กระทรวงแรงงาน เดินหน้าประชารัฐร่วมกสทช. พัฒนาทักษะ ICT แก่ผู้ด้อยโอกาสและแรงงาน เข้าถึงบริการโทรคมนาคมและทักษะ ICT ตั้งเป้าหมายไม่น้อยกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี
วันที่ 8 เมษายน 2565 เวลา 14.00 น. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการความร่วมมือการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัล (MOU) ณ หอประชุมสายลม 5021 อาคารหอประชุม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ายประทีป ทรงลำยอง อธิบดี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้กล่าวถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวว่าการบูรณาการความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นนโยบายหลักประการหนึ่งของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงกำชับให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวโดยตระหนักว่าภาครัฐและเอกชน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาแรงงานและประเทศในทุกด้าน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ก็เช่นกันโดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันในการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ผู้มีรายได้น้อย และแรงงานนอกระบบ เพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่สังคมดิจิทัล โดยสอดคล้องกับประกาศกสทช. เรื่อง แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะความรู้ด้าน ICT แก่ประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 คน และการพัฒนาและสร้างทักษะการใช้งาน ICT และการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตแก่กลุ่มเป้าหมาย
นายประทีป กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือดังกล่าวนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการฝึกอบรมอาชีพเสริม “หลักสูตรการสร้างโอกาสและสร้างรายได้ผ่านเทคโนโลยีกับการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัล” โดยการฝึกอบรมมุ่งเน้นนำความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมายและจริยธรรม ความปลอดภัย ไซเบอร์และการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีด้านการตลาดดิจิทัล การสมัครแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ การลงขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น เป็นการเสริมสร้างศักยภาพผู้เข้ารับการอบรม ให้มีทักษะการใช้งาน ICT ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนและชุมชนอีกด้วย และยังพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยสอดคล้องระบบเทคโนโลยี ICT ในปัจจุบันอยู่เสมอ โดยดำเนินการจัดฝึกอบรมตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติให้จัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ เช่น Zoom Microsoft Team และ Webex ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง มุ่งเน้นผู้ด้อยโอกาสพื้นที่ชายขอบในจังหวัดต่างๆ ตั้งเป้าฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 20,000 คน ภายในระยะเวลา 2 ปี (2565-2566)
“อีกหนึ่งความร่วมมือที่ดีที่ช่วยเสริมสร้างความเท่าเทียมทางสังคม เป็นการสร้างโอกาสและการพัฒนาศักยภาพให้แก่ประชาชน กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงและใช้งานบริการโทรคมนาคมพื้นฐานและมีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินชีวิตประจำวันและประกอบอาชีพสร้างรายได้แก่ตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน โดยผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือโทรสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 4” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว