ยืดเยื้อต่อเนื่องมานานกว่า 7 เดือน สำหรับการพิจารณาคำร้องเรื่องการควบรวมธุรกิจ ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC โดยมีรายงานว่าหลังจาก กสทช.ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องกรอบอำนาจปฏิบัติแล้ว จะมีการประชุมเพื่้อหาข้อยุติอีกครั้งในวันที่ 12 ต.ค. นี้
โดยทางด้าน ผศ.ดร.พัชรินทร์ คำสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบิน วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นนักวิชาการรายล่าสุด ที่ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึง 2 เหตุผลที่ควรสนับสนุนการควบรวมธุรกิจ TRUE – DTAC ว่า ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปผลการตีความในอำนาจของ กสทช. ต่อเรื่องการควบรวมกิจการของ TRUE-DTAC และได้คำตอบมาแปลความได้ว่า ดีลนี้ไม่ต้องขออนุญาตจาก กสทช. เพียงรายงานให้ทราบเท่านั้น โดยให้อิงจากประกาศ กสทช.ปี 2561 พร้อมให้ กสทช. ดำเนินการกำหนดเงื่อนไขเพื่อรักษาสภาวะการแข่งขันในตลาดและดูแลไม่ให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์เอาจริงๆ โดยส่วนตัวแล้วมองว่าเราควรสนับสนุนการควบรวมนี้เพราะ 2 เหตุผลคือ
1. ยิ่งควบรวมยิ่งช่วยให้ป้องกันการผูกขาด
ต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนสูง ทั้งค่าประมูลคลื่นความถี่ ทั้งการลงทุนด้านโครงข่ายสัญญาณต่าง ๆ ที่ถือเป็นเหตุผลหลักที่จำกัดผู้เล่นในตลาด จึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้ DTAC ไม่ค่อยลงทุนเรื่องโครงสร้างเทคโนโลยี 5G เพิ่มซักเท่าไหร่ แต่ถึงอย่างนั้นผลประกอบการของ DTAC ก็ยังไปได้ดี เพราะแนวโน้มการใช้ระบบสื่อสารมีมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรม แต่ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีมันก้าวไปไวเกินกว่าจะหยุดอยู่กับที่ได้ ในขณะที่ Operator เจ้าอื่นทำการขยายโครงข่าย และหาก DTAC ยังลุยเดี่ยวโดยไม่เร่งมือกับเรื่องเทคโนโลยี ก็เท่ากับเริ่มถอยหลังเข้าคลองไปเรื่อยๆ การควบรวมกับ True จึงเป็นทางออกที่สมเหตุสมผล
การรวมกันจะทำให้ True-DTAC ลดต้นทุนด้านโครงสร้างเครือข่ายที่ใช้ร่วมกัน รวมทั้ง ผนึกกำลังในการเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ความน่ากลัวที่ไม่ควรมองข้าม คือ หากไม่ส่งเสริมให้เกิดการควบรวม เท่ากับการหยุด หรือชะลอการขยายการลงทุนเพิ่มในโครงสร้างเทคโนโลยี 5G ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีอยู่ไม่กี่เจ้าในเมืองไทย ซึ่งอาจจะได้เห็นการผูกขาดตลาดอย่างที่หลายคนกลัวว่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะตลาด 5G จะตกอยู่กับ Operator บางรายเท่านั้น
นอกจากนั้น การควบรวม True-DTAC และการ เห็นช่องทางการตลาดที่ชัดเจนก็ย่อมลงเม็ดเงินลงทุนอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลต่อ GDP ของประเทศ ดังนั้น การควบรวมนอกจากจะหมายถึงการส่งเสริมการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการ ยังหมายถึงการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในด้านคุณภาพของเครือข่าย และมีผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
2. การควบรวมจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์
เมื่อ True ควบรวมกับ DTAC จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์จากค่าบริการที่ลดลง ถึงแม้จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการจะเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนด้านโครงสร้างเท่าเดิม เพราะเทคโนโลยี 5G สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้จำนวนมหาศาล ทำให้ลูกค้าโดยเฉพาะ DTAC จะได้มีโอกาสใช้บริการ 5G ที่ดีขึ้น และครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น การควบรวมของทั้ง 2 ค่ายยังทำให้ได้คลื่นสัญญาณที่ครบทุกย่านความถี่ทำให้ลูกค้าสามารถได้รับบริการที่ครอบคลุมครบถ้วน และแน่นอนว่าด้วยเงินลงทุนที่มากขึ้นจากทั้ง True และ DTAC ต้องปรับตัวเข้าสู่การเป็น Tech Company เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากลูกค้าจะได้รับบริการที่ดีขึ้น การสร้างสรรนวัตกรรมและบริการดิจิทัลต่างๆ ย่อมดีขึ้นด้วย ซึ่งประโยชน์ก็จะตกกับผู้บริโภค
หลังจากควบรวมแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือ มาตรการควบคุมของ กสทช. สิ่งที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี เราจะเห็นได้จากเศรษฐกิจปัจจุบันที่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ราคาโปรโมชันมือถือที่ออกมาอย่างหลากหลายกลับมีราคาลดลง ดังนั้น การเปิดโอกาสให้เกิดการควบรวมของบริษัทโทรคมนาคมไทย ผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างมากมายน่าจะตกกับประเทศชาติและประชาชน ดังนั้นถึงจุดนี้คิดว่าเราคงไม่ต้องรอ เพราะทุกวินาทีคือโอกาสดีๆ ที่เราจะได้รับ