logo

ราคาสินค้าเกษตร ภายใต้กลไกตลาด ขึ้นได้-ลงได้

กดติดตาม TOP NEWS

เอลนีโญ่ทิ้งทวน ทำเอาปีนี้อากาศร้อนจัดมากอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทย 40-44 องศาเซลเซียส เกิดพายุฤดูร้อนพัดพาหลังคาบ้านเรือนและโรงเรือนเลี้ยงสัตว์เสียหายจำนวนมาก ผู้ประสบภัยสูญเสียทรัพย์สิน ขณะที่สัตว์ในฟาร์มเสียหายไม่น้อยโดยเฉพาะฟาร์มขนาดเล็ก ซ้ำร้ายลูกเห็บตกในหลายพื้นที่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดเสียหาย ที่ออกน้อยอยู่แล้วช่วงฤดูร้อนยิ่งน้อยลงไปอีก เช่น ทุเรียนราคาปีนี้ขยับขึ้นไปถึง 200-230 บาทต่อกิโลกรัม ลูกเล็กๆ ก็กลายเป็นของมีราคา แม่ค้าถึงกลับย้ำว่า “ปีนี้มีทุเรียนกินก็ดีแล้ว” ส่วนมะนาวใหญ่หน่อยลูกละ 8-10 บาท ผู้บริโภคมีทั้งที่เข้าใจและไม่เข้าใจสถานการณ์ราคาสินค้าที่จำเป็นต้องปรับสูงขึ้นตามอุปทาน (Supply) ที่ลดลง

ด้านกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ต้องออกโรงสร้างความเข้าใจกับสังคมทันที เรื่องราคาสินค้าที่ปรับขึ้นขณะนี้โดยเฉพาะสินค้าเกษตรนั้น เป็นการปรับขึ้นตามกลไกตลาดเนื่องจากปีนี้อากาศร้อนจัด ผลผลิตน้อยลงและยังเสียหายในช่วงขนส่ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและเกิดขึ้นระยะสั้นตามฤดูกาล หลังจากหมดหน้าร้อนราคาก็จะกลับมาสมดุลได้

ข้อมูลของกรมการค้าภายในยังระบุว่า ราคาผักบางชนิดเริ่มคลี่คลายแล้ว (ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2567) เช่น มะนาว ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ต้นหอม ผักชี ราคาลดลง แต่ผักบางชนิดสูงขึ้น เช่น คะน้า ส่วนไข่ไก่ราคาใกล้เคียงกับปีก่อน เช่น เบอร์ 3 เฉลี่ยฟอง 4.01 บาท (ราคาขายปลีก) เนื้อหมูกิโลกรัมละ 132 บาท ลดจากปีก่อนที่สูงกว่า 140 บาทต่อกิโลกรัม น้ำมันพืชขวด 45 บาท ถูกลงจากปีก่อน 1 บาท เนื้อไก่ ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยกระทรวงฯ วางมาตรการช่วยเหลือ หาสินค้าทดแทน ดูแลราคา รวมทั้งเพิ่มจุดจำหน่ายสินค้า-อาหารราคาพิเศษให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ที่สำคัญการปรับราคาช่วงนี้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต

สำหรับผู้บริโภค เจอปัญหาราคาสินค้าปรับสูงขึ้นช่วงฤดูร้อนทุกปีที่เห็นชัด คือ ผักชีราคา 150-200 บาทต่อกิโลกรัม มะนาวลูกละ 10 บาท เราก็เคยผ่านมาแล้ว พอเข้าฤดูฝนราคาลดลงเหลือลูกละ 1-2 บาท ทุกคนต่างทราบดีว่าเหล่านี้เป็นสถานการณ์ชั่วคราวและช่วงสั้นๆ ปรับขึ้นแล้วก็ปรับลงตามอุปสงค์-อุปทาน ไม่ใช่ปรับขึ้นตามอำเภอใจ อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ไข่ไก่และเนื้อหมู อากาศร้อนจัดเกิน 40 องศาเซลเซียสแบบนี้ ไก่ออกไข่ได้หรือหมูโตได้ตามปกติ ก็นับว่าเป็นโชคดีของคนเลี้ยงมากๆ นั่นหมายถึงไม่ต้องเจอปัญหาขาดทุนซ้ำซาก เพราะสัตว์กินอาหารแล้วไม่ให้ผลผลิตหรือไม่โต หรือต้องจับสัตว์ล่าช้ากว่ากำหนดนั้น เกษตรกรต้องแบกภาระขาดทุนทั้งหมดไว้เอง เพราะสัตว์ยังต้องกินอาหารต่อเนื่องและยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ไม่ต่างจากราคาเนื้อหมู ซึ่งหนึ่งปีที่ผ่านมา ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เนื่องจากหลังโรคระบาด ASF ผ่านพ้น ผู้เลี้ยงหมูต่างนำหมูเข้าเลี้ยงพร้อมกันหวังฟื้นฟูอาชีพ หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ผลผลิตจึงออกมาพร้อมกัน ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำที่สุดเหลือประมาณ 55-57 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งที่ต้นทุนการผลิต 80 บาทต่อกิโลกรัม ผู้บริโภคได้ประโยชน์เต็มที่ แต่ผู้เลี้ยงหมูขาดทุนต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี ที่สุดคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) เริ่มโครงการตัดวงจรลูกสุกรขุนนำไปทำหมูหันจำนวน 450,000 ตัว ในระยะเวลา 90 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2567 เป็นผลให้ขณะนี้ราคาสุกรขุนให้ปรับสูงขึ้นใกล้เคียงต้นทุน เกือบทุกครั้งที่หลังฤดูร้อนราคาไข่ไก่และเนื้อหมูลดลง และอาจลดลงมากกว่าปกติ ถึงเวลานั้นควรมีเสียงจากผู้บริโภคว่า “หมู-ไข่ถูกเกินไปแล้ว”

การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างสมบูรณ์จะเป็นตัวถ่วงดุลราคาสินค้า สร้างความเป็นธรรมให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค (Win-Win) ส่งเสริมให้การการผลิตมีเสถียรภาพ สินค้าไม่ขาดแคลน มีเพียงพอต่อการบริโภคในราคาสมเหตุผล ต่างจากการกดราคาให้ต่ำตลอดเวลาจนผู้ผลิตอยู่ในสถานะขาดทุน จะทำให้การผลิตหยุดชะงักและสินค้าหายไปจากตลาดได้ มีการเก็งกำไร ราคาสินค้าสูงกว่าปกติ กลไลตลาดถูกบิดเบือน อาจทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงกว่าปกติหลายเท่าได้

แทนขวัญ มั่นธรรมะ นักวิชาการอิสระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น