วันนี้ (6 ต.ค. ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้เปิดเผย ถึงการควบคุมเยาวชนวัย 14 ปีที่ก่อเหตุยิงในห้องดัง หลังจากศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งให้ส่งตัวมาที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนว่า ขั้นตอนหลังรับตัวเด็กจะมีนักจิตวิทยา จิตแพทย์ พ่อบ้านแรกรับหรือพ่อบ้านแห่งบ้านเมตตาพูดคุยสอบถาม และประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น โดยได้รับรายงานว่า เด็กไม่ค่อยพูดจา ซึ่งสาเหตุอาจเพราะเพิ่งเข้ามาภายในสถานพินิจฯ ยังไม่คุ้นชิน และไม่ค่อยอยากรับประทานอาหาร รวมถึงมีอาการวิตกกังวลบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนรู้ว่าจะต้องถูกแยก แต่ไม่มีอาการร้องไห้ฟูมฟายหรือซึมเศร้าผิดปกติ อีกทั้งไม่ได้รับแจ้งว่าเด็กเรียกร้องจะกลับบ้าน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับตัว
“บ้านเมตตา ”อัปเดตอาการล่าสุด "เด็ก 14" หลังเข้านอนคืนแรก พร้อมประเมินสุขภาพจิตต่อเนื่อง
ข่าวที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ เด็กจะต้องกักโรคตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ก่อน 5 วัน พร้อมประสานแพทย์เฉพาะทางของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ร่วมประเมินสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง หากแพทย์มีความเห็นว่าเด็กจะต้องเข้ารับการรักษา ก็จะทำรายงานพร้อมแนบความเห็นแพทย์เสนอต่อศาลเยาวชนฯ ให้ศาลรับทราบว่าจะมีการส่งต่อเด็กไปนอนพักรักษาตัวที่สถาบันกัลยาณ์ฯ แทน ซึ่งเป็นหลักการปกติที่มีเด็กเกิดอาการจิตเวชร่วมด้วยก็จะได้รับการส่งต่อดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง โดยระหว่างรอการพิจารณาคดีของศาล เด็กจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ ในบ้านเมตตา ได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อละลายพฤติกรรมและได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย นอกจากนี้ ระหว่างการควบคุมตัวเด็กที่บ้านเมตตา เจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ จะลงพื้นที่สืบเสาะแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กทั้งประวัติส่วนตัว การศึกษา การใช้ชีวิต กิจกรรมที่ชอบทำ ความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว และนำข้อมูลที่ได้จัดทำรายงานเสนอต่อศาลเยาวชนฯ เพื่อใช้พิจารณาประกอบ เช่น การขอปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีคำสั่งให้คุมประพฤติ หรือใช้วิธีการอื่นแทน อย่างไรก็ตาม วานนี้ (4 ต.ค.66) พ่อของเด็กได้เดินทางมาส่งด้วย เนื่องจากมีความเป็นห่วงลูก ซึ่งเจ้าหน้าที่รายงานว่าพ่อของเด็กค่อนข้างรู้สึกเสียใจ ส่วนเรื่องอาการทางจิตหรือการฝากฝังดูแล เจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ ได้ทำความเข้าใจกับพ่อในเรื่องกระบวนการในการดูแล และการออกรายงานของกรมพินิจฯ เพื่อส่งเสริมการบำบัดให้เด็กได้พัฒนาตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองและไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ส่วนประเด็นที่ ผู้ปกครองจะขอนำตัวเด็กไปรักษาโรงพยาบาลภายนอกได้หรือไม่นั้น ผู้ปกครองจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนฯ และศาลจะพิจารณามีคำสั่งแจ้งกลับว่าจะอนุญาตหรือไม่ อย่างไร ในส่วนของสถานพินิจฯ รับหน้าที่เป็นสถานที่สำหรับเด็กที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของผู้ปกครอง ศาลจะมีเอกสารแจ้งมายังสถานพินิจฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลต่อไป และผู้ปกครองจะต้องเดินทางมายังสถานพินิจฯ เพื่อเซ็นเอกสารรับตัวเด็ก และขั้นตอน หรือกระบวนการใดๆ ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นกับเด็กหลังจากนี้ ศาลเยาวชนฯ จะต้องรับทราบทุกเรื่อง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-