“ธณิกานต์” ตัวแทนผู้นำหญิงไทย คว้ารางวัล “พลังสตรี” จาก เครือข่าย WomenPower

กดติดตาม TOP NEWS

"ธณิกานต์" ตัวแทนผู้นำหญิงไทย คว้ารางวัล “พลังสตรี” จาก เครือข่าย WomenPower

น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์  ส.ส. กทม.เขตบางซื่อ-ดุสิต และที่ปรึกษาหัวหน้าภาคด้านสิทธิและสวัสดิการสตรี พรรคพลังประชารัฐ ได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์ และรับรางวัล Guest of Honour ในงานพลังสตรี และงานมอบรางวัล Women Power Awards แก่ผู้นำสตรีที่มีความสามารถหลากหลายสาขา โดย ดร.ดีเค บัคชี ผู้ก่อตั้งโครงการ #WomenPower ร่วมกับสถาบันคานธี เป็นผู้จัดกิจกรรม มี นางสุจิตรา ทุไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เป็นประธาน

 

น.ส.ธณิกานต์ กล่าวว่า ปีนี้ทั่วโลกมุ่งต่อสู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ ด้วยการยกระดับความร่วมมือในการยุติการเลือกปฏิบัติที่มีต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกรูปแบบ ทั้งคำพูดและการกระทำ รวมทั้งขจัดความรุนแรงทั้งในที่สาธารณะและที่ส่วนบุคคล สตรีทั่วโลกต้องต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การบูลลี่ทางสังคม กลั่นแกล้ง สร้างกระแสให้เกิดความเกลียดชัง เสียหาย อับอาย และเป็นทุกข์ หรือ การถูกข่มเหง หรือ ลวนลาม จากผู้บังคับบัญชา หรือ ผู้มีอำนาจมากกว่า

สำหรับประเทศไทย มีตัวเลขแสดงความความคืบหน้าด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศ (Gender Euality) เห็นได้ชัด เช่น ฝ่ายบริหาร กระทรวงศึกษาธิการ มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 3 คน เป็นผู้หญิงทั้งหมด, ฝ่ายนิติบัญญัติ ในรัฐสภามีสมาชิกที่เป็นผู้หญิงอยู่ประมาณ 16% เพิ่มขึ้นจากก่อนเลือกตั้งประมาณ 6%, ฝ่ายตุลาการ ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบันเป็นผู้หญิง, หรือ ภาคเอกชนที่มีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคนก็ขึ้นจาก 74% เป็น 86%   ดังนั้นนอกจากประเด็นความไม่เท่าเทียมในมิติระหว่างเพศ (Male&Female) ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในประเทศไทยยังมีประเด็นความไม่เท่าเทียมในมิติระบบอาวุโส หรือ ซีเนียริตี้ (Seniority) และระบบการสืบทอดทายาทธุรกิจ ที่ถูกเลือกมาตั้งแต่เกิด ดังนั้นโจทย์สำคัญ คือ การเติมพลังให้ผู้หญิงกล้าที่จะเป็นผู้นำมากขึ้น กล้านำเสนอไอเดีย ในสังคมไทยที่มักจะขี้เกรงใจ ขี้กลัว ไม่กล้าแสดงความเห็น ทำอย่างไรให้ผู้หญิงกล้านำเสนอไอเดีย หรือความเห็นต่างในที่ประชุม หรือที่เรียกว่ามีเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) และได้รับการฟังด้วยความเคารพ ไม่ดูถูกไอเดียที่เห็นต่าง

 

 

น.ส.ธณิกานต์ กล่าวอีกว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาบุคคลให้เป็นทรัพยากรหรือผู้นำคุณภาพของประเทศได้ จึงก่อตั้งโครงการ Future Leaders: Psychology Management Program เป็นเวิร์คช้อป สัมมนาเชิงปฏิบัติการจิตวิทยาผู้นำยุคใหม่ ภายใต้บริบทการบริหารความขัดแย้ง และการรับมือจัดการโลกแห่งอนาคต เป็นโครงการนำร่องเปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม (Equal Education) มากขึ้น พัฒนาผู้หญิงในส่วนของการแยกแยะอารมณ์ความเชื่อความรู้สึกออกจากเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้หญิงรู้สึกเซนซิทีฟน้อยลง กล้ามากขึ้น เอนจอยมากขึ้น และเกิดการจัดการได้สำเร็จมากขึ้น ทั้งเรื่องชีวิตและการทำงาน โดยในอนาคตตั้งใจจัดเป็น Leaders Education Camp ทั่วประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศและการลดความเหลื่อมล้ำ นับเป็นความท้าทายใหม่เพื่อให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น