logo

“พัชรวาท” เปิดประชุมวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทช. จัดใหญ่เชิญ 40 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม

กดติดตาม TOP NEWS

“พัชรวาท” เปิดประชุมวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทช. จัดใหญ่เชิญ 40 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ภายใต้หัวข้อ “การเร่งจัดการกับความท้าทายโดยใช้ แนวทางวิทยาศาสตร์มหาสมุทร เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

TOP News รายงานข่าว เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ 2nd UN Ocean Decade Regional Conference & 11th WESTPAC International Marine Science Conference ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2567 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในนามของรัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพรวมจัดการประชุมนานาชาติในครั้งนี้ นับเป็นการแสดงบทบาทสำคัญของประเทศไทย ในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ในแง่ของการเป็นผู้นำด้านการดำเนินการไปสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประกอบด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายเวินซี ชู หัวหน้าสำนักงานคณะอนุกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC/WESTPAC) รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ดร.มิชิดะ ยูทากะ ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ (IOC) นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ศธ.) คุณซูฮยอน คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค สำนักงานกรุงเทพฯ และดร.เคนทาโร่ อันโดะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC/WESTPAC) ตลอดจนคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ในสังกัด ทส. และ ทช. ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมฯ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และคณะสื่อมวลชน สำหรับการประชุมนานาชาติครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามร่วมกันเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต โดยหัวข้อหลักของการประชุมปีนี้ คือ “การเร่งจัดการกับความท้าทายโดยใช้ แนวทางวิทยาศาสตร์มหาสมุทร เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Accelerating Ocean Science Solutions for Sustainable Development) ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็น ในการทำงานร่วมกัน โดยการอาศัยความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อแก้ไขความท้าทายต่างๆ ที่มหาสมุทรของเรากำลังเผชิญอยู่ พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการสนับสนุนผลงานวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และจัดเตรียมสถานที่รองรับผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วประเทศ

สำหรับการประชุมหารือร่วมกันครั้งนี้ นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของมหาสมุทร เพราะเป็นโอกาสอันทรงคุณค่าที่ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้นำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิจัย นวัตกรรม แบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงแสวงหาความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เห็นเป็นรูปธรรมสะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางและผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและมหาสมุทรในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อใช้ประโยชน์จากทะเลและมหาสมุทรของคนในยุคปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป “พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวในที่สุด”

นายจตุพร กล่าวเสริมว่า ภายหลังจากที่รับรายงานว่าประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการนานาชาติฯ ตนได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีให้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้ ทช. รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานเป็นระยะๆ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอย่างมาก และยังเป็นที่ตั้งสำนักงานประสานงานทศวรรษแห่งมหาสมุทร (Decade Coordination Office: DCO) ในแถบภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก เสมือนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพและบทบาทสำคัญในการทำงานในช่วงทศวรรษแห่งมหาสมุทร รวมถึงการขยายโอกาสในการทำงานด้านอื่นๆ ในฐานะประเทศผู้นำ โดยได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน สถาบันการศึกษา รวมถึงการสนับสนุนจากภาคเอกชน ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่มีฐานจากองค์ความรู้นอกจากการประชุมวิชาการฯ
โดย ทส. พร้อมสานต่อการดำเนินงานทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
(พ.ศ.2564–2573) ให้เห็นเป็นรูปธรรมและสะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางและผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและมหาสมุทรในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกอีกด้วย

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ตนในนามของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมวิชาการนานาชาติฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคล
ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้สานต่อเจตนารมณ์การดำเนินงานภายใต้ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยร่วมกัน อย่างไรก็ดี การประชุมวิชาการนานาชาติฯ ในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการเดินทางไปสู่เป้าหมายในการใช้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการประชุมฯ 4 วัน จะมีกิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งไทยและต่างประเทศ การนำเสนอผลงานที่แยกออกเป็น 25 หัวข้อ และ 1 Special Forum โดยมีผู้สนใจส่งผลงานทั้งภาคบรรยายและโปสเตอร์รวม 831 เรื่อง จาก 32 ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ 13 เรื่องและการเสวนา 12 เรื่อง อีกทั้งมีการออกบูธนิทรรศการของภาคเอกชน เพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทะเลและมหาสมุทร อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมใช้แนวทางและองค์ความรู้อันทรงพลังทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อร่วมกันเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จในการมีมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ ยืดหยุ่น และส่งต่อมรดกอันล้ำค่านี้ให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

นายพิเชฐ กล่าวแสดงความยินดีแก่เจ้าภาพผู้จัดการประชุมฯ ว่า ตนมีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติฯ ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ตามกรอบการดำเนินงานของสำนักงานคณะอนุกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC/WESTPAC) เป็นอย่างดีเสมอมา รวมทั้งสนับสนุนพื้นที่ในการจัดตั้งสำนักงานประสานงานทศวรรษแห่งมหาสมุทร และมีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมภายใต้ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติในอนาคตอันใกล้ ในส่วนของการสร้างขีดความสามารถด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กับกลุ่มเยาวชน กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาและสร้างความตระหนักให้กับนักเรียน โดยมีโครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล มากกว่า 1,500 โรงเรียน ให้ความสนใจเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว
นายปิ่นสักก์ ในนามประธานคณะกรรมการจัดการประชุม กล่าวปิดท้ายโดยแสดงความขอขอบคุณพันธมิตรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่สนับสนุนงบประมาณและร่วมมือร่วมใจในการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ ให้สำเร็จลุล่วงได้ตามวัตถุประสงค์อีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น