ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรามาเข้าใจกระบวนการของการบริหารจัดการในภาวะเร่งด่วนของสาธารณภัยสักนิดนึงนะคะ จะได้ทราบว่าหน่วยงานมีการทำงานร่วมกันอย่างไรบ้างข้ามกระทรวงและข้ามพื้นที่
คำถาม “ทำไมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัย ทั้งที่มีอำนาจในฐานะผู้อำนวยการสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร”
ตอบ “การประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงเป็นการประกาศเพียงขอบเขตพื้นที่ที่มีภัยเกิดขึ้น แต่หากการจะใช้งบประมาณตาม พรบ.เงินทดรองราชการ จำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลภัย ขอบเขตพื้นที่ ลักษณะการเกิด ผลกระทบที่เกิดขึ้นในรายแขวง ตำบล เขต อำเภอ และต้องอาศัยอำนาจของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการประกาศ “เขตการให้ความช่วยเหลือ” เพื่ออนุมัติการใช้งบประมาณให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นควรประกาศไปโดยพร้อมกันจะได้ประโยชน์และเร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขต สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย ส่งทีมมาประกบทำงานร่วมกันเพื่อเร่งรัดเต็มที่
คำถาม “แล้ว กทม. ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรประชาชนได้ด้วยตัวเองเลยหรืออย่างไร”
ตอบ “นอกจากความพยายามในการระบายน้ำให้ได้เร็วที่สุด โดยประสานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด ในการกำกับเครื่องสูบน้ำในจุดต่างๆ โดยเฉพาะในจุดวิกฤต ที่อาจจะมีเครื่องมือบางอย่างที่ทำงานมาตลอด 24 ชั่วโมงแล้วมีหยุดไปบ้าง ก็ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกรมป้องกันฯ กรมชลประทาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้พยายามร่วมกันทำแผนการระบายน้ำที่กรุงเทพมหานครเองต้องไม่ให้เกิดผลกระทบไปยังพื้นที่ปริมณฑลที่มีปริมาณฝนหนักหน้าไม่แพ้กันด้วย ดังนั้นจึงต้องทำงานกับกรมชลประทานมาอย่างใกล้ชิด ในการวางแผนการปล่อยน้ำในระดับที่ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด ที่ กทม. จะสามารถช่วยทำคันกั้นบางส่วนให้ได้ทันหากจะมีการเอ่อล้นมา และพยายามลดระดับน้ำต้นทางที่สูงตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้างตามจังหวะที่ทำได้ตลอด 24 ชม.”
ตอบเพิ่ม “ส่วนการให้ความช่วยเหลือนั้น ระหว่างรอการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการทำเรื่องไปที่กรมป้องกัน กทม. ได้เร่งนำงบประมาณเหลือจ่ายที่มีอยู่ออกมาจัดความช่วยเหลือเต็มกำลัง ทั้งในการจัดกระสอบทราย ถุงยังชีพ การจัดสรรยาที่จำเป็น และสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างที่ระเบียบเอื้ออำนวย และสั่งการให้สำนักงานเขตจัดตั้งศูนย์พักพิง ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ จุดให้บริการ (มีน้องๆจากอาชีวะมาร่วมกับกองเครื่องกล กทม. ด้วย ขอบคุณมากนะคะ) การต่อสะพานไม้ให้ชุมชน และการให้นำหาบหามไปช่วยดูดน้ำในบางชุมชน”