ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ที่เมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส นัดฟังคำตัดสินคดีที่กลุ่มสตรีชาวสวิส ราว 2,500 คน อายุเฉลี่ย 73 ปี รวมตัวกันในชื่อสมาคม “ผู้สูงวัยเพื่อปกป้องสภาพอากาศ” ยื่นฟ้องรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เมื่อ 9 ปีที่แล้ว เพื่อเรียกร้องการปกป้องสุขภาพจากสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือ ไคลเมท เช้นจ์ โดยยกเหตุผลว่า พวกเธอไม่สามารถออกจากบ้านได้ และเสี่ยงหัวใจวาย ระหว่างเผชิญคลื่นความร้อนในสวิตเซอร์แลนด์ ที่เป็นผลจากไคลเมท เช้นจ์ บั่นทอนสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในวัยอย่างพวกเธอ
ซึ่งในที่สุด ศาลมีคำตัดสิน เมื่อวันที่ 9 เมษายนว่า ความพยายามของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนนั้น ยังไม่มากเพียงพอ ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ฟ้อง ตามมาตรา 8 แห่งอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่รับรองสิทธิในการเคารพชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัว
อย่างไรก็ดี ศาลยกฟ้องอีก 2 คดีที่ยื่นโดยคนรุ่นใหม่โปรตุเกส 6 คน กับที่ยื่นโดยอดีตนายกเทศมนตรีฝรั่งเศส ที่กล่าวหารัฐบาลของตน ล้มเหลวรับมือกับสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง เท่ากับละเมิดสิทธิ์
นับเป็นครั้งแรกที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ตัดสินคดีเกี่ยวกับการไม่ลงมือแก้วิกฤติโลกร้อน และให้ผู้ฟ้องเป็นฝ่ายชนะ คำพิพากษาจากศาลแห่งนี้ ไม่ให้สิทธิอุทธรณ์ มีผลผูกมัดทางกฎหมาย และจะส่งอิทธิพลไปถึงกฎหมายใน 46 ประเทศทั่วยุโรปด้วย
คอร์เดเลีย บาห์ ทนายของสมาคมฯ กล่าวว่า ศาลชี้แล้วว่า การปกป้องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นสิทธิมนุษยชน ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับคนทุกรุ่น และจะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายให้กับทุกประเทศในสภายุโรป ขณะที่ เกรตา ทุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อน ที่เดินทางไปฟังคำพิพากษาและร่วมแสดงความยินดี กล่าวว่า นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการฟ้องร้องในคดีแบบเดียวกันทั่วโลก เวลานี้มีประชาชนในหลายประเทศกำลังฟ้องเอาผิดรัฐบาล
คำพิพากษาจากศาลนานาชาติสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากจะบังคับสวิตเซอร์แลนด์ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็วกว่าเดิม เพราะถือเป็นตัวการใหญ่ของภาวะโลกร้อนแล้ว เวสเซลีนา นิวแมน จากองค์กรนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ไคลเอินท์เอิร์ธ กล่าวว่า ยังเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า รัฐบาลทุกประเทศจะต้องลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะถือเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมือง