เร่งตรวจสอบการทำงานภาครัฐเกี่ยวข้อง “หมูเถื่อน”

กดติดตาม TOP NEWS

“หมูเถื่อน” อยู่กับผู้เลี้ยงหมูไทยมานานกว่า 1 ปี ทำความเสียหายให้กับเกษตรกรและเศรษฐกิจประเทศมหาศาล หากเปรียบเทียบเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงฟาร์มในการสร้างเกราะป้องกันโรคระบาดสัตว์ รวมถึงการขยายฟาร์มช่วงปี 2564-2565 ประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท กับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มขณะนี้ 60-66 บาทต่อกิโลกรัม หรือขาดทุนเฉลี่ยตัวละ 3,000 บาท ความเสียหายของผู้เลี้ยงจะสูงถึง 100,000 ล้านบาท นี่คือตัวเลขที่รวบรวมมาของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะชนช่วงที่ผ่านมา

 

จากตัวเลขความเสียหายดังกล่าว กับความจริงที่ว่า “ชิ้นส่วนสุกรเป็นสินค้าห้ามนำเข้า” ทำให้ต้องมองไปที่ต้นทาง ว่า หาก “หมูเถื่อน” เข้าประเทศไม่ได้ ความเสียหายไม่เกิดแน่นอน วันนี้จึงต้องตั้งคำถามกับหน่วยงานของภาครัฐที่รับผิดชอบควบคุมการนำเข้าสินค้ามาในราชอาณาจักร ว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและตรวจสอบเคร่งครัดเพียงใด หรือหย่อนยานบกพร่องในหน้าที่ “หมูเถื่อน” จึงเข้ามากระจายเต็มบ้านเมือง สร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประเมินไว้…ในส่วนนี้ กรมศุลกากรได้รายงานว่าช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 กรมฯ มีการจับกุมหมูเถื่อน (นอกท่าเรือแหลมฉบังทั้งสิ้น) จำนวน 115 ตัน เท่านั้น

 

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2565 หมูเถื่อนทะลักเข้าประเทศไทยจำนวนมาก ดัมพ์ราคาขายต่ำสุดๆ ฉวยโอกาสทำกำไรในช่วงที่หมูไทยไม่เพียงพอกับความต้องการและราคาสูงเป็นประวัติการณ์ แย่งตลาดหมูไทยจนผู้เลี้ยง หมูเถื่อนที่เล็ดลอดเข้าสู่ตลาดก็ยากที่จะแยกได้ว่าชิ้นใดเป็นหมูไทย ชิ้นใดเป็นหมูเถื่อน ผู้บริโภคเองก็เน้นเรื่องราคาเป็นหลัก ขณะที่เขียงหมูก็รับข้อเสนอจากโบรกเกอร์ที่เสนอสินค้าต้นทุนต่ำ แต่ทำกำไรสูง เข้าข่ายเกร็งกำไรเอาเปรียบผู้บริโภค …การตรวจตลาดและสำรวจราคาสินค้า จริงอยู่สินค้าราคาถูกเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่กรมการค้าภายใน ต้องยึดหลักการสำคัญในการรักษาสมดุลอุปสงค์-อุปทาน และราคาให้เป็นธรรมให้กับผู้ผลิต สินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการ การตรวจสต๊อกสินค้าไม่ให้เกิดการกักตุน หรือเป็นแหล่งซุกซ่อนสินค้าผิดกฎหมาย กรมฯจำเป็นต้องเคร่งครัดด้วย

 

ด้านกรมปศุสัตว์ คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันสำหรับความรับผิดชอบเรื่องการป้องกันโรคระบาดสัตว์ เนื่องจากหมูเถื่อนเหล่านี้จะเป็นพาหะสำคัญในนำโรคต่างๆ เข้ามา เช่น  ASF กลับแพร่ระบาดซ้ำในประเทศไทยได้อีก ซึ่งเป็นปัจจัยทำลายความมั่นคงทางอาหารและอาหารปลอดภัยของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่ง กรมฯ มี พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 ที่มีอำนาจเต็มในการตรวจสอบ ตรวจค้นและจับกุม การนำเข้าและเคลื่อนย้ายซากสัตว์โดยไม่รับอนุญาต ตามมาตรฐานการป้องกันโรคระบาด เพื่อคุ้มครองประชากรสัตว์ในประเทศ

 

การจับกุม “หมูเถื่อน” เข้มข้นมากขึ้นหลังเดือนสิงหาคม 2565 โดยมีรายงานการจับกุมตั้งแต่มกราคม 2565 – มีนาคม 2566 รวม 1,589 ต้น และมีการทำลายของกลางไปเมื่อเดือนมกราคม 2566 มากกว่า 700,000 กิโลกรัม และในเดือนกรกฎาคม 2566 ยังพบตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ ภายในเป็นหมูเถื่อนน้ำหนักรวม 4,500 ตัน (4.5 ล้านกิโลกรัม) นับเป็นล็อตใหญ่ที่สุด หลังกรมศุลกากร มอบเอกสารให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการสอบสวนต่อ จนพบหลักฐานสำคัญรายชื่อผู้กระทำผิดทั้งบริษัทนำเข้า สายเรือ และประเทศต้นทางนำเข้าสินค้า และยังมีแนวทางในการดำเนินคดีนี้ตามความผิดทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยหารือร่วมกับสำนักงานปัองกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษสูงสุดและถูกยึดทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม

 

1 ปีที่ผ่านมา หมูเถื่อนยังปราบไม่หมด และยังคงทำลายกลไกตลาด ฉุดราคาหมูไทยให้ตกต่ำ ราคาเนื้อหมูถูกบิดเบือนไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ยในปัจจุบัน 60-66 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาก่อนเกิดโรคระบาด ASF เทียบกับต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของเกษตรกรขณะนี้ คือ 80-85 บาทต่อกิโลกรัม เห็นชัดว่าเกษตรกรต้องแบกภาระขาดทุนยาวนาน วันนี้หมูเถื่อนยังมีอยู่จริงจำเป็นต้องกวาดล้าง หาไม่เกษตรกรคงถอดใจ “แขวนนวม” เลิกอาชีพ จะเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ทั้งทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยทางอาหารของคนไทย คงได้แต่หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเด็ดขาดตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าปราบปรามให้หมดสิ้นเร็วที่สุด.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น