จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้มีการส่งข้อความมาร้องเรียนกับ Top News ว่า หลังจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ประกาศให้ปิดโรงงานแห่งหนึ่งย่านราษฎร์บูรณะ เนื่องจากพบว่ามีคลัสเตอร์ใหม่ แต่โรงงานดังกล่าวยังไม่มีการปิด ซ้ำยังสั่งให้พนักงานแต่งชุดไปรเวทมาทำงาน ห้ามใส่ชุดยูนิฟอร์มเด็ดขาด รวมทั้งย่านนั้นเป็นแหล่งชุมชน ตลาด และโรงเรียนหลายจุด
วันที่ 14 มิ.ย. น.ส.อธิศรี วุฒิภาคภักดี ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ เปิดเผยว่า หลังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ระบุ ถึงบริษัท ฮงเส็งการทอ จำกัด ซอยสุขสวัสดิ์ 30 แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ เป็นคลัสเตอร์เฝ้าระวังใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทางสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ และศูนย์บริการสาธารณสุข58 ล้อม-พิมเสน ฟักอุดม จึงได้ดำเนินการเข้าควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยแนะนำให้ทำตาม 3 ขั้นตอนดังนี้
1.ให้สถานประกอบการปิดแผนกที่พบผู้ติดเชื้อเป็นเวลา 3 วัน เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคตามมาตรการ / จัดการสุขลักษณะอาคารสถานที่ให้กำหนดทางเข้าออกของสถานประกอบการอย่างชัดเจน / คัดกรองผู้ปฏิบัติงานทุกครั้งที่เข้าออกสถานประกอบการ / เพิ่มมาตรการติดตามข้อมูลของผู้ปฏิบัติงาน โดยให้ควบคุมการเข้าออกสถานที่ด้วยการบันทึกข้อมูล / การจัดให้มีจุดล้างมือ พร้อมสบู่เหลว และเจลแอลกอฮอล์ / เน้นทำความสะอาดพื้นที่บริเวณพื้นผิวห้องน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการสัมผัสร่วมกัน ด้วยน้ำยาทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค
2.ให้บริษัทควบคุมพนักงานทุกคน เน้นให้สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน / จัดสถานที่ปฏิบัติงานไม่ให้แออัด โดยให้ผู้ปฏิบัติงานมีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร / งดการรับประทานอาหารเป็นกลุ่ม และยกเลิกการให้บริการตู้กดน้ำดื่มภายในบริเวณโรงงาน รวมทั้งปรับเปลี่ยนเป็นการแจกขวดน้ำให้กับพนักงานแทน
3.ทางศูนย์บริการสาธารณสุข58 ล้อม-พิมเสน ฟักอุดมและสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ ได้ดำเนินการสอบสวนโรค เพื่อค้นหาและคัดแยกผู้ติดเชื้อ ผู้เสี่ยงสูงและพูดเสียงต่ำ แล้วโดยให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนผู้ที่สัมผัส หรือมีความเสี่ยงสูงได้นำเข้าคัดกรองหาเชื้อ รวมทั้งได้นำผู้เสี่ยงสูงทั้งหมดเข้ากักตัวภายในสถานที่ที่ทางบริษัทกำหนดไว้แล้ว เพื่อความสะดวกในการควบคุม ไม่ให้ผู้เสี่ยงสูงออกมาภายนอกสถานที่กักตัว โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดหาอาหารให้กับผู้กับตัวทุกคน สำหรับผู้เสี่ยงต่ำมี จำนวน 300 ราย ได้ดำเนินการตรวจคัดกรอง โดยวิธีตรวจน้ำลายทุกคนแล้ว
โดยหลังจากนี้ตนจะประชุมติดตามโรงงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างกังวลใจกับสถานการณ์ในขณะนี้ และวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรงงานดังกล่าวด้วย
ส่วนกรณีที่ประชาชนสอบถามเข้ามาว่าในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ มีคลัสเตอร์จุดไหนบ้าง หรือมีผู้ติดเชื้อกี่ราย หรือมีผู้เสี่ยงสูงกี่รายนั้น อยากจะให้ติดต่อสอบถามไปที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.โดยตรง เพราะจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่า
ขณะเดียวกันได้พบกับ นายลอย(นามสมมติ) ชาวบ้านที่พักอาศัยข้างโรงงาน เล่าว่า สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปลายเดือนพ.ค.64 ที่ผ่านมา มีการพูดกันปากต่อปากว่าภายในโรงงานทอผ้ามีคนงานพม่าติดพลาสเตอร์กว่า 200 คน ทางโรงงานจึงนำตัวผู้ป่วยทั้งหมดไปรักษา แต่ตนไม่ทราบรายละเอียดว่ารักษาที่ไหน หรืออย่างไร หลังจากนั้นทางโรงงานก็มีคำสั่งให้พนักงานทุกคนใส่ชุดไปรเวทมาทำงาน โดยห้ามใส่ยูนิฟอร์มโดยเด็ดขาด และหากใครถามก็ให้บอกว่าโรงงานหยุด ซึ่งแท้จริงแล้วพนักงานยังมาทำงานตามปกติ รวมทั้งหากใครที่จะลางานก็มีสิทธิ์จะถูกไล่ออกสูง
ในฐานะที่อยู่บริเวณนี้มีความกังวลว่าจะติดเชื้อหรือไม่นั้น ส่วนตัวก็รู้สึกกังวล แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าประชาชนที่อยู่ในย่านนี้ ติดเชื้อค่อนข้างเยอะ แต่ไม่มีการออกมา ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเลย ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พึ่งจะได้มีการตรวจหาเชื้อให้กับประชาชนในบริเวณนี้ ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อบางส่วน แต่ตนก็ไม่รู้ว่ามีการดำเนินการอย่างไรต่อ รวมทั้งไม่มีการแจ้งว่ายอดผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ และไม่ติดเชื้อเท่าไหร่ จึงไม่มีใครทราบข้อมูลในส่วนนี้เลย
ส่วนตัวมองว่าอยากให้โรงงานทอผ้าปิดลง และมีคำสั่งให้พนักงานทุกคนกักตัว เพื่อรอดูอาการจะดีกว่า หากสั่งปิดโรงงาน โดยไม่มีการควบคุม พนักงานหลายๆคนก็จะไปหาสมัครงานในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจะทำให้เชื้อกระจายออกไปอีก จึงขอให้โรงงานดังกล่าวประกาศปิดชั่วคราว เพื่อป้องกันการกระจายคลัสเตอร์ต่อไปอีก และอยากให้แจ้งให้ชัดเจนว่ามีผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ หรือกักตัวเท่าไหร่
ส่วนกรณีชาวบ้านไปร้องเรียนกรุงเทพมหานครว่า คูน้ำมีสีแดงนั้น ที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีการโทรศัพท์ไปร้องเรียนที่กรุงเทพมหานครว่า คูน้ำดังกล่าวมีสีแดง ซึ่งได้รับคำตอบว่า สาเหตุที่น้ำสีแดงก็มาจากชาวบ้าน ที่อยู่บริเวณดังกล่าว ซึ่งตนมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ชาวบ้านไม่น่าจะทำได้ขนาดนี้ อีกอย่างการที่น้ำมีสีแดง ไม่ได้เกิดเป็นครั้งคราว แต่เกิดขึ้นมาเป็นเดือนเป็นปีแล้ว จึงมองว่าที่น้ำมีสีแดง อาจจะมีจากน้ำฉีดผ้า
นอกจากนี้ตนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากยังไม่มั่นใจในวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนแต่ละครั่ง ก็เป็นเพียงการวัดความดัน และซักประวัติ แต่ไม่ได้มีการตรวจร่างกายโดยละเอียด จึงกลัวว่าหากฉีดวัคซีนไปอาจจะเกิดผลข้างเคียง หรืออาการใดๆได้ หรือถ้าจะต้องฉีดจริงๆ อยากให้มีการตรวจร่างกายโดยละเอียดก่อน
ส่วนกรณีที่วัคซีนไม่พอนั้น ตนมองว่าอยากให้แต่ละหน่วยงานออกมาแจ้งเลยว่า วัคซีนมีเท่าไหร่ แจกไปจุดไหนเท่าไหร่ ไม่ใช่ประชาสัมพันธิ์ว่าวัคซีนมี แต่จริงๆแล้วไม่มี มันก็ไม่ใช่