สื่อทางการจีนรายงานว่า อดีตประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว และระบบอวัยวะล้มเหลวในวัย 96 ปี ณ เวลา 12.13 นาฬิกา ของวันที่ 30 พฤศจิกายน
โดย เจียง เจ๋อหมิน เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ปี 2532 -2545 ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้นำจีนเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการรับช่วงบริหารประเทศต่อจากอดีตผู้นำเหมา เจ๋อตุง ที่ใช้กำลังทหารกวาดล้าง การประท้วงของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 จนทำให้เกิดการนองเลือด และถูกวิพาษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประชาคมโลก
ภายใต้การนำของเขา จีนได้ก้าวเข้าสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยนำจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2544 ซึ่งเปิดประตูให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศ และการรับมอบฮ่องกงคืนมาจากการปกครองของอังกฤษในปี 2540 โดยเจียงให้คำมั่นว่า จะใช้การบริหารแบบ หนึ่งประเทศ สองระบบ ในฮ่องกง หลังจากได้รับการส่งมอบคืน ทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น
เจียง ปิดท้ายอาชีพทางการเมืองของเขา ด้วยการส่งมอบตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ให้แก่ หู จิ่นเทา ในปี 2545 ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ ตรงกันข้ามกับการเปลี่ยนผ่าน ที่เกิดความวุ่นวายในยุคก่อนๆ รัฐบุรุษผู้นี้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายในเดือนตุลาคม 2562 โดยเขายืนเคียงข้างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และบุคคลสำคัญคนอื่นๆ ในระหว่างขบวนพาเหรดครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับประวัติส่วนตัว เจียง เจ๋อหมิน เกิดวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2469 เป็นชาวเมืองหยางโจว มณฑลเจียงซู ส่วนบ้านเดิมของบรรพบุรุษ อยู่หมู่บ้านเจียง เขตจิงเต๋อ มณฑลอานฮุย ภาคตะวันออก เจียงเติบโตขึ้นมาในช่วงการยึดครองของญี่ปุ่น และพ่อเสียชีวิตในการต่อสู้กับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ลุงชื่อ เจียง ซางชิง ซึ่งไม่มีทายาท รับเจียง เจ๋อหมิน เป็นลูกบุญธรรม จากนั้นเขาได้เข้าเรียนวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ในเมืองหนานจิง ก่อนที่จะย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉียวตง ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง และจบปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าในปี 2490 เจียง เจ๋อหมินเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย และไปฝึกงานที่ สตาลิน ออโตโมบาย เวิร์คส์ ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2493 และกลับมาทำงานให้บริษัทรถยนต์ฉางชุน จากนั้นย้ายไปรับราชการ และเติบโตในพรรคคอมมิวนิสต์