No data was found

ชี้ขาดกฎหมายลูก เคาะสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ เข้าทางประยุทธ์หรือเข้าตีนทักษิณ

กดติดตาม TOP NEWS

จับตากมธ.นัดพิจารณา 11-12 พ.ค.นี้  ก่อนฟันธงข้อสรุป จะหาร 500 เข้าทางประยุทธ์สมใจพรรคเล็ก  หรือหาร 100 ถูกใจพรรคใหญ่เอาใจพรรคร่วมแต่เข้าตีนทักษิณ  ที่งานนี้ประยุทธ์มีหนาวแน่ เพราะเสี่ยงเจอพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ชนะขาดทั้งแผ่นดิน ต่างฝ่ายต่างยืนกรานของตัวเองถูกต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทำใจแล้วยังไงเรื่องนี้ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

งวดเข้ามาทุกทีกับการพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับที่ถือเป็นหัวใจสำคัญกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หนึ่งคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  อีกหนึ่งคือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ  (กมธ.) รวม 49 อรหันต์  ซึ่งเป็นตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และพรรคการเมืองจากซีกฝ่ายรัฐบาลและซีกฝ่ายค้าน เข้ามาร่วมพิจารณากฎหมายลูก   มาถึงตอนนี้เดือนพ.ค.การทำงานของกมธ.เรียกว่าเดินมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายหลังตั้งคณะทำงานมาตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่กมธ.ต้องสรุปปมปัญหาต่างๆที่เหลือ ก่อนสรุปรายงานทั้งหมดนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อบรรจุระเบียบวาระประชุมพิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ต่อไป

 

สำหรับปมประเด็นต่างๆที่เคยมีปัญหาและถกเถียงกันมากก่อนหน้านี้ หลายเรื่องหลายประเด็นบัดนี้ก็ได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ  ประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองและค่าบำรุงพรรคการเมือง ซึ่งเป็นร่างที่เสนอโดยอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอให้ปลดล็อค ม. 98 ของรัฐธรรมนูญ  ด้วยการเปิดช่องให้อดีต ส.ว.ที่พ้นตำแหน่งไม่เกิน2ปี ,  กลุ่มนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่ถูกศาลตัดสินให้มีความผิดและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองสามารถจัดตั้งพรรคได้  ทั้งนี้ที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและให้กลับไปใช้ข้อความตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน  ที่ห้ามบุคคลเหล่านี้เป็นผู้จัดตั้งพรรคการเมือง  เช่นเดียวกับการคงค่าบำรุงพรรคการเมืองแบบรายปีและแบบตลอดชีพไว้ตามเดิม คือ รายปี 20 บาท ตลอดชีพ 200 บาท

ส่วนประเด็นหมายของผู้สมัครจะให้ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อตามความเห็นของกมธ.ฝ่ายค้าน  พรรคเพื่อไทย ที่ระบุเหตุผลของการใช้เบอร์เดียวว่า ชาวบ้านสะดวก คนจดจำง่าย ไม่สับสน ทำให้บัตรเสียลดเปอร์เซ็นต์ลง  หรือแยกกันคนละเบอร์ตามความต้องการของกมธ.ฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคเล็ก  ซึ่งให้ความเห็นสนับสนุนแนวคิดนี้ว่า  ไม่ทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 ที่ระบุว่าต้องสมัครรับเลือกตั้งระบบเขตให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะมารับสมัครเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ   ตรงนี้จะเป็นการป้องกันหากอนาคตมีผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นโมฆะได้

ด้านกระบวนการได้มาซึ่งผู้สมัครของพรรคการเมืองทั้งในระดับเขตและบัญชีรายชื่อที่รัฐธรรมนูญมุ่งหมายอยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือที่เราคุ้นปากว่า “ ไพรมารี่โหวต”  คือ การเลือกตั้งขั้นต้นจากประชาชนในการสรรหาผู้สมัครระดับเขตนั้น   ล่าสุดสดๆร้อนๆ กมธ.เคาะกระบวนการสรรหาผู้สมัครส.ส.แบบเขตแล้วโดยมีทั้งสิ้น 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. ให้คณะกรรมการสรรหาแต่ละพรรคกำหนดวัน เวลา และสถานที่ ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง  2. กรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม 3.  ส่งรายชื่อผู้สมัครให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตรวจสอบ และให้มีการจัดประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความเห็น พร้อมให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา 4. ให้สาขาพรรคการเมืองส่งรายชื่อผู้สมัครแต่ละเขต 5. กรรมการบริหารพรรคพิจารณาให้ความเห็นชอบ  ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ  การคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ก็จะทำให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น  ขณะที่พรรคการเมืองจะมีความคล่องตัวมากขึ้นเพราะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นตัวแทนในการดำเนินการแทนทุกเขตในจังหวัด

 

จะเหลือประเด็นชี้เป็นชี้ตายที่พรรคเล็กพรรคใหญ่ พรรครัฐบาลพรรคฝ่ายค้าน ยังคุยกันไม่ตกผลึกหาทางออกกันไม่ได้  และน่าจะเป็นจุดชี้ขาดจุดแตกหักที่สำคัญของการแก้ไขกฎหมายลูกในคราวนี้  นั้นก็คือการคิดคะแนนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ต้องลงจะเอาสูตรไหนดี  จะหาร 500 แล้วมีเพดานส.ส.พึงมี หรือ หาร 100 เหมือนอย่างที่ 4 ร่างเสนอมา และเป็นไปตามความต้องการของพรรคใหญ่ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ตรงนี้ยังไม่เคาะยังไม่ได้คุยกัน แต่ล่าสุดทางกมธ.นัดหมายวันชี้ชะตาตัดสินเรื่องนี้กันไว้แล้ว คือ วันพุธและวันพฤหัสบดีที่ 11-12 พ.ค.นี้  หากไม่พอก็ขยายการประชุมไปในวันศุกร์ที่ 13 พ.ค.ด้วย แต่ต้องเอาให้จบให้ได้ข้อสรุปให้ได้  ล่าสุดต่างฝ่ายต่างก็ยังยืนกระต่ายขาเดียวว่าต้องหารตามแบบที่ตนคิดตามอย่างที่ฝ่ายตนเสนอไม่งั้นจะขัดรัฐธรรมนูญ

ฝากที่ยืนกรานต้องหาร 100 ตามแนวทางยกร่างของ 4 ร่างหลักที่รับหลักการมาก่อนนำมาถกเถียงกันในชั้นกมธ. ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่างก็หวังไว้ว่าการคิดสูตร 100 จะทำให้พรรคตัวเองได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม แถมยังเป็นการสกัดพรรคเล็กไม่ให้มาแชร์ส่วนแบ่งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เหมือนการเลือกตั้งคราวที่แล้ว  หัวหมู่ทะลวงฟันเรื่องนี้ของพรรคพลังประชารัฐคือไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคฝ่ายกฎหมายที่ยืนยันหนักแน่นยังไงก็ต้องหาร  100  “ หากหารด้วย 100 ก็จะเป็นไปตามร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ทั้ง 4 ร่างที่รับหลักการมา แต่หากหารด้วย 500 ก็จะเป็นการเสนอในที่ประชุมกมธ.วิสามัญฯ ทั้งนี้ในฐานะที่เคยเป็นอดีตประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม)  หากหารด้วย 500 ตนมองว่าขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะปรากฎหลักการในการพิจารณาในที่ประชุมที่มีรายงานการประชุมละเอียดมากพูดถึงเรื่องการหาร 100  และไม่เห็นด้วยกับการหาร 500  ซึ่งนี้คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้วหากหารด้วย 500 ก็ยังขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาด้วย เพราะกมธ.วิสามัญฯจะแก้ไขให้ขัดกับหลักการที่รับมาไม่ได้   ประเด็นที่จะให้จำนวน 500 มาเฉลี่ยก็จะทำให้ทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนที่ออกเสียงลงคะแนนในบัตรบัญชีรายชื่อ ในเมื่อประชาชนออกเสียงมาให้พรรคนี้ได้ส.ส.จำนวนเท่านี้ แล้วทำไมต้องไปทำลายเจตนารมณ์โดยใช้ 500 หาร ดังนั้นเชื่อว่าจะมีการลงมติเกิดขึ้นในวันที่ 11 พ.ค. ตนเชื่อว่าส.ส.และส.ว.ส่วนใหญ่จะไม่ทำอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ” ไพบูลย์แจกแจง

ด้านฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยก็มั่นใจบัญชีรายชื่อคิดยังไงก็ต้องหาร 100   “ เรื่องนี้ไม่น่าเป็นประเด็น เพราะเป็นสิทธิของกมธ.ที่มีสิทธิ์เสนอในมุมของตัวเอง เนื่องจากตัวรัฐธรรมนูญ ม. 91 เขียนไว้ชัดเจนว่าวิธีการคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะคำนวนอย่างไร โดยให้นำคะแนนจากส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งประเทศมารวมกันหารด้วย 100 ส่วนการคำนวนสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนสัมพันธ์โดยตรง จึงไม่มีประเด็นว่าต้องเอา 500 มาเป็นตัวตั้งอีก หรือคำว่าพึ่งมีที่เราเพิ่งแก้ใหม่….ส่วนจะทำให้เสียงจะตกน้ำหรือไม่มันก็เป็นเจตนารมณ์เดิม เมื่อรัฐธรรมนูญถูกแก้ไขเจตนารมณ์นี้ต้องเปลี่ยนไป โดยเป็นการคำนวณที่แยกบัญชีไป ไม่ได้เกี่ยวว่าตกน้ำไม่ตกน้ำ  ถามกลับสมัยบัตรเลือกตั้งใบเดียวพรรคเพื่อไทยเสียงตกน้ำไปเท่าไร ซึ่งกติกาทุกกติกาเรายอมรับ” หมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยัน

ส่วนที่ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดไม่ว่าอย่างไรก็ต้องหาร 500 ก็คือบรรดาพรรคเล็ก ที่คุยไปลหายครั้งแล้วก็คิดว่าน่าจะเป็น “ทางออก” ที่เป็น “ทางรอด” ไม่อย่างนั้นเตรียมตัวตายหยั่งเขียดเก็บกระเป๋าลาโรงได้เลย  เพราะคิดกันคร่าวๆ ถ้าหาร 500 ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคนต้องมีราว 100,000 หรือ 150,000 คะแนน ที่น่าจะพอได้ลุ้น  แต่ถ้าหาร 100 ต้องใช้คะแนนมากราว 300,000 – 350,000 คะแนน  ม้วนเสื่อกลับบ้านได้เลย เพราะฉะนั้นพรรคเล็กจึงขอสู้ตายในประเด็นนี้   “กรณีที่กรรมาธิการฯให้ความเห็นว่าต้องใช้ตัวเลข 100 หารเพื่อหาคะแนนเฉลี่ยของส.ส.พึงมี 1 คน ส่วนตัวมองว่าเป็นความเห็นของกมธ. 2-3 คนเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ใช้ตัวเลข 500 หาร อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดนั้น ในฐานะผู้เสนอหลักจะขอไปต่อสู้ในชั้นกมธ. อย่างไรก็ตามไม่ว่าแนวทางที่ถูกเห็นชอบ จะเป็นหารด้วย จำนวน 100 หรือ 500 ต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด เนื่องจากขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ หากหารด้วยจำนวน 100 จะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยส.ส.พึงมี ม. 93 และ ม.94   ส่วนกรณีหารด้วยจำนวน 500 แม้จะขัดกับ ม. 91 แต่สอดคล้องกับ ม. 93 ม. 94 และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ส.ส.พึงมี ดังนั้นไม่ว่าสูตรคำนวณจะออกมาอย่างไร ล้วนไม่ตรงกับข้อกฎหมาย ต้องถูกส่งไปศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น” นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ระบุ พร้อมยอมรับว่าไม่ว่ายังไงก็คงไปจบที่ศาล

หลักใหญ่ใจความของเรื่องนี้ก็อยู่ที่ว่าคนใหญ่ในรัฐบาลอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกฯ มองเรื่องนี้อย่างไร จะเอาแบบไหนเอาแบบหาร 500 ขัดใจพรรคตัวเอง ขัดใจพรรคร่วม แต่สามารถเบรกแลนด์สไลด์ไม่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งทั่วประเทศแบบถล่มทลาย ตัดโอกาสอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯปิดประตูตายทักษิณกลับบ้าน  หรือจะเอาแบบหาร 100 ถูกใจพรรคใหญ่ได้ใจทุกฝ่าย แต่เสียแนวร่วมพรรคเล็กและทำลายอนาคต “ไปต่อ” ของตัวเองเลือกพาชีวิตไปเสี่ยงก็แล้วแต่    เลือกตั้งทั่วไปเที่ยวหน้า ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่แต่เชื่อว่าน่าจะต้นปี 2566   ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกกันระหว่างระบบเขตกับบัญชีรายชื่อ  ไม่มีตัวช่วยการนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่มีการคิดคะแนนตกน้ำ  ไม่นำส.ส.พึงมีเข้าช่วย สู้กันแบบเพียวๆ ถ้าเอาปาร์ตี้ลิสต์หาร 100  ต้องถามใจพล.อ.ประยุทธ์และทีมงานยุทธศาสตร์คนรอบข้างดู  ไหวมั้ยไปต่อได้หรือป่าว  ยกแรก 11-12  พ.ค.นี้คงได้รู้กันว่าจะเอายังไง  จากนั้น 18 พ.ค.นัดผู้เสนอคำแปรญัตติ ที่มีประมาณ 10- 15 คนมาชี้แจง  19 พ.ค.สรุปรายงาน   20-22 พ.ค.จัดทำรายงานให้แล้วเสร็จ   ก่อนที่ 23 พ.ค.จะประชุมรับรองรายงาน  จากนั้น 24 พ.ค. ส่งรายงานให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับทราบ ก่อนนัดวันประชุมวาระ 2 และ 3 ต่อไป   บทสรุปห้ามกระพริบตา ตกลงกมธ.เสียงข้างมากจะเอายังไง จะหาร 500 หรือ หาร 100  เข้าทางประยุทธ์หรือเข้าตีนทักษิณก็ต้องติดตามกันดูต่อไปยาวๆ

////////////////////////

 

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สุดอั้น จ่อปรับขึ้น "ดีเซล" ราคาหน้าปั๊มทะลุ 30 บาท มีผล 1เม.ย.67
นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ดีลับยืมมือ "แดง" พิฆาต "ส้ม" ไม่จริง เหตุ "ก้าวไกล" เน่าในอยู่แล้ว
"รถไฟฟ้าสีเหลือง" ผดส.ทยอยใช้บริการปกติ ชื่นชมพนง.ดูแลดีช่วงขัดข้อง ฝากตรวจสอบอย่าเกิดซ้ำ
ปะทะกันแล้ว ก็อดซิลล่า VS คิงคอง ที่สวนนงนุชพัทยา
ซัด "ก้าวไกล" ปมขึ้นค่าแรงจ้องหาเสียงตีกินการเมือง ชำแหละกึ๋นนโยบายใครทำคนตกงานระนาว
NBM แจงเทศกิจ ร้องวัสดุตกใส่รถยนต์ ยันไม่ใช่ชิ้นส่วน"รถไฟฟ้าสีชมพู"
"นายกฯ"เป็นประธานพิธีลงนาม "โครงการ 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ" เดินหน้าผลักดันกีฬาไทยสู่ระดับโลก ดูแลบุคลากรสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ
แกนนำ 3 นิ้วอ่วม คดีเพียบ ศาลนัดเชือดเรียงตัว หลัง “ไมค์” หนีป่าราบ
ศาลอาญา ยกฟ้อง "พันธมิตรฯ ชุด 2 “ ชุมนุมดอนเมือง-สุวรรณภูมิ” ปี 51
เหิมหนัก “ไมค์ ระยอง” โพสต์เย้ยศาล หลังโดนหมายจับ ลั่นจะเลือกวันเข้าคุกเอง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น