่โรงพยาบาลสมเด็จยุพราชเดชอุดม เกิดเหตุไฟไหม้ รัฐบาลยังไม่ได้ส่งอะไรไปช่วย แต่ท่านได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ไปช่วยเหลือแล้ว 20 กว่าล้าน เพื่อให้โรงพยาบาลกลับมาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและอำเภอใกล้เคียง

นอกจากนี้ การบริหารตามพระราชอัธยาศัย มีบันทึกไว้ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขว่า โรงพยาบาลและสถานราชทัณฑ์ 44 แห่ง ได้รับพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 2,852 ล้านบาท และสิ่งที่พระองค์ไม่ประสงค์ให้คนไทยรู้คือ รถตรวจเชื้อและวิเคราะห์ผลโควิด-19 กว่ากระทรวงสาธารณสุขจะประกาศ TOR คนไทยคงติดเชื้อตายกันเป็นเบือ ท่านทอดพระเนตรเห็นว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้น หากไม่เข้ามาช่วยเหลือ

ประเทศมหาอำนาจที่ผลิตวัคซีนและยาแก้โรคติดต่อ มีคนเสียชีวิตมากกว่าคนไทย 25 เท่า มีคนติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าประเทศไทย 35 เท่า ต้องขอบคุณกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ทหารที่ช่วยให้วิกฤตดับลงไปได้

 

นายจุติ ถามในที่ประชุมว่า มีใครทราบหรือไม่ รถเก็บเชื้อโควิด-19 สามารถเก็บเชื้อจากคนไทยได้ 313,000 คน ซึ่งมีรถพระราชทาน 20 คัน มีรถขนด่วนภายใน 3 ชั่วโมง ช่วยจำกัดการกระจายของโรคได้อย่างรวดเร็ว เงินกี่พันล้านที่รักษาประโยชน์ของคนไทยไว้ได้

“พ.ร.บ.นี้ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่อเฉยๆ แต่ธำรงไว้ซึ่งความที่ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข พิสูจน์แล้วว่าไม่สงสัยเคลือบแคลงในกฎหมายฉบับนี้ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแน่นอน”

ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้เสนอมีหลักการและเหตุผลตามที่ ครม. ได้นำเสนอต่อรัฐสภา ที่แจ้งต่อสภาตามข้อบังคับ 120 กรณีที่จะพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ครม. ขอให้สภามีมติพิจารณา 3 วาระ คือ ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา เป็นการพิจารณาไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่เคยรองรับไว้ วาระที่ 1 รับหลักการ วาระที่ 2 ชั้นกรรมาธิการ และวาระที่ 3 ชั้นให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้หรือไม่ ก่อนที่จะส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ

 

โดยการทำตามลำดับขั้นตอนนี้ แม้ในที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการตั้งกรรมาธิการเต็มสภา หรือการพิจารณา 3 วาระในคราวเดียวกัน อาจจะต้องขอมติ เพราะมีสมาชิกไม่เห็นด้วยที่จะพิจารณา 3 วาระ ให้เป็นไปตามกระบวนการปกติ และควรจะพิจารณา 3 วาระ ซึ่งต้องขอความเห็นว่าจะพิจารณาโดยอาศัยกรรมาธิการเต็มสภา ให้สมาชิกทุกคนเป็นหรือไม่ หากเห็นชอบจะพิจารณาในชั้นกรรมธิการเต็มสภา

ดังนั้น ต้องขอความเห็นว่าเห็นชอบกับการพิจารณา โดยตั้งกรรมาธิการเต็มสภาหรือไม่ และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาต้องเข้าสู่วาระที่หนึ่ง ชั้นรับหลักการ จะมีผู้อภิปรายเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็เป็นหน้าที่ของสภา หากสภาไม่มีผู้อภิปรายหรือมีผู้เห็นชอบต่อหลักการ ก็ต้องถามมติว่าเห็นชอบต่อหลักการหรือไม่ หรือไม่เห็นชอบ และต่อกรรมาธิการเต็มสภา
ตามที่มีมติ และจะเข้าสู่วาระที่สาม จะเห็นชอบกับการเสนอร่าง แม้จะต้องเต็มสภาก็ต้องทำตามระเบียบวาระ ทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ต้องพิจารณา 3 วาระ

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การพิจารณาด้วยกรรมาธิการเต็มสภา พิจารณาในวาระที่ 1 และ 2 ในคราวเดียวกัน เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หลักการที่เสนอเข้ามาโดย ครม. เป็นเพียงการเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 เพื่อเปลี่ยนชื่อสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ และโอนกิจการของสำนักพระราชวัง เฉพาะส่วนงานพระคลังข้างที่ เป็นของสำนักพระคลังข้างที่ ซึ่งมีอยู่ 6 มาตรา

“ดังนั้น การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ช่วยกันพิจารณาได้ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร ไม่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารทรัพย์สินใดๆ ประเด็นที่มีสมาชิกพูดถึงการบริหารทรัพย์สิน ใช้ประโยชน์ทรัพย์สิน การจัดการทรัพย์สิน เป็นการพูดนอกประเด็น ประธานสภา ต้องระมัดระวังอะไรที่นอกประเด็น ไม่ควรให้อภิปราย ต้องอยู่ในประเด็นเท่านั้นจะให้เปลี่ยนหรือไม่ให้เปลี่ยน ถ้าไม่เห็นด้วยก็บอกไม่เห็นด้วย ให้กลับไปเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เหมือนเดิมก็ว่าไป แต่จะก้าวล่วงการบริหารทรัพย์สิน มันคือเรื่องนอกประเด็น”

นพ.ชลน่าน ย้ำว่า ตนเห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการเต็มสภา ไม่มีอะไรซับซ้อนอยู่ในตัวบททั้งหมด

นายณัฐพงษ์ ขอใช้สิทธิชี้แจงเพราะเกรงว่าจะมีความเข้าใจผิด ซึ่งตนพูดชัดเจนว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือการเปลี่ยนชื่อเท่านั้น ผู้ที่อภิปรายนอกประเด็นอาจเป็น นายจุติ ไกรฤกษ์ มากกว่า ขอยืนยันว่าพวกเราไม่ได้คัดค้าน และเห็นด้วยกับการรับหลักการร่าง พ.ร.บ.นี้ เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ ครม. จะเร่งรัดเท่านั้น ขอบคุณ นพ.ชลน่าน ที่ทำให้ชัดเจนมากขึ้นว่า การบังคับใช้ข้อบังคับที่ 120 วรรค 2 จะต้องอาศัยมติของที่ประชุม

จากนั้น นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น จึงเรียกให้มีการลงมติ ผลการลงมติของสมาชิกที่ประชุม 453 เสียง เสียงเห็นชอบ 451 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เปิดใจ "3 ทหารกล้า" เล่านาทีเหยียบกับระเบิด ชายแดนช่องบก เผยภูมิใจที่ได้รับใช้ชาติ
"ทักษิณ" โชว์อีกเวทีทอล์ค ซัด "ผู้นำเขมร" ไร้จริยธรรม งงคนไทยไม่รักกัน ดันเข้าข้างกัมพูชา ไม่วายแขวะอดีตพรรคร่วมฯ กล่าวหาขายชาติ
ฝนถล่มปากีสถานทำผู้เสียชีวิตกว่า 60 คนใน 24 ชั่วโมง
"รมช.กลาโหม" ลงพื้นที่ช่องสะงำ ขอให้กำลังพลทุกนาย อดทนอีกนิด เผยเตรียมผ่อนปรนรถขนส่งสินค้าข้ามแดน
“วิสุทธิ์” ยันปัดตีตกกม.นิรโทษคดี 112 เชื่อมีทางอื่นช่วยเด็กติดคุกได้ ย้ำสิ่งสำคัญต้องสร้างสามัคคีให้บ้านเมือง
ไฟไหม้ห้างเปิดใหม่ที่อิรักดับกว่า 60 คน
เกาหลีใต้เผชิญฝนตกหนักที่สุดในรอบกว่า 120 ปี
“คำนูณ” ชวนจับตา คำตัดสินศาลรธน. คดี "พิเชษฐ์" โยกงบฯ ปี 69 ขัดรธน. มาตรา 144
ศาลรธน. สั่ง “วุฒิสภา-ภูมิธรรม-ทวี” ยื่นพยานใน 15 วัน ปมถูกร้องแทรกแซงสอบฮั้ว สว.
"กองทัพภาคที่ 2" ชี้แจงเหตุการณ์ทหารเหยียบกับระเบิด ขณะลาดตระเวนพื้นที่ช่องบก จ.อุบลฯ เผยรอผลผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ "วัตถุระเบิด" ของเก่าหรือใหม่

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น