No data was found

ประชาธิปัตย์แตกทัพ เลือดข้นคนจาง

กดติดตาม TOP NEWS

จากยุค “ 10 มกรา” กลุ่มวีระไขก๊อกไปตั้งพรรคใหม่  เขียนตำนานขัดแย้งในพรรคสีฟ้า สู่ยุค “ทศวรรษใหม่” งัด “ผลัดใบ”  มาถึงยุคจุรินทร์  “ปชป.แตกทัพ”  การเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยนิ่ง   เลือดข้นคนจางต่างเหตุเดินออก  ขัดแย้งแตกแยกยาวนาน   จับตา “กล้า-ไทยภักดี-รวมไทยสร้างชาติ” จะไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน    

พรรคประชาธิปัตย์ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของไทยและอาเซียน   76 ปีของการดำรงอยู่บนเส้นทางสายการเมือง หลังการก่อตั้งพรรคเมื่อ 6 เม.ย.2489 โดยควง อภัยวงศ์ กับกลุ่มนักการเมือง   จากอดีตจนถึงปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคมาแล้ว  8 คน ในจำนวนนี้  4 คนขึ้นเป็นนายกฯของไทย ประกอบด้วย 1.พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคคนแรก ดำรงตำแหน่งนายกฯ  4 สมัย 2. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกฯ 4 สมัย  3. ชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกฯ  2 สมัย  และ 4. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะดำรงตำแหน่งนายกฯ 1 สมัย   ส่วนที่เหลืออีก 4  คน คือ  1. พ.อ.ถนัด คอมมันตร์  2. พิชัย รัตตกุล 3.บัญญัติ บรรทัดฐาน และ 4.ล่าสุดจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามแม้จะได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่เป็นสถาบันทางการเมืองต้นแบบของวงการเมืองไทย แต่หากย้อนอดีตไปดูสาแหรกของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต  จะพบเรื่องราวความขัดแย้งมากมาย แต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีความขัดแย้งแตกต่างกันออกไป  เอาที่พอจะเป็นตำนานเป็นต้นเหตุของความแตกแยกร้าวฉานในพรรคประชาธิปัตย์  ก็ต้องย้อนไปที่เหตุการณ์   “10 มกราคม 2522”  ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จัดการประชุมใหญ่ของพรรค ณ โรงแรมเอเชีย  ตรงกับวันเด็กแห่งชาติปีนั้นพอดี   เพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยกลุ่มของวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในตอนนั้น ได้เสนอชื่อ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรณ์  อดีตเลขาฯพรรคช่วงปี 2522 ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค  ส่วนกลุ่มของชวน หลีกภัย ได้เสนอชื่อ พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคในขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป   ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรค  วีระได้ลงชิงชัยกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์  ปรากฏว่าทั้งเฉลิมพันธ์และวีระที่เป็นขั้วเดียวกันพ่ายแพ้ให้กับพิชัยกับพล.ต.สนั่นแบบย่อยยัย

ความจริงก่อนหน้านั้นกลุ่มของวีระมีปัญหาขัดแย้งกับกลุ่มของพิชัยมาก่อนแล้ว  เพราะหลังการเลือกตั้ง 27 ก.ค. 2529 ที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถกว่าส.ส.มาได้ 100 คน จากทั้งหมด 347 คน โดยการนำของพิชัยที่เป็นหัวหน้าพรรคและวีระที่เป็นเลขาธิการพรรค   ก่อนที่พรรคจะไปสนับสนุนให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯอีกสมัย  ตอนนั้นพรรคได้โควต้ารัฐมนตรีจากป๋ามา 16 ตัว แต่ปรากฎว่าระหว่างเสนอชื่อรัฐมนตรีตามโควต้าของพรรค กลับไร้ชื่อ เด่น  โต๊ะมีนา  แกนนำกลุ่มวาดะห์ที่สามารถกวาดส.ส.ใต้มาได้ถึง 7 คน  รวมถึงชื่อของเฉลิมพันธุ์   ทำให้กลุ่มของวีระโกรธเป็นฟืนเป็นไฟว่าพิชัยไม่รับปากตามที่คุยกันไว้   แถมยังลักไก่สอดไส้เสนอชื่อ  “ดร.โจ” พิจิตต รัตตกุล ส.ส.กทม. สมัยแรก บุตรชาย ขึ้นแท่นเป็น รมว วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ทั้งที่ยังอ่อนอาวุโสไร้ประสบการณ์   ช่วงนั้นเลยเกิดปัญหาระหองแระแหงในพรรคประชาธิปัตย์หนักข้อมาก  ลามไปถึงรัฐบาล จนเกิดเหตุกลุ่มวีระรวมพลัง “งดออกเสียง” ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจส่งผลให้ ร.ต.อ. สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ รมว.พาณิชย์ พรรคกิจสังคม ต้องลาออกจากตำแหน่งเซ่นความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์

ก่อนที่จะมาถึงจุดแตกหักในวันเด็กปี 2522 จากการเลือกตั้งภายใน วีระหลุดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคหลังแพ้ให้เสธ.หนั่น   ก่อนขน 40 ส.ส.ของพรรคตั้งกลุ่มอิสระที่ชื่อว่า “กลุ่ม 10 มกรา”  ปัญหา 1 พรรค 2 ก๊กคาราคาซังมานาน จนถึงการเลือกตั้ง 24ก.ค.2531  พิชัยตัดสินใจไม่ส่งก๊วนวีระลงสมัคร สุดท้ายเจ้าตัวยกพวกออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปตั้งพรรคประชาชน  มีเฉลิมพันธ์เป็นหัวหน้าพรรค วีระ เป็นเลขาธิการพรรค  แกนนำคนสำคัญ ตอนนั้นก็มี อาทิ เดโช สวนานนท์, ไกรสร ตันติพงศ์, เลิศ หงษ์ภักดี, อนันต์ ฉายแสง, สุรใจ ศิรินุพงศ์, ถวิล ไพรสณฑ์, พีรพันธุ์ พาลุสุข, สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์, กริช กงเพชร นั้นคือตำนานความขัดแย้งที่เป็นนิรันด์ของพรรคสีฟ้า

ใครที่เป็นคอการเมืองหรือเป็นแฟนคลับพรรคสีฟ้าก็จะรู้ดีว่าการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยนิ่ง ไม่ว่ายุคไหนสมัยใด มักจะมีเรื่องระหองระแหงขบเหลี่ยมเฉือนคมชิงรักหักเหลี่ยมโหดกันมาตลอด  ไล่เรื่องเป็นสิบเป็นร้อยเรื่องก็ไม่จบ   มาถึงปี 2546 ช่วงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนที่ 6 ก็เกิดการปะทะกันระหว่าง กลุ่ม “ทศวรรษใหม่” กับกลุ่ม “ผลัดใบ”    ฝ่ายทศวรรษใหม่ชู บัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรคมีประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการ    ขณะที่กลุ่มผลัดใบชู “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  หล่อใหญ่วัย 38 นักการเมืองหนุ่มไฟแรงเป็นหัวหน้าคนใหม่ โดยมีแบล็กอัพอย่าง  สุเทพ เทือกสุบรรณ ,กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ, นิพนธ์ พร้อมพันธุ์, จุติ  ไกรฤกษ์, วิฑูรย์ นามบุตร, อัญชลี วานิช เทพบุตร, ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เป็นทีมสนับสนุน  ผลปรากฎว่าฝ่ายบัญญัติชนะฉลุยอภิสิทธิ์ยังไม่ถึงฝันสุเทพพ่ายครั้งแรก  นั้นก็เป็นอีกครั้งที่ในพรรคทะเลาะกันหนักฟัดกันแรงแต่ไม่ถึงขั้นแตกหักแยกพรรค

จนมาถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนที่ 8  ยุคจุรินทร์ 15 พ.ค.2562  เที่ยวนี้มีผู้ประกาศตัวชิงหัวหน้าพรรค 4 คน ได้แก่  จุรินทร์ , กรณ์ จาติกวณิช , พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค , และ อภิรักษ์ โกษะโยธิน  แต่ละคนดีกรีไม่ธรรมดา เพราะเป็นระดับหัวกะทิพรรคล้วนๆ   ผลการเลือกปรากฎว่าจุรินทร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากนายหัวชวน  เพราะเป็นขั้วใต้เหมือนกัน  แถมได้พลังหนุนจากอภิสิทธิ์ที่แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจจะชูเด็กนอกด้วยกันอย่างกรณ์ขึ้นมารับไม้ต่อ   แต่ก็กลัวเสียงโหวตจะกระจายเป็นเบี้ยหัวแตกจนอาจทำให้พีระพันธุ์ที่ประกาศตัวจะพาพรรคประชาธิปัตย์ไปสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอาจได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่   ที่สุดอภิสิทธิ์จึงเลือกเททิ้งกรณ์ช่วงโค้งสุดท้าย    ก่อนเทคะแนนทั้งหมดไปให้จุรินทร์  จนทำให้ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่   แต่ผลจากการห่ำหั่นกันดังกล่าวทำให้ภายในพรรคประชาธิปัตย์แตกกันยับ  นำไปสู่การเลือดไหลของพรรคสีฟ้าอีกครั้งในยุคปี 2562  หลังกรณ์ พีระพันธุ์ หมอวรงค์  3 หัวกะทิฝ่ายผู้แพ้ต้องเก็บของเดินออกจากพรรคอันเป็นที่รักเพื่อไปตามความฝันของตัวเอง

กรณ์จับมือกับเพื่อนซี้ที่ชื่อ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.ฝีมือดีพรรคประชาธิปัตย์อีกคน ถือฤกษ์วันวาเลนไทน์  14 ก.พ. 2563 ตั้ง “พรรคกล้า” เน้นแนวคิดทันสมัย ทำการเมืองด้วยคนรุ่นใหม่ ชูจุดขายเศรษฐกิจ ภายใต้สโลแกน “กล้า เรามาเพื่อลงมือทำ” เดินสายชูซอฟพาวเวอร์ เศรษฐกิจนำการเมือง  ล่าสุดได้มือดีมันสมองของพรรคสีฟ้าเก่าอย่างกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจยุคอภิสิทธิ์ไปเป็นประธานยุทธศาสตร์และนโยบายพรรค   ขณะที่นพ.วรงค์รวบรวมเครือข่ายคนรักสถาบันคนรักชาติ  ก่อนไปตั้ง “พรรคไทยภักดี” ช่วงปี 2564   ชูจุดขายปกป้องสถาบัน พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ชัดเจนในตัวเอง เลือด เนื้อ จิตวิญญาณ เพื่อบ้านเมืองและราชบัลลังก์ ประกาศทำสงครามกับระบอบทักษิณฝ่ายสามกีบพวกล้มเจ้า   ล่าสุดได้ถาวร เสนเนียม อดีตรมช.มหาดไทยเข้าไปเป็นแบ็กอัพ  แม้เป็นพรรคเล็กแต่ใจใหญ่ทุกวินาทีพร้อมทำงานเพื่อบ้านเมือง

ส่วนพีระพันธุ์หลังพ่ายแพ้ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตน์คนที่ 8 อย่างเจ็บปวด  ก่อนพาร่างมาช่วยงานพล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาสร.1  โชว์ฝีมือช่วยแก้ไขปัญหาหนี้เสียฟื้นฟูการบินไทย รวมถึงไปทำเรื่องปฏิรูปกฎหมายให้นายกฯ  ล่าสุดก็ถูกมอบหมายให้ไปดูปัญหาเดือดร้อนของชาวบ้าน  ส่วนด้านการเมืองที่ผ่านมาถูกนายกฯส่งเข้าไปทำงานในพรรคพลังประชารัฐ  ได้รับการแต่งตั้งเป็นถึงที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  แต่อย่างที่รู้ๆ พีระพันธุ์คนละขั้วกับบิ๊กป้อม ไม่ใช้สายของพี่ใหญ่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ถูกโปรโมตโดนใช้งาน  ที่สุดก็ต้องไขก๊อกออกมาจากพรรคเพื่อ 4 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา  จากนั้นก็มีชื่อจะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคใหม่อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติมาตลอด  กำหนดการจะเปิดตัวกัน 3 ส.ค.นี้  แต่ไปพรรคใหม่คราวนี้ไม่เหงา เพราะจะมีอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ตามไปร่วมงานเพียบ ทั้งหน้าฉากหลังฉาก อาทิ  เอกนัฏ  พร้อมพันธุ์ ,วิทยา แก้วภราดัย , สกลธี ภัททิยกุล , พุทธิพงษ์  ปุณณกันต์ , ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ฯลฯ  หนำซ้ำอนาคตอาจมีตามมาอีกมาก

ทั้งหลายทั้งมวลคือความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ยุคจุรินทร์ที่อาจจะเรียกว่ายุค  “ปชป.แตกทัพ”  จาก 1 พรรคแตกออกไปเป็น 4 พรรค  เป็นยุคเลือกข้นคนจาง แม้แกนนำหลายคนยังรักยังอยากอยู่กับพรรค แต่ก็มีเหตุผลความเป็นไปที่ต้องเดินออกจากพรรคต่างกรรมต่างวาระกัน  หลายคนไปเพราะคนละขั้วกับแกนนำปัจจุบัน  หลายคนไปเพราะไร้ที่ยืนในพรรค  บางคนไปเพราะไม่ได้รับการสนับสนุน บางคนไปเพราะผู้ใหญ่ไม่ใช้งานไร้อนาคตทางการเมือง ฯลฯ   ทั้งหลายทั้งมวลที่ไล่เรียงมา ยังไม่รวมแกนนำพรรคอีกหลายคนที่ออกไปอาศัยพรรคอื่นๆ อาทิ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ไปอยู่กับพรรคสร้างอนาคตไทย  ถวิล ไพรสณฑ์ สลับขั้วไปอยู่พรรคก้าวไกล  หรือ วิฑูรย์ นามบุตร ที่ข้ามฝั่งไปซบพรรคเพื่อไทย อภิชัย เตชะอุบล ไปพรรคพลังประชารัฐ  ฯลฯ  อนาคตต้องจับตาดูว่า 4 พรรคที่ว่า ระหว่างยานแม่อย่างพรรคประชาธิปัตย์  กับพรรคลูกๆ อย่าง พรรคกล้า พรรคไทยภักดี หรือพรรคใหม่มาแรงอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ  ในทางการเมืองใครจะไปได้ไกลมากกว่ากัน  ใครจะร่วงใครจะรอด  ใครจะเป็นพรรคตำนานบทใหม่ให้คนไทยชื่นชมหรือใครจะมอดม้วย  สูญหายตามกาลเวลา รวมถึงมีโอกาสหรือไม่ที่อนาคตทั้งหมดจะกลับมาผนึกกำลังรวมกัน แม้ไม่ได้อยู่พรรคเดียวกันแต่อยู่ในรัฐบาลเดียวกัน นั่งบนเรือแป๊ะลำเดียวกัน  ภายใต้กัปตันที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์

/////////////////

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สตช.ปลดป้ายชื่อ “บิ๊กโจ๊ก” หน้าห้องทำงาน ถอดรูปออกจากทำเนียบผู้บังคับบัญชาบนเว็บไซต์ด้วย
สหรัฐ กระแสต้านยิวลามเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ
โคราชประกอบพิธีบรรพชา สามเณรปลูกปัญญาธรรม 1ทศวรรษแห่งความดี 10 ปีแห่งความยั่งยืน
"สุรพงษ์" ลุยปัตตานี พัฒนาระบบขนส่งรถสาธารณะ เชื่อมแหล่งท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกนทท.-ปชช.ในพื้นที่
ผู้โดยสารอินเดีย ซุกงูอนาคอนดาเหลือง 10 ตัวจากไทย
"3 รัฐมนตรี" ยืนยันไทยไม่แทรกแซงกิจการในเมียนมา พร้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ย้ำจุดยืนห้ามรุกล้ำดินแดน
"หมอเหรียญฯ" ลั่นสัญญาลูกผู้ชาย รับปาก "ลุงตู่" สร้างโครงการวิสาหกิจการแพทย์ วันนี้ทำจริงไม่ขายฝัน
ภาคเอกชน เผยสถานการณ์เมียนมากระทบค้าชายแดน ลดลงร้อยละ 30 หากยืดยื้อส่อส่งผลรุนแรง
อากาศร้อนทำพ่อค้าแม่ค้าตลาดใหม่ชลบุรีบ่นอุบผักขึ้น กก. ละ 50 บาทไข่ขึ้นราคาแผงละ 6 บาท ทำคนจับจ่ายน้อยขายของยากไม่คึกคัก
แคมป์ปิ้งจีนที่ไห่หนานสุดคึกคัก

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น