logo

ขอรัฐ ทบทวนวิธีพิจารณาคดีหมูเถื่อน หวั่นคว้า “ลม”

กดติดตาม TOP NEWS

“หมูเถื่อน ปลายทางที่ไหน?” เป็นคำถามที่ผู้เลี้ยงหมูไทยยังคงเฝ้ารอคำตอบจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจนถึงวันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ผู้รับผิดชอบคดีนี้ต้องหาทางนำตัวผู้กระทำผิดที่เชื่อมโยงในคดีไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน นายทุน บริษัทนำเข้า บริษัทชิปปิ้ง ไปดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้ เนื่องจากคดีนี้มีการประเมินมูลค่าความเสียหายไว้ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท จากหมูเถื่อนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทยช่วง 2 ปี ทีผ่านมา มากกว่า 70 ล้านกิโลกรัม เหยียบย่ำผู้เลี้ยงหมูไทย กดราคาให้ตกต่ำและขาดทุนสะสมจนต้องเลิกอาชีพไปนับหมื่นราย

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังได้ส่งหนังสือไปถึงกรมศุลกากร เพื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องการตรวจสอบท่าเรือกรุงเทพฯ (ท่าเรือคลองเตย) และสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง เพื่อขอให้ภาครัฐตรวจสอบหมูเถื่อนที่อาจจะยังตกค้างในพื้นที่ดังกล่าวและอีกหลายๆ พื้นที่ ตามที่ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตาม เมื่อปี 2566 แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าหรือรายงานผลเพิ่มเติม

สำหรับคดี “หมูเถื่อน” ที่มีการสื่อสารให้สังคมรับทราบได้เป็นรูปธรรมมากที่สุดขณะนี้มี 3 เรื่อง คือ 1. คดีแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มคดีหมูเถื่อนตกค้าง (ที่ท่าเรือแหลมฉบัง) 161 ตู้, กลุ่มหมูเถื่อนและเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิด 2,388 ตู้ (ขยายผลจากคดี 161 ตู้), และกลุ่มสุดท้าย หมูเถื่อน ตีนไก่สวมสิทธิ์ โคเถื่อน มากกว่า 10,000 ตัน


2. DSI แถลงผลความคืบหน้าคดีหมูเถื่อนเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 พบเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ 4 คน ร่วมกันกระทำความผิดละเลยต่อหน้าที่ปล่อยให้มีการนำเข้าหมูเถื่อน และ 3. เตรียมส่งต่อคดีหมูเถื่อนอีก 7 สำนวน ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)​ ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ผู้อยู่เบื้องหลังความผิดทั้งหมดของคดีนี้ยังไม่ถูกเปิดเผยชื่อ


นอกจากนี้ ยังมีการนำคดีหมูเถื่อน 2,388 ตู้ ไปพิจารณาเป็น “คดีนอกราชอาณาจักร” หมายความว่า ต้องตรวจสอบข้อมูลผ่านกระบวนการความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ (MLAT) จาก 30 ประเทศต้นทาง แน่นอนคดีต้องล่าช้าออกไปอีกนาน และการพิจารณาคดีจะขาดความต่อเนื่อง จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดต้องไปสอบสวนถึงประเทศต้นทาง ในเมื่อที่ผ่านมา สินค้าลักลอบนำเข้าไม่ว่าจะเป็นชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ ที่จับกุมได้ในราชอาณาจักรมีการดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายไทย ด้วยเพราะความผิดเกิดขึ้นในประเทศไทย หาไม่คดีลักลอบนำเข้าสินค้าต้องพิจารณาเป็นคดีนอกราชอาณาจักรอยู่ร่ำไป เกิดคำถามตามมาอีกว่าแบบนี้เรียก 2 มาตรฐาน ใช่หรือไม่ ที่สำคัญวิธีการนี้ “ประโยชน์ตกที่ใคร?”

2 ปีที่ผ่านมา (2565-2566) จากการขยายผลคดีหมูเถื่อนดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่สำนวนถูกส่งต่อ ป.ป.ช เช่น เครือข่ายบริษัทนำเข้าหมูเถื่อน 18 ราย ยึดทรัพย์แล้วประมาณ 100 ล้านบาท และกำลังจะมีการส่งอีก 7 คดี (เกี่ยวข้องกับบริษัทนำเข้า ชิปปิ้ง และนายทุน) ให้ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีต่อ ส่วนความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ สำนวนส่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) จากนี้คงต้องจับตาว่ากฎหมายจะลงโทษผู้กระทำผิดได้อย่างไร เมื่อไรจะถูกพิพากษา และจะได้ “คนผิดตัวจริง” ไปลงโทษหรือไม่ หวังว่าจะไม่คว้า “ลม” สังคมต้องรอดูบทพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไทยต่อไป./

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น