No data was found

คกก.แก้ปัญหาประมงฯ เดินหน้าพลิกฟื้นความยิ่งใหญ่อุตฯประมงไทย

กดติดตาม TOP NEWS

คกก.แก้ปัญหาประมงฯ เดินหน้าพลิกฟื้นความยิ่งใหญ่อุตฯประมงไทย

ติดตามการแก้ไขปัญหาด้านการประมง หลังรัฐบาลมีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และกลับมาเป็นจ้าวสมุทร(ภายใต้กรอบ IUU) และเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลกอีกครั้ง ด้วยการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้ให้เหมาะสม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างยั่งยืน พร้อมเดินเครื่องเต็มสูบภายใน 3-6 เดือน เร่งแก้กฎหมายย่อย เยียวยาเรือประมง เจรจาแนวทางการทำประมงนอกน่านน้ำกับต่างประเทศ

ทีมข่าว TOPNEWS ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์พิเศษ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญการประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งใน คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง จากกรรมการทั้งหมด 22 ราย ที่สะพานปลาสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

 

 

ทิศทางอุตสาหกรรมประมงไทย

นายวิชาญ เปิดเผยว่า ขอบคุณรัฐบาลมีความตั้งใจและสนใจในการแก้ไขปัญหาประมง และปัญหาของพี่น้องชาวประมง ที่มีมาตลอด 8 ปีเศษ ที่มี IUU โดยการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลฯ ซึ่งมีการประชุมนัดแรก เมื่อวันวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ นั้น ทำให้เห็นทิศทางของอุตสาหกรรมประมงไทย โดยรัฐบาลพยายาม ปักธงว่า จะทำอย่างไรให้ปัญหาประมงได้รับการแก้ไข มีเป้าหมายในการทำงาน 6 ข้อ

1. ไม่ใช่การทะเลาะหรือขัดแย้งกับ EU ซึ่งเป็นคู่ค้า โดยจะดูว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร

2. ระยะยาวมุ่งการฟื้นฟูทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน จากปัญหาทรัพยากรที่ลดลงเรื่อย ๆ จะเห็นว่า ปี 57 ก่อนที่ EU จะเข้ามา มีการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย 1.5 ล้านตัน และล่าสุดปี 65 ลดลงมาอยู่ที่ 1.2 ล้านตัน

 

 

 

3. ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของไทยและต่างประเทศ โดยตั้งแต่ปี 58 ที่ไทยได้รับใบเหลือง จาก EU มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นผู้นำเข้าสุทธิ สะท้อนว่าความมั่นคงทางอาหารลดลง

4. ลดผลกระทบที่สร้างความเสียหายของอุตสาหกรรมประมงและชาวประมงไทย จากสาเหตุที่จับปลาได้ลดลงทั้งในและนอกน่านน้ำ ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กที่ต้องปิดตัว เมื่อเจอปัญหาไม่มีวัตถุดิบ

5. รักษาขนบธรรมเนียมการประมงพื้นบ้าน ที่มีรายได้น้อย เมื่อเทียบกับประมงพาณิชย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า

6. นำคืนประเทศไทยสู่การเป็นจ้าวสมุทรตามเดิม ฟื้นฟูอุตสาหกรรมทั้งการประมง การแปรรูป กลับมาเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียและของโลก ไทยเคยเป็นที่ 1 ในเรื่องส่งออกอาหารทะเล และเคยเป็นที่ 7 ของโลกเรื่องการประมง โดยมีกรอบอนุสัญญาต่างๆ และกติการะหว่างประเทศ อาทิ IUU , กฎหมายทางทะเล ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

 

ทั้งนี้ ในการประชุมฯ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.66 มีการตั้งคณะอนุกรรมการ ขึ้นมา 6 คณะ ประกอบด้วย
– คณะอนุกรรมการที่ 1 ดำเนินการ เรื่อง ปรับแก้พระราชกำหนดการประมง โดยดำเนินการควบคู่กับ รัฐสภา และสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมาธิการ และคณะรัฐมนตรี
– คณะอนุกรรมการที่ 2 ดำเนินการ เรื่อง ปรับแก้กฎระเบียบของทางราชการที่กระทบ กับการพัฒนาการประมงไทย ซึ่งกรมประมงและสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ ต้องเร่งให้เร็วขึ้นกว่าการแก้พระราชกำหนดการประมง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ต้องใช้เวลา
– คณะอนุกรรมการที่ 3 ดำเนินการเจรจากับต่างประเทศ โดยศึกษาประมวลกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการของต่างประเทศที่กระทบ โดยเฉพาะมาตรการ IUU Fishing ของ FAO ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาของประเทศอื่น และจัดตั้งทีมการเจรจาต่างประเทศ เพื่อฟื้นประมงนอกน่านน้ำ
– คณะอนุกรรมการที่ 4 จัดระเบียบการประมงทะเลและการฟื้นฟูทะเลและอุตสาหกรรม ต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการอนุรักษ์และควบคุมบริหาร มาตรการฟื้นฟู และมาตรการแบ่งปันการทำประมงระหว่าง ประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์
– คณะอนุกรรมการที่ 5 ช่วยเหลือ ชดเชยความเสียหาย และการซื้อเรือและการซ่อมเรือ ของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา
– คณะอนุกรรมการที่ 6 ดำเนินการศึกษาและพัฒนาระบบให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ One Stop Service ในการอนุญาตต่าง ๆ ในธุรกิจการประมง

 

 

นายวิชาญ ระบุว่า คณะอนุกรรมการ 2 คณะแรก เป็นคณะกฎหมาย โดยคณะที่หนึ่ง ดูแลกฎหมายหลัก ระดับพ.ร.บ.และพรก. จะทำอย่างไรกับกฎหมายที่มีข้อบังคับที่ไม่เป็นธรรรม หรือโทษที่รุนแรงให้เป็นธรรมมากขึ้น ส่วนคณะที่ 2 ดูแลกฎหมายระดับอนุบัญญัติ เช่น กฎหมายย่อยภายใต้กฎหมายประมง แรงงาน เรือ “โดยรวม ก็เห็นทิศทางว่า เราพยายามจะฟื้นฟูการประมงของไทย ไม่ได้มุ่งหวังจะกลับมารุ่งเรืองเหมือนสมัยก่อน IUU แต่เราจะรุ่งเรืองภายใต้กรอบ IUU ถือว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ที่มีโอกาสจะทำได้”

 

 

ทั้งนี้ EU ได้ออก”ใบเหลือง” ให้กับไทย เมื่อวันที่ 21 เม.ย.58 จากปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ( IUU ) ทำให้รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประมงอย่างต่อเนื่อง เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำประมง แรงงานประมง โดยได้ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง ประกาศว่าได้ ยกเลิกสถานะใบเหลืองของประเทศไทยแล้ว

ทั้งนี้ ในส่วนของเรือที่จอดอยู่ อาจมีการพิจารณาใหม่ว่า แทนที่จะมาขายให้ภาครัฐ แล้วไปตัดทิ้งเป็นเศษไม้ เศษเหล็ก อาจนำมาใช้ประโยชน์นอกน่านน้ำ สามารถนำไปทำประมงภายใต้กฎหมายรัฐชายฝั่งได้ หรือจมเป็นปะการัง ได้

ข่าวที่น่าสนใจ

ไทยเปลี่ยนจากผู้ส่งออกสินค้าประมง เป็นผู้นำเข้า หลังปฏิบัติตาม IUU

ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่ปฏิบัติตาม IUU อุตสาหกรรมประมงไทย ต้องผันตัวเองจากประเทศผู้ส่งออกสินค้าประมง กลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าประมง จริงหรือไม่ นายวิชาญ ระบุว่า เมื่อมาดูตัวเลขปริมาณการนำเข้าสินค้าประมงทุกชนิดจากต่างประเทศ พบว่า เมื่อปี 57 ที่ยังไม่ได้รับใบเหลือง ไทยเคยนำเข้า 1.62 ล้านตัน คิดเป็นเป็นมูลค่า 9.26 หมื่นล้านบาท ล่าสุดเมื่อปี 65 เพิ่มขึ้นมาที่ 2.17 ล้านตัน คิดเป็น 1.57 แสนล้านบาท สะท้อนให้เห็นชัดว่า เมื่อไทยได้ใบเหลือง จากสหภาพยุโรป ทำให้ผลการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำลดลง ไม่เพียงพอบริโภคภายใน ทำให้มีการนำเข้าเพิ่ม ขณะที่การส่งออก เมื่อปี 57 ส่งออกสินค้าประมงทุกชนิด 1.79 ล้านตัน เมื่อปี 65 ส่งออกลดลงเหลือ 1.59 ล้านตัน สิ่งเหล่านี้ฟ้องว่า อุตสาหกรรมประมง ได้รับผลกระทบจากการจับสัตว์น้ำได้น้อยลง เรือประมงนอกน่านน้ำหายไป มีการนำเข้ามากขึ้น ส่งออกลดลง มีโรงงานอุตสาหกรรมน้อยใหญ่ล้ม ผู้ประกอบการเดือดร้อน

 

 

นายวิชาญ ระบุว่า ปัจจุบัน ไทยมีกติกา ทั้งจากกรอบ IUU , กรอบระหว่างประเทศ หรือกรอบของประเทศรัฐชายฝั่ง ซึ่งหากทำตามกติกาเหล่านี้ได้ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากเรือได้

 

ชาวประมงชายฝั่ง ความเป็นอยู่ดีขึ้น หลังไทยเข้มงวดในการปฏิบัติตาม IUU

นายวิชาญ กล่าวถึงชาวประมงชายฝั่ง ว่าส่วนหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มเปราะบาง เขตภาคกลางและภาคตะวันออก เป็นประมงพื้นบ้าน ที่ทำแบบดั้งเดิมมานาน ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบด้านการอนุญาต ไม่ว่าเครื่องมือ หรือเรือ ทำอย่างไรจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น อาจจะดูแลเรื่องการตลาด เพราะได้เปรียบเรื่องราคาสัตว์น้ำ ถ้ามีตลาดรองรับ ท่าเรือให้ขึ้นปลาได้สะดวก ทำให้มีช่องทางการตลาดที่ดีขึ้น ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ส่วนประมงในภาคใต้ กลุ่มเรือขนาดเล็กก็เช่นกัน / สอง กลุ่มที่ได้รับการขยาย 3 อย่างในภายใต้กฎหมายประมงฉบับใหม่ คือ
– ให้ชาวประมงพื้นบ้าน ขยายเรือได้ใหญ่ขึ้นจาก 5 ตันกรอส เป็น 10 ตันกรอส และบางกรณีถึง 15 ตันกรอส
– ขยายเขต เดิมทำประมงภายในเขต 3 กิโลเมตร (กม.) วันนี้ออกไปเป็นประมาณ 5.8 กม.
– ขยายเครื่องมือ อวนที่เคยใช้ เช่น อวนลอย วันนี้สามารถขยายได้ถึง 20 กม. จากเดิม 1-2 กม.

 

 

โดยเมื่อปี 57 เรือประมงพื้นบ้าน จดทะเบียนประมณ 1.4 หมื่นลำ แต่กลางปี 66 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.8 หมื่นลำ จากปริมาณเรือที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำมากเกินควรในพื้นที่ชายฝั่ง ทำให้สัตว์น้ำลดลงจากการถูกดักจับด้วยประมงพื้นบ้าน รัฐบาลต้องคิดว่าทำอย่างไร อาทิ การจำกัดเรือประมงพื้นบ้าน หรือปรับการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำหรือไม่ ขณะที่ปัจจุบัน พบว่า มีปัญหาเรือประมงพาณิชย์แฝง ไปใช้สิทธิ์เรือประมงพื้นบ้านตามกฎหมาย ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องหารือ

 

 

ความหวังชาวประมง และอุตสาหกรรมประมงต่อ “รัฐบาลเศรษฐา”

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความหวังกับรัฐบาลชุดนี้ได้ ของชาวประมง และอุตสาหกรรมประมงของไทย นายวิชาญ กล่าวว่า คิดว่าเรามาถูกทาง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ พูดชัดเจน ว่าอะไรที่ทำได้ภายใน 3 เดือน 6 เดือน ให้เร่งดำเนินการ เช่น 3-6 เดือน เชื่อว่าจะแก้กฎหมายย่อยได้ / ใน 6 เดือนจะมีคำตอบสำหรับเรือประมงที่รอการเยียวยา การขายคืนจากรัฐ ประมาณ 1,700-1,800 ลำ / รวมถึงเจรจากับต่างประเทศ เกี่ยวกับแนวทางการทำประมงนอกน่านน้ำ ภายใน 6 เดือน

นายวิชาญ ระบุว่า สำหรับการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเลฯ ในครั้งต่อไป ยังไม่ได้กำหนด ตอนนี้ให้ตั้งอนุกรรมการก่อน ว่าจะมาจากส่วนไหน และให้ที่ประชุมรับรอง คาดว่าภายในเดือนต.ค. จะมีการประชุมอีกครั้ง

 

 

คณะกรรมการฯ เดินหน้าดูแลประมงทั้งระบบ

นายวิชาญ ระบุว่า อยากให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะดูแลประมงของประเทศทั้งระบบ ทำอย่างไรจะฟื้นฟูกลับมาให้อุดมสมบูรณ์ เรื่องกฎเกณฑ์จะทำให้สะดวกขึ้น เพื่อลดความกังวลของชาวประมง ขณะที่ด้านผู้บริโภค จะดูแลเรื่องคุณภาพอาหารทะเล รวมทั้งสินค้าที่นำเข้า

โดยส่วนตัว ด้านการผลิต คาดหวังจะเห็นไทยกลับมาติดอันดับ 1 ใน 10 จากเดิมที่ 1 ใน 7 ขณะที่การส่งออก จะกลับมาเป็น 1 ใน 5 ได้หรือไม่ จากเดิมที่เคยเป็นที่หนึ่ง อันนี้คือความท้าทายภายใต้กรอบ IUU

“ในฐานะชาวประมง ก็ต้องขอบคุณรัฐบาล เราเห็นทิศทางชัดเจนว่า รัฐบาลพยายามช่วยเหลือ ดูแล แก้ไขปัญหา ภายใต้กรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศ กรอบความยั่งยืนของทรัพยากร ภายใต้กรอบการดูแลทุกกลุ่ม ยกระดับฟื้นให้อุตสาหกรรมประมงไทย กลับมาสู่อันดับโลก”

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"อนุทิน" ย้ำชัดๆจุดยืนกัญชา "ภท."ยึดทุกคำนโยบายรัฐแถลงสภาฯ ลั่นถ้าถอยเป็นยาเสพติด กระทบแน่เม็ดลงทุนหมื่นล้าน
“สมศักดิ์” เคาะแล้ว ครอบครองยาบ้า 1 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ ผิดกฎหมาย
“พิพัฒน์” มอบโอวาทแรงงานไทย ก่อนทำงานไต้หวัน เน้นย้ำรับผิดชอบงาน ห่างไกลการพนัน-ยาเสพติด สร้างเชื่อมั่นนายจ้าง
"เสมา 1" ห่วงภาระผู้ปกครอง สั่งด่วนผ่อนผันแต่งชุดนักเรียน ช่วงเปิดเทอม
"อัษฏางค์" โต้ชุดใหญ่ "พิธา" จ้อสื่อเยอรมนี ด้อยค่าปท.ชูวีรกรรมเด็ก 3 นิ้ว
ถึงศาลรธน.แล้ว "40 สว." ยื่นสอบคุณสมบัติ "พิชิต" พ่วงวินิจฉัยความสิ้นสุดลงตำแหน่งนายกฯ
สืบนครบาล รวบ "แก้ว สวนหลวง" อดีตนางพยาบาล หลอกเหยื่อลงทุนซื้อ "โควต้าลอตเตอรี่" เสียหายกว่า 3 ล้านบาท
"หมอเหรียญฯ" ไม่หวั่นถูกโจ๋ 14 ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ปมเรียก "กุ๊ย" ขอต่อสู้ตามกระบวนการกม.
"พิชิต"นำผอ.สำนักพุทธฯ แถลงยันเชื่อมจิต ไม่มีจริงในพระไตรปิฏก ไร้อำนาจหยุดยั้งทีม "น้องไนซ์"
พล.ต.ท.ธนายุตม์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม อ.ก.ตร.กฎหมายครั้งที่ 5/2567

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น