21 ก.ย.2566 นายปิยณัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และนายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร สส.นนทบุรี พรรค ก.ก. แถลงถึงกรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้ง น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ โดยนายปิยรัฐกล่าวว่า ในฐานะคนที่อภิปรายถึงนโยบายในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่มีการใช้นิติสงครามเข้ามาดำเนินการกับนักการเมือง เราพบว่าปัญหานี้มันแฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ถูกเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เพื่อให้องค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกมาตรฐานทางจริยธรรมของตนเองขึ้นมา ซึ่งมีผลต่อ สส. และ สว. รวมถึงรัฐมนตรีอยู่ภายใต้จริยธรรมมาตรฐานนี้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า หาก สส. และ สว. หรือรัฐมนตรีมีปัญหาข้อพิพากษ์ในเรื่องของจริยธรรมนี้ ไม่ได้จบเพียงแค่ในองค์กรนั้นๆ ดำเนินเอาผิดทางจริยธรรม กลับให้อำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 235 ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระใช้วินิจฉัยดำเนินการเอาผิดกับนักการเมือง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามาก เรายังไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริงของนักการเมืองคนอื่นๆ ว่าผิดอย่างไร ปัญหาอยู่ที่การใช้มาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรอิสระกับนักการเมือง เราจะต้องตั้งคำถามกับองค์กรอิสระว่า เพราะความผิดของ น.ส.พรรณิการ์ เป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนจะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีรายละเอียดซับซ้อนกว่านั้นมาก นี่จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงจริงๆ แต่กลับเปิดโอกาสให้มีการใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง รวมถึงการใช้ให้เป็นเครื่องมือปราบนักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน เราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นหลักของนิติรัฐ
ข่าวที่น่าสนใจ
ด้านนายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า อยากเชิญชวนประชาชนช่วยกันพิจารณาถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ว่าพฤติกรรมอะไรที่ผ่านมาในอดีตสามารถนำมาย้อนดำเนินการในขณะที่เป็น สส. ได้หรือไม่ รวมถึงการกระทำที่เหตุการณ์ล่วงเลยในอดีต และพ้นสภาพ สส.ไปแล้ว ความผิดเหล่านั้นก็ยังตามติดอยู่ และมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ไม่ได้ใช้บังคับแค่กับนักการเมือง แต่กับองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เรากำลังจะวางบรรทัดฐานว่า การกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงพ้นจากตำแหน่งแล้ว ยังต้องรับโทษทางจริยธรรมนี้อยู่หรือไม่ ฝากคำถามนี้ถึงศาลฎีกา การที่วางบรรทัดฐานเหล่านี้แน่ใจแล้วหรือว่าถูกต้อง
เมื่อถามถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ออกมาระบุว่าพรรค ก.ก. แสดงความเห็นเรื่องนี้ช้า นายปิยรัฐกล่าวว่า การที่นายปิยบุตรแสดงความเห็นถือเป็นคุณูปการในการตั้งคำถามของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคได้มีการออกแถลงการณ์ไปแล้วในทางเพจเฟซบุ๊ก แต่วันนี้เราไม่ได้มาแถลงในนามพรรค เนื่องจากพรรคไม่ต้องการให้มองเป็นเรื่องของตัวบุคคล แต่อยากให้เป็นประเด็นในเรื่องที่สังคมตั้งคำถาม และเป็นหน้าที่ของสส. ทุกคนในการตั้งคำถาม เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาของทุกคน รวมถึงการวางมาตรฐานของรัฐธรรมนูญด้วย และวานนี้ได้มีการประชุมสภา และพรรค ก.ก. เองก็ได้มีการหารือในเรื่องนี้อยู่ จึงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
เมื่อถามว่า ได้มีการคุยกับน.ส.พรรณิการ์ หรือไม่ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ได้พูดคุย แต่คิดว่าพรรคคงมีการสอบถามพูดคุยกับ น.ส.พรรณิการ์ โดยปกติอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ในบทบาทของนิติบัญญัติ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร นายปิยรัฐกล่าวว่า ตามที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ได้นำเสนอให้มีการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราเสนอให้มีการกำหนดกฏเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เมื่อถามถึงความเห็นหากมองว่าการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ในลักษณะนี้มีความรุนแรงมากไป มีความเห็นว่าควรให้อำนาจใครในการตรวจสอบจริยธรรมของนักการเมือง นายปิยรัฐกล่าวว่า จริงๆ แล้วการทำผิดจริยธรรม ก็มีกฎหมายอื่นบังคับใช้อยู่ องค์กรต่างๆ ก็มีกลไกที่ใช้กับนักการเมือง เช่น กรณีของ สว. ที่มีการยกมือโหวตว่าใครขัดจริยธรรมกับองค์กรของตัวเองหรือไม่ แต่ทั้งนี้ศาลไม่ควรมาชี้ผิดชี้ถูก เพราะเรื่องจริยธรรมไม่ใช่สิ่งที่นักกฎหมายจะนำมาใช้วินิจฉัยหรือตัดสินได้ ดังนั้น ทุกองค์กรมีหน่วยงานที่จะมาชี้ผิดชี้ถูกเพื่อเป็นมาตรฐานของตัวเองอยู่แล้ว แต่ไม่ควรใช้กฎหมายเป็นมาตรวัดในเรื่องจริยธรรม
นายปิยรัฐกล่าวอีกว่า หากเกิดกรณีที่มีการวินิจฉัยว่าผิดวินัยร้ายแรงและความผิดนั้นไม่เป็นข้อเท็จจริง ผู้ถูกร้องก็สามารถไปร้องกับศาลปกครองได้ เพื่อให้วินิจฉัยการถูกไต่สวนว่าผิดกฎหมายหรือไม่
เมื่อถามว่า กรณีของ น.ส.พรรณิการ์ จะเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัว เพื่อส่งสัญญาณไปถึง สส.คนอื่นหรือไม่ นายปิยรัฐกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเคยเกิดขึ้นหลายกรณีแล้ว เช่น กรณีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ ก็เคยโดนแบบกรณีนี้เช่นกัน ฉะนั้นนี่คือปัญหา หากเรื่องนี้ศาลฎีกาเป็นผู้ตัดสินก็จะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไปหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น รูปแบบคำพิพากษาจะออกในลักษณะนี้ในนักการเมืองอีกหลายคน และจะไม่ถูกใช้แค่กับพรรค ก.ก. เท่านั้น เพราะกรณีนี้ไม่ใช่แค่เรื่องมาตรา 112 หรือจริยธรรมทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการทุจริตอีกหลายคดีที่อยู่ในศาล หากศาลตัดสินและพ้นโทษไปแล้ว ต่อให้กฎหมายฉบับเก่าระบุว่ามีสิทธิ์ลงการเมืองได้ ก็ยังสามารถย้อนกลับมาเอาโทษในสมัยนี้ได้ จะเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมา ดังนั้น นักการเมืองทุกคนจะต้องสำนึกให้ดีว่ากฎหมายอยู่ในมือใคร และพร้อมที่จะใช้กับใคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง