No data was found

“หมอวรงค์ -สรส.-NT” บุกกสทช.จี้ยกเลิกเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียม

กดติดตาม TOP NEWS

"หมอวรงค์ -สรส.-NT" บุกกสทช. ยื่นหนังสือเรียกร้องยกเลิกประมูลสิทธิดาวเทียมให้เอกชน พร้อมขอให้หน่วยงานรัฐดูแลเอง หวั่นภัยความมั่นคง

สืบเนื่องจากการที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้เปิดยื่นขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมแห่งชาติในลักษณะชุด (Package) หลังจากสัญญาสัมปทานดาวเทียม ระยะเวลา 30 ปี ภายใต้ความรับผิดชอบของ บมจ.ไทยคม สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา

ต่อมาปรากฎมีผู้ยื่นขอรับอนุญาต จำนวน 3 ราย ได้แก่
1. บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด
2. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

 

 

โดย บริษัทที่สนใจยื่นรับเอกสารจำนวน 3 ราย ไม่ได้เดินทางมายื่นเอกสารการประมูล ได้แก่ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ,บริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล จำกัด ของกลุ่มทรูฯ และ บริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด บริษัทลูกของ บมจ. เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น

ขณะเดียวกัน กสทช. ได้กำหนดขั้นตอนต่างๆ การประมูลสัมปทาน ไว้ดังนี้
– ตรวจสอบคุณสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 – 5 มกราคม 2566
– ประกาศรายชื่อผู้ผ่านและมีสิทธิเข้าร่วมการประมูล โดยจะเสนอให้ที่ประชุม กสทช. รับรองผลในวันที่ 9 มกราคม 2566
– และหากมีผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลมากกว่า 1 ราย โดยไม่มีผู้ใดยื่นอุทธรณ์ สำนักงาน กสทช. จะทำการ Mock Auction ในวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 และทำการประมูลสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566

 

 

 

ล่าสุด วันนี้ 6 ม.ค.66 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมด้วย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (สร.ทช.) พรรคสังคมประชาธิปไตย และพรรคไทยภักดี ได้เดินทางมายื่นหนังสือ ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมอ่านแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาล และยกเลิกการประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียมและให้ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)หน่วยงานรัฐดำเนินการเอง โดยมีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) เป็นผู้รับหนังสือ

 

 

นพ.วรงค์ กล่าวว่า ในการดำเนินการเปิดประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียมโดยให้เอกชนเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ ต้องขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องกิจการอวกาศ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญของชาติ และดาวเทียมเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลหากรัฐบาลมีนโยบายและข้อกำหนด ให้ต้องดูแลสมบัติชาติ และรัฐเป็นผู้ดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญทุกอย่างก็จะจบ

 

 

แต่หากปล่อยให้กสทช. เป็นผู้ดำเนินการ มองว่า สุดท้ายรัฐบาลจะถูกตำนิจากประชาชน เพราะเป็นการปัดความรับผิดชอบ และหากยังปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเช่นเดียวกับ เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ที่พิสูจน์มาแล้วว่า การดำเนินกิจการดาวเทียมได้สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้รับสัมปทาน จากคนธรรมดาที่ต้องไปแลกเช็คกลายเป็นมหาเศรษฐี อีกทั้งในการนำวงโคจรดาวเทียมที่กสทช.นำออกมาประมูลครั้งนี้ ยังเป็นตำแหน่งที่ดีอันดับต้นๆ ของโลก และยังครอบคลุมไปยังเรื่องของความมั่นคง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การประมูลจึงไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะอาจจะนำมาซึ่งภัยความมั่นคง และการจารกรรมต่างๆ จึงมองว่า รัฐควรที่จะดำเนินการเอง

และยิ่งโลกปัจจุบันเป็นการสื่อสารผ่านดาวเทียม เป็น space war fair ที่สำคัญกิจการดาวเทียมเวลามีปัญหารัฐต้องรับผิดชอบ ต้องใช้เงินภาษีประชาชนรับผิดชอบ แต่เรื่องของในช่องสัญญาณ หรือ ทรานสปอนเดอร์ ต่างให้เอกชนมาดำเนินการเรายอมรับได้

 

 

 

โดยในการดำเนินการครั้งนี้ ตนเองจะขอพึ่งนายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้เข้าดูแลและดำเนินการไม่ให้สมบัติของชาติตกไปอยู่กับเอกชน แต่ตนจะไม่ให้ค่า รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวง DES เพราะได้เสนอครม.และมีมติให้ NT ไปประมูลแข่งขันเพื่อดำเนินกิจการดาวเทียมนั้น กระทรวง DES กำลังเล่นปาหี่หลอกประชาชนหรือไม่ ในเมื่อเป็นกิจการของรัฐ วงโคจรดาวเทียมเป็นสิทธิของรัฐ เป็นสมบัติของประชาชน

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ขณะที่ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ระบุว่า เมื่อ สัมปทานสิ้นสุดลงวงโคจรดาวเทียมจะต้องกลับมาเป็นของรัฐบาล ซึ่งมีหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ แต่การที่มติคครม.ออกมาให้ NT เข้าร่วมประมูลนั้นถือว่าเป็นการผิดหลักเกณฑ์ หลักการ และรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการประมูลของ NT จะต้องพิจารณาว่า NT มีความสามารถทางการเงินในการร่วมประมูลหรือไม่ และจะสู้เอกชนได้หรือไม่ ดังนั้น จึงมองว่า NT ในฐานะหน่วยงานของรัฐ จึงไม่ควรเข้าร่วมประมูล และภารกิจการบริหารวงโคจรดาวเทียมทั้งหมด ควรตกอยู่ที่ประเทศ โดยมี NT เป็นผู้ดำเนินการ

 

 

 

ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า หลังจากรับหนังสือแล้ว ตนจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบอร์ด กสทช. นัดพิเศษ ในวันจันทร์ที่ 9 ม.ค. 2566 นี้ เพื่อให้คณะกรรมการบอร์ดพิจารณาต่อไป

สำหรับแถลงการณ์ดังกล่าว มีเนื้อหา ดังนี้
ตามที่รัฐบาลได้มีความพยายามเร่งรีบผ่านคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อดำเนินการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมภายหลังการสิ้นสุดสัญญาของบริษัทเอกชน แทนที่จะส่งต่อให้หน่วยงานรัฐได้เข้ามาทำหน้าที่ดำเนินการให้บริการสาธารณะกับพี่น้องประชาชนได้เข้าถึงอย่างเป็นธรรม ในประเด็นนี้มีความเห็นว่า

1. กิจการดาวเทียมโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ โดยตลอดระยะเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมา กิจการดาวเทียมตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนเอกชนเพื่อนำไปหาผลประโยชน์ให้แก่บริษัทตนเอง ได้สร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้อย่างมหาศาล แต่ประโยชน์ที่ตกสู่ประเทศชาติและประชาชนคนไทยได้รับเพียงเล็กน้อยและประชาชนในชาติยังต้องแบกรับภาระค่าบริการที่แสนแพง เนื่องจากการแสวงหาผลกำไรนั้นอีก

2. การออกประกาศของ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๖ วรรคสอง “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้” ประกอบกับมาตรา ๖๐ วรรคหนึ่ง “รัฐจะต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็น สมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน”

3. หากเกิดปัญหาขึ้นในอวกาศระหว่างการอนุญาตให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียม รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

4. รัฐได้ควบรวมหน่วยงานของรัฐในกิจการสื่อสารโทรคมนาคม 2 แห่งคือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เข้าด้วยกันเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้กับประเทศและประชาชนได้ใช้บริการตามบทบาทที่รัฐพึงจัดให้บริการแก่ประชาชน รัฐจึงควรมอบให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้กิจการดาวเทียม เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มิใช่การทำธุรกิจบริการสื่อสาร ที่ต้องอยู่ภายใต้ตลาดแข่งขันเสรี การมอบหมายให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการจึงเป็นไปด้วยความชอบธรรม

 

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (สร.ทช.) พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย พรรคไทยภักดี และองค์กรผู้ร่วมอุดมการณ์ภาคประชาสังคม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของวงโคจรดาวเทียมอันเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ และยืนหยัดปกป้องสมบัติของชาติและประชาชนด้วยการทำหน้าที่ของรัฐให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในการ “ยกเลิกการประมูลการใช้สิทธิในกิจการดาวเทียมและเปิดโอกาสให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจไทยได้ดำเนินกิจการดาวเทียมเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ”

พร้อมกันนี้ทาง สรส. ได้นัดหมายกับ สรส.สาขา และศูนย์ประสาน สรส.ประจำจังหวัด รวมทั้งอนุกรรมการของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ยื่นหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีและเรียนประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พร้อมกันทั้งประเทศเพื่อแสดงเจตจำนงนี้ร่วมกัน

 

 

 

 

จากกรณีดังกล่าว ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โ พสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจ Suphanat Aphinyan ระบุตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันที่บริษัทเอกชนได้เตรียมดาวเทียมไทยคม 9 ไว้แล้ว
จากเว็บไซต์ nextspaceflight.com/launches/details/1984 พบการเผยแพร่ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการยิงดาวเทียมไทยคม 9 ขึ้นสู่วงโคจรภายใต้ชื่อ TCSTAR-1 โดยได้ระบุไว้คร่าวๆ ว่าจะมีการยิงขึ้นสู่วงโคจรในเดือนธันวาคม 2566

ทั้งนี้ เว็บไซต์ space.skyrocket.de/doc_sdat/tcstar-1.htm ได้ยืนยันข้อมูลอีกทางหนึ่งด้วยว่าดาวเทียมไทยคม 9 (TCSTAR-1) เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่จะมาแทนที่ดาวเทียมไทยคม 4 (IPSTAR-1) นั่นเอง

นี่หรือเปล่า? ที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนระบบสัมปทานดาวเทียมมาสู่ระบบใบอนุญาตสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ตลอดจนเป็นที่มาของความต้องการในการเร่งรัดให้การประมูลเกิดขึ้นโดยเร็ว ในวันที่ 15 มกราคม 2566 นี้

ระบบใบอนุญาตจะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนยิ่งไปกว่าเดิม เพราะทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวเทียม รวมถึงสิทธิในวงโคจรทั้งหมด จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเอกชนโดยเด็ดขาด

อีกทั้งยังเปิดโอกาสทางธุรกิจให้บริษัทเอกชนกินรวบผลประโยชน์มหาศาล ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนร่วมกันหรือเปิดโอกาสให้ต่างชาติเช่าใช้วงโคจรดาวเทียม การใช้คลื่นความถี่ย่านที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และอื่นๆ อีกมากมาย

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการประสานงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง (ศปร.)
ชุมชน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ จับมือ เครือซีพี ชูโมเดลโครงการ "ป่าปลอดเผา" สร้างชุมชนต้นแบบป้องกันไฟป่า ลดฝุ่น PM2.5 แนวเขตชายแดนไทย-พม่า
"อนุทิน" นำทีมมท.1 แถลงจับกุมเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ ยึดยาบ้ากว่า 4 ล้านเม็ด ผงรออัดเม็ดอีกเพียบ
ชื่นชม "ไทยสมายล์บัส" ประกาศช่วยลดค่าครองชีพ จัดเต็มต้อนรับเปิดเทอม "เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี" ขึ้นฟรี ตลอดปี
"บิ๊กแจ๊ส" ทิ้งเก้าอี้ "นายกอบจ.ปทุมธานี" เหตุอยู่ไปอาจสุ่มเสี่ยงไม่อยากยุ่งเลือกตั้ง "สว." ขอวางตัวเป็นกลางกฎหมายแรงมากโทษหนักถึงขั้นตัดสิทธิตลอดชีวิต
เปิดใจ พ่อพาลูกเล่นอิเล็กโทน เปิดหมวกประทังชีวิต ติดป้ายช่วยพวกเราด้วย "แม่ตาย ลุงโกง พ่อล้มละลาย"
ใครเอี่ยว "นอท" ระวัง! เปิดข้อมูลคดี "สนง.สลากฯ" ลุยฟ้องผิดอาญา-แพ่ง "ลอตเตอรี่พลัส" ทุกรูปแบบ
ฮ่องกง ทุบสถิติเมษาร้อนที่สุดในรอบ 140 ปี
ถนนพังถล่มในกวางตุ้งดับเพิ่มเป็น 48
จีนประสบความสำเร็จทดลองปลูกข้าวแบบเร่งรัดในทะเลทราย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น