รถไฟฟ้าสายสีแดง โชว์ศักยภาพ “คนรุ่นใหม่” ขับรถไฟฟ้า

กดติดตาม TOP NEWS

รถไฟฟ้าสายสีแดงนับเป็นสิ่งที่ดีที่ได้เปิดโอกาสให้น้องๆคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกหลานของพี่น้องประชาชนคนไทยได้แสดงความรู้ความสามารถในการขับรถไฟฟ้า นอกเหนือจากได้ทำหน้าที่สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน (MRT) สายสีม่วง และแอร์พอร์ตลิ้งค์มาแล้ว ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีแดง มีความแตกต่างจากรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้า MRT และแอร์พอร์ตลิ้งค์ตรงที่ผู้ขับขี่จะต้องมีทักษะการขับขี่มากกว่าเนื่องจากระบบควบคุมไม่ได้กำกับจากศูนย์ควบคุมกลางเช่นรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้า MRT และแอร์พอร์ตลิ้งค์ นั่นเอง

วันนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับน้องๆคนรุ่นใหม่ที่ผันตัวเองเข้ามาสู่วงการระบบรางเพื่อค้นหาเป้าหมายความสำเร็จในชีวิต หวังสร้างอนาคตที่ดีให้กับตนเองจนก้าวขึ้นมาสู่ระดับผู้นำการฝึกอบรม(เทรนเนอร์) สู่รุ่นน้องๆ ให้พร้อมทำหน้าที่ให้บริการประชาชนในการขับรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจัดเป็นระบบรถไฟฟ้าสายที่ 2 ของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อจากแอร์พอร์ตลิ้งค์

ทั้งนี้ “เจ้าหน้าที่ขับรถไฟฟ้า” ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้ทั้งหมด แต่โอกาสมีเปิดกว้างมากน้อยแค่ไหน ยาก – ง่ายอย่างไร ลองมารับฟังความเห็นและเคล็ดลับของทั้ง 3 คนว่าพวกเค้าเหล่านี้คิดกันในมุมมองใดบ้างของความประทับใจกับบทบาทผู้นำรุ่นน้องๆ ในการเทรนเนอร์เจ้าหน้าที่ขับรถไฟฟ้าสายสีแดง

“ป็อบ” น.ส.ภูษณิศา กลิ่นอุบล “มือ 1 เทรนเนอร์หญิง” ของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แนะนำการขับรถไฟสายสีแดงให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่มาทดสอบความพร้อมเดินรถเมื่อวันก่อน หญิงเก่งคนนี้ศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวด้วยน้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจว่า รู้สึกชอบและสนใจเป็นพิเศษในอาชีพคนขับรถไฟฟ้า เมื่อแอร์พอร์ตลิ้งค์เปิดรับสมัคร จึงรีบคว้าโอกาสนี้ทันที

เดิมนั้นเคยปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ประจำสถานีของรถไฟฟ้าแอร์พอร์เรลลิ้งค์ เมื่อโอกาสได้มาทำหน้าที่ให้กับสายสีแดงจะเห็นได้จากวันสัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่คนไหนสามารถขับรถไฟฟ้าได้ดี แล้วยังต้องฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 1 เดือน หากผ่านการอบรมถ้ามีความสามารถก็จะก้าวไปสู่ระดับต่อไป หากไม่ผ่านก็จบเท่านั้น ทักษะจึงเป็นความสำคัญ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ไม่ค่อยเห็นผู้หญิงเข้ามาสมัครทำหน้าที่นี้ แต่เชื่อว่าอนาคตอันใกล้นี้เมื่อประเทศไทยมีรถไฟฟ้ามากขึ้นเจ้าหน้าที่ขับรถไฟฟ้าคงจะมีเพศหญิงเพิ่มมากขึ้นได้อีก

“สมัครเองตั้งแต่เข้ามาสังกัดแอร์พอร์ตลิ้งค์ จากเจ้าหน้าที่ภาคพื้นขยับมาสู่เจ้าหน้าที่ขับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ เพราะอยากขับรถไฟ เมื่อเปิดให้โอนย้ายมาขับสายสีแดงจึงรีบสมัครทันที ยอมรับว่าช่วงแรกที่เข้ามาจะรู้สึกงงๆ เพราะมีศัพท์เฉพาะบางคำของรถไฟ จำได้บ้าง ลืมบ้าง ช่วงแรกจึงเครียดพอสมควร พอนานวันก็จะชินไปเองเพราะซึมซับแล้ว ประเด็นหลักคือเน้นความปลอดภัยและขับส่งผู้โดยสารถึงปลายทางเป็นหลัก”

ทั้งนี้ตอนทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ให้แอร์พอร์ตลิ้งค์เธอยังเคยไปศึกษาดูงานที่มาเลเซีย รูปแบบราง 1 เมตรตรงกับสายสีแดงพอดี จึงเข้ามารับงานต่อเนื่องคิดว่าน่าจะไม่เป็นปัญหาในการปฏิบัติงานพร้อมทั้งต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีรถไฟสายสีแดงมากขึ้น

สำหรับไอดอลของเธอนั้น ป็อบเลือก “ครูอู๊ด” ผู้ที่ถ่ายทอดความรู้เมื่อครั้งทำหน้าที่ขับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ เธอทั้งโดนเข้มงวดเพราะชอบลืมในช่วงแรกจนเกิดเป็นความจำในที่สุด ความรู้เหล่านั้นจึงต่อยอดมาจวบจนทุกวันนี้ด้วยการถ่ายทอดความรู้สู่น้องๆจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป

เช่นเดียวกับ “ด้อม” นายปิยาภัสร์ สะสุนทร ดีกรีปริญญาตรีอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวชัดเจนว่าโอกาสยังเป็นของน้องๆทุกคนที่สนใจ ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาโครงข่ายระบบรางเป็นจำนวนหลายเส้นทาง จึงมีความต้องการบุคลากรด้านนี้จำนวนมาก ส่วนคำถามที่ว่าจะต้องเรียนอะไร มีความรู้เฉพาะทางหรือไม่ จบวิศวะหรือไม่ วันนี้มีคำตอบให้ทุกคนแล้ว เพราะเราทั้งสามคนก็ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านวิศวะทั้งสามคนเพียงแต่ช่วงสัมภาษณ์จะดูจากบุคลิก ท่าทาง ความสนใจว่าเหมาะสมที่จะเข้าทำหน้าที่ได้หรือไม่เท่านั้น

ประการหนึ่งนั้นจะมีระบุไว้ว่าหากทำหน้าที่ฝ่ายบริการจะต้องศึกษาจบขั้นต่ำปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ และทุกคนจะต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ทั้งหมด ปูทางตั้งแต่เริ่มต้น มีการฝึกอบรมแล้วจึงค่อยก้าวสู่ระดับภาคปฏิบัติ จะมีการพิจารณาว่าสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆได้มากน้อยเพียงใดตามตำแหน่งที่สมัครเข้ามา อาทิ เจ้าหน้าที่ขายตั๋ว เจ้าหน้าที่ขับรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ควบคุมการเดินรถ เป็นต้น

ประการสำคัญปัจจุบันสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมระบบรางเพื่อป้อนให้กับการพัฒนาระบบรางของไทย อีกทั้งยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนั้นในการปฏิบัติงานมีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อวิจัยเกี่ยวกับการขนส่งระบบของ JR ที่เมืองโอซาก้าตนจึงมีองค์ความรู้เรื่องระบบรถไฟมาพอสมควร แรงบันดาลใจบวกกับความชื่นชอบส่วนตัวด้านรถไฟจึงได้โอกาสเข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับรถไฟมาจนถึงทุกวันนี้

“มาจากพื้นที่ราชบุรี มีโอกาสเดินทางด้วยรถไฟบ่อยๆซึมซับบรรยากาศมานาน จึงสัมผัสทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ธรรมชาติสองข้างทาง การนั่งรถไฟจึงไม่ได้เป็นเพียงการนั่งอีกจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเท่านั้น แต่ยังสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆรายรอบสถานีและตามแนวเส้นทางรถไฟได้อีกด้วย ยอมรับว่าความชื่นชอบบรรยากาศเหล่านี้ยังเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งของการเข้าศึกษาด้านอักษรศาสตร์อีกด้วย”

“ด้อม” ยังเลือกทำวิจัยเกี่ยวกับระบบรถไฟ ส่วนการเข้าสู่สังกัดแอร์พอร์ตลิ้งค์ได้นั้นเป็นเพราะเดิมข้อมูลข่าวสารด้านระบบรางยังอยู่ในวงจำกัด ปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น ให้ผู้สนใจเข้าถึงความเคลื่อนไหวรวดเร็วขึ้น ช่วงจบออกมา “ด้อม” ได้สมัครเข้าทำงานเอกชนเป็นระยะเวลาสองปีแล้วมีเพื่อนแนะนำให้มาสมัครที่แอร์พอร์ตลิ้งค์ โดยได้แจ้งความประสงค์ตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ขับรถ” จนผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วส่งเข้ารับการฝึกอบรมจึงสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้สำเร็จ กระทั่งต่อเนื่องกับสายสีแดงเพราะทำหน้าที่ให้แอร์พอร์ตลิ้งค์กว่า 5 ปีจึงขอโอนย้ายมารับหน้าที่สายสีแดงเพื่ออยากเรียนรู้ระบบใหม่ มั่นใจว่ายังมีน้องๆคนรุ่นใหม่จะได้เข้ามาเรียนรู้อีกมากมาย

สอดคล้องกับ “นก” นายศักดิ์ จักรชัย จากคณะวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พื้นเพนั้นเติบโตในกรุงเทพฯ จึงสัมผัสกับระบบรางไม่น้อยไปกว่าใคร กล่าวว่า ปลื้มใจมากในวันต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรีและคณะ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ทำหน้าที่ขับรถไฟสายสีแดง

สำหรับน้องๆที่สนใจบอกเลยว่าทุกสาขาวิชาจะเปิดกว้างให้น้องๆทุกคนเข้ามาทำหน้าที่ เจ้าหน้าที่ขับรถไฟฟ้าไม่จำเป็นจะต้องระบุว่าจบมาทางด้านวิศวะเท่านั้น แต่หากจะเข้าไปทำงานด้านซ่อมบำรุงคงต้องจบมาตรงสายบ้าง อาทิ วิศวกรรมรถไฟ หรือวิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องใช้เทคนิคเฉพาะ

การสัมผัสระบบรถไฟของ “นก” เกิดขึ้นเมื่อครั้งวัยเด็กได้เดินทางด้วยรถไฟบ่อยครั้งจากกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ จึงชื่นชอบบรรยากาศเสียงเครื่องยนต์ เสียงล้อกระทบราง เสียงเบรก เมื่อเข้าสู่วัยเรียนจึงหาโอกาสที่จะเข้าเรียนรู้ด้านระบบรถไฟ ความใฝ่ฝันในขณะนั้นคืออยากขับรถไฟ แต่ก็ทราบกันดีว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ได้เปิดรับสมัครในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ประการหนึ่งนั้นตนชื่นชอบเรื่องรถไฟอยู่แล้วจึงอยากมาหาประสบการณ์ใหม่ๆด้านการขับรถ สั่งสมประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีระบบสายสีแดง เพราะระหว่างสายสีแดงกับแอร์พอร์ตลิ้งค์จะแตกต่างกัน พ่วงด้วยการเพิ่มทักษะการสอนให้กับน้องๆที่จะเข้ามาเรียนรู้

“การขับรถไฟไม่ได้มีการใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมมากนัก เน้นการบริการเป็นหลัก เมื่อเข้ามาเรียนจะมีการสอบภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ ดูการควบคุมรถ ความปลอดภัย ไหวพริบ การปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เมื่อมีความเหมาะสมก็จะได้รับการพิจารณาให้เข้าทำหน้าที่นี้ได้ทันที ไม่ยากขอให้มีใจสู้ ไม่ย่อท้อในการฝึกอบรมเท่านั้นคุณก็สามารถทำได้สำเร็จแล้ว”

ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้เป็นต้นไปน้องๆทั้งสามคนจึงขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจร่วมทดสอบให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีแดงติดตามประกาศของการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าจะให้ประชาชนแจ้งความประสงค์ใช้บริการแต่ละรอบอย่างไร ติดต่อได้ช่องทางไหนบ้าง แล้วทุกท่านจะได้สัมผัสกับบริการใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่นำรถไฟสายสีแดงเปิดให้บริการ อีกทั้งยังจะได้ชื่นชมความสามารถการขับรถไฟฟ้าของน้องๆคนไทยให้บริกการทุกท่านในครั้งนี้อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น