No data was found

“นายกฯ” ย้ำ 3 ประเด็นหลักพัฒนา ดิจิทัลอาเซียน

กดติดตาม TOP NEWS

นายกฯ แสดงวิสัยทัศน์งาน ABIS 2022 ย้ำ 3 ประเด็นหลัก พัฒนา “ดิจิทัลอาเซียน” สร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคที่เข้มแข็ง เชื่อมโยง ครอบคลุมทุกมิติ

วันที่ 10 พฤศจิกายน เวลา 14.08 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน ค.ศ. 2022 (ASEAN Business and Investment Summit (ABIS) 2022) หัวข้อ “อาเซียนที่มีความพร้อมด้านดิจิทัล (Digital-Ready ASEAN)” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียนอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งหัวข้อ “อาเซียนที่มีความพร้อมด้านดิจิทัล” เป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยและอาเซียนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังโควิด – 19 ในภาคธุรกิจ เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลในทุกมิติ สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีเสนอ 3 ประเด็นหลักที่ควรให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลของอาเซียนเพื่อบรรลุการเป็นประชาคมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม บูรณาการ และสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ ดังนี้

1. การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนมีการขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งควรเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างรอบด้านต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการปรับปรุงมาตรฐานและกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่โปร่งใสและเป็นธรรม การบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพและปลอดภัย การพัฒนาทักษะดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงในภาคแรงงานและธุรกิจ ตลอดจนการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลและการขยายธุรกิจ ตลอดจนมุ่งส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั้งในและนอกอาเซียน อาทิ เทคโนโลยีบล็อคเชน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และเกษตรอัจฉริยะ

2. การสร้างความเชื่อมโยงดิจิทัล การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและไร้ร้อยต่อ ความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและระบบการชำระเงินดิจิทัล ตลอดจนความเชื่อมโยงของระบบ ASEAN Single Window เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจดิจิทัลและเสริมสร้างการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งไทยมีโครงการ ASEAN Digital Hub เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั่วประเทศ และพัฒนาความเชื่อมโยงของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศในภูมิภาค การพัฒนาโครงการ Thailand Digital Valley ในพื้นที่ EEC รวมทั้งการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีดิจิทัลจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพ มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาของเมืองอย่างตรงจุด นอกจากนี้ บริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง อะเมซอนเว็ปเซอร์วิส ยังได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ส่วนกลางสำหรับหน่วยราชการไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปฏิรูประบบดิจิทัลของภาครัฐ

3. การสร้างความยั่งยืนและครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ MSMEs และสตรี นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาค โดยไม่ทิ้งกลุ่มใด ๆ ไว้ข้างหลัง ไทยจึงให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัลในบุคคลทุกกลุ่ม ทุกระดับ และดึงดูดแรงงานดิจิทัลทักษะสูงจากต่างประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนให้เข้ามาทำงานในไทย นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและสารสนเทศ ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรม ลดช่องว่างด้านการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า อาเซียนควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความร่วมมือและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาเกษตรอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเห็นว่า การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมและการเข้าถึงนวัตกรรม การพัฒนาระบบนิเวศที่ปลอดภัย การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขยายโอกาสและผลักดันการเติบโตด้านดิจิทัลในยุคหลังโควิด-19

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การพัฒนาด้านดิจิทัลของอาเซียนจะเป็นไปแบบรอบด้านระหว่าง 3 เสาของประชาคมอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ความเชื่อมโยงดิจิทัลที่เข้มแข็ง และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนประชาคมดิจิทัลอาเซียน พร้อมก้าวสู่การบูรณาการด้านดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบเพื่อการเป็น “ดิจิทัลอาเซียน” และทำให้อาเซียนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก เพื่อประโยชน์ของประชาชนสืบต่อไป

อนึ่ง การประชุม ABIS เป็นกิจกรรมประจำปีของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้นำรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และผู้นำธุรกิจทั้งภายในและภายนอกอาเซียน ซึ่งในปีนี้ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในรูปแบบผสม (hybrid) ภายใต้หัวข้อหลัก “Addressing Challenges Together” เน้นประเด็นเรื่องการเผชิญความท้าทาย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เริ่มแล้ว รับสมัคร สว. ขอนแก่น วันแรก ผู้สมัครเข้าคิวเพียบ แห่มารอก่อนเวลาทำการ
รับสมัคร สว. เมืองระยองวันแรกมีคนดัง และ อดีตผู้สมัครเวทีการเมืองหลายเวทีสมัครด้วย ผอ.กกต.ระยอง แนะผู้ที่จะสมัคร ศึกษาระเบียบให้ดีอาจผิดกฎหมาย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีและถอนสิทธิเลือกตั้ง
เปิดสมัครชิงชัย สว.สระแก้ว วันแรกสุดเงียบเหงา อ.คลองหาดฯยังไร้ผู้สมัคร
บางละมุงพร้อมรับสมัครเลือกตั้ง สว. พบบรรยากาศวันแรกเป็นไปอย่างเรียบร้อย
“นายกฯ” ย้ำไม่ก้าวล่วง “ศาลรธน.” หลังรับเรื่อง 40 สว.ยื่นสอบตั้ง “พิชิต” นั่งรมต.มั่นใจในความบริสุทธิ์
เปิดสมัครชิงชัย สว.สระแก้ว วันแรกสุดเงียบเหงา อ.คลองหาดฯยังไร้ผู้สมัคร
อินโดนีเซีย เปิดใช้ Starlink อินเทอร์เน็ตดาวเทียม
เจอแล้วซากเฮลิคอปเตอร์ "ปธน.อิหร่าน" ถึงแก่อสัญกรรม พร้อมรมว.ต่างประเทศ
ไต้หวัน ฝ่ายค้านจัดประท้วง ก่อนพิธีสาบานตนปธน.ใหม่
เซ็ง "ก้าวไกล" ฮั้วการเมืองไม่ส่งคนชิงเก้าอี้นายกอบจ.ปทุมธานี จี้ประกาศจุดยืนขั้วตรงข้ามฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น