คุณผู้ชมครับ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเมืองที่มีชุมชนหนาแน่น มีการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ต่อเนื่อง แต่ทำเลที่ตั้งที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำ จึงเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม และด้วยการวางแผนป้องกันอย่างรัดกุม ทำให้จังหวัดสมุทรปราการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่มากนัก และเครื่องมือที่สำคัญในการป้องกันน้ำท่วมนั่นก็คือประตูระบายน้ำนั่นเองครับ
ต้องบอกว่า จังหวัดสมุทรปราการ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำ เป็นพื้นที่สุดท้ายที่รับมวลน้ำจากภาคกลาง ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย ที่ผ่านมา อบจ.สมุทรปราการ มีมาตรการป้องกันน้ำท่วมทั้งแบบเร่งด่วนและแก้ปัญหาแบบระยะยาว การแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนก็มีทั้งการช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม การติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านให้ได้มากที่สุด
และที่ผมกำลังจะเจาะลึกลงไปในรายละเอียดคือการแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาวที่อบจ. สมุทรปราการสามารถทำได้ อย่างเป็นรูปธรรมและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด คือสานต่อการก่อสร้างประตูระบายน้ำทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองปากน้ำ ประตูระบายน้ำคลองมหาวงษ์ และประตูระบายน้ำคลองบางนางเกรง
รายงานพิเศษตอนนี้ เป็นตอนแรกที่จะพาคุณผู้ชมไปดูประสิทธิภาพของประตูระบายน้ำคลองปากน้ำกันครับ
ประตูระบายน้ำคลองปากน้ำ ตั้งอยู่ตรงบริเวณปากคลองปากน้ำ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในปัจจุบัน ประตูระบายน้ำ คลองปากน้ำ มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เพราะทำหน้าที่เป็นปราการป้องกันน้ำท่วมมาเป็นระยะเวลา นานแล้ว แม้ว่าเทศบาลนครสมุทรปราการจะทำการ ซ่อมแซมแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กระทั่งเมื่อปี 2561 อบจ.สมุทรปราการ ได้ตั้งงบประมาณ เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ประตูระบายน้ำคลองปากน้ำ พร้อมสถานีสูบน้ำให้ได้มาตรฐาน สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการป้องกันบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในภาพรวมของจังหวัดสมุทรปราการ
และนี่คือตอนแรก คุณผู้ชมพอจะเห็นภาพรวมแล้วนะครับ ว่าประตูระบายน้ำ มีความสำคัญมากเพียงใดในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ในตอนหน้าจะพาไปชมและทำความรู้จักกับประสิทธิภาพของประตูน้ำอีก 2 แห่งกัน ติดตามได้ในตอนต่อไป