สธ.ชี้แนวโน้มโควิดระบาดหลายจังหวัดเริ่มคงที่ หลังผ่านหยุดยาวสงกรานต์ แต่จับตายอดติดเชื้อพุ่งสูงอีกระลอกตอนเปิดเทอม ย้ำกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุไปรับวัคซีนเข็มปกติ –เข็มกระตุ้น กำชับลูกหลานหากคนสูงวัยในครอบครัวติดเชื้อ ให้รีบส่งตัวไปรับยาต้านไวรัสที่รพ.ทันที ด้านหมอจุฬาฯเผยผลวิจัยของญี่ปุ่นพบสายพันธุ์ XBB.1.16 แพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดก่อนหน้า เหนือกว่า XBB.1 ประมาณ 1.46 เท่า และเหนือกว่า XBB.1.5 ประมาณ1.31 เท่า ห่วงไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
สธ.จับตายอดติดเชื้อโควิดพุ่งสูงอีกระลอก หมอจุฬาฯเปิดผลวิจัยญี่ปุ่นสายพันธุ์ XBB.1.16 แพร่เชื้อเร็ว
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องว่า จากการหารือกับทีมวิเคราะห์ของกรมควบคุมโรค พบสถานการณ์ระบาดหนักขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว ขณะนี้เป็นช่วงหลังสงกรานต์และมีช่วงวันหยุดยาวพิเศษอีก 1 ช่วง คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ไม่มาก เนื่องจากประชาชนระมัดระวังมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการที่มีประชาชนไปรับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นเพิ่มมากขึ้น คาดว่าวันหยุดยาวพิเศษนี้ การเดินทางไม่มากเท่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ และแนวโน้มการระบาดหลายจังหวัดเริ่มคงที่ แต่ช่วงที่คาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งที่ต้องติดตามดูคือ ช่วงเปิดภาคเรียน
นพ.ธเรศยังกล่าวย้ำถึงการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุว่า เป็นเรื่องที่กรมควบคุมโรคสื่อสารถึงประชาชนตลอดเวลาว่า กลุ่มที่เสี่ยงคือ ผู้สูงอายุ และหารือกับกรมการแพทย์ และสำนักงานปลัด สธ.ว่า กรณีผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและติดเชื้อ ขอให้ลูกหลานรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะรีบให้ยาต้านไวรัสทันที รวมทั้งให้ภูมิต้านทานสำเร็จรูป หรือ LAAB และใช้กลไกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่จะเข้าไปเร่งรัดการฉีดวัคซีน ซึ่งเรามีวัคซีนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุไปรับวัคซีนให้มากที่สุด
ด้านนพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพซบุ๊กถึงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน XBB.1.16 ว่า จากผลการศึกษาเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 โดยทีมงานจาก Sato Lab ของญี่ปุ่น เผยแพร่ในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ The Lancet Infectious Diseases เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมระบุสมรรถนะในการแพร่เชื้อ โดยวัดค่า Effective Reproductive Number (Re) เปรียบเทียบในประเทศต่างๆ พบสายพันธุ์ XBB.1.16 มีสมรรถนะแพร่เชื้อสูงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดมาก่อนหน้า เหนือกว่า XBB.1 ประมาณ 1.22-1.46 เท่า และเหนือกว่า XBB.1.5 ประมาณ 1.13-1.31 เท่า XBB.1.16 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันกรณีที่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อน พอกับ XBB.1 และ XBB.1.5 นอกจากนี้ XBB.1.16 ดื้อต่อยาแอนติบอดี้/ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่ใช้รักษา เช่นเดียวกับกับ XBB.1 และ XBB.1.5 ข้อมูลข้างต้นจึงอธิบายปรากฏการณ์ที่ไทยกำลังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จำนวนมาก สะท้อนความจำเป็นที่เราต้องใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง