วันที่ 29 ธันวาคม 2564–“ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย” โฆษก รมช.ศธ. ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เผยว่าปี 2564 สำรวจนโยบายคุณหญิงกัลยาพบ Coding โดดเด่น โดนใจครู รวมทั้งสื่อมวลชนให้ความสนใจตอบรับเป็นอย่างดีพร้อมเปิดผลสำรวจ ศูนย์บริการวิชาการ “นิด้า” ให้คุณหญิงกัลยาเด่นสุดในเรื่องการขับเคลื่อน Coding พัฒนาและปฏิรูปการศึกษา ชี้คนส่วนใหญ่รับรู้โครงการหรือกิจกรรมด้าน Coding โดยเฉพาะเรื่องการอบรมครูและหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษา
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) กล่าวว่า ตลอดปี 2564 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายหลายส่วน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะเรื่องการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Coding ซึ่งคุณหญิงกัลยาเป็นผู้นำนโยบาย Coding ให้เป็นนโยบายรัฐบาล และผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติจนเกิดคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) แห่งชาติ ถือเป็นนโยบายที่ปฏิรูปโดยตรงถึงเยาวชนไทย และเป็นการวางรากฐานไปสู่การจัดการเรียนรู้แบบใหม่แบบฐานสมรรถนะ Coding ยังได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมไปถึงสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง จนขยายผลออกไปในวงกว้าง
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนนโยบายภายใต้ความรับผิดชอบของคุณหญิงกัลยา มีประเด็นที่มีความก้าวหน้าหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบาย Coding ที่แม้จะเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ก็ตาม แต่ก็ได้รับความสนใจ มีการจัดอบรมครู ซึ่งประสบความสำเร็จมาก มีครูสนใจสมัครเข้าร่วมอบรมกว่า 2 แสนคน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทั้งประเทศมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการประยุกต์ใช้ Coding ทั้งในภาคการศึกษา และอีกหลาย ๆ ภาคส่วน ภายใต้แนวคิด Coding for All
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย Coding ในปี 2564 นอกจากจะได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนแล้ว ศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย Coding จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 4 ภูมิภาค คือ ภาคกลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ รวม 20 จังหวัด โดยทำการส่งแบบสำรวจผ่าน E-mail จำนวน 4,875 ราย มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 476 ราย คิดเป็นระดับความเชื่อมั่นของผลสำรวจร้อยละ 95.57
นางดรุณวรรณ ได้เปิดเผยว่า ศูนย์บริการวิชาการ “นิด้า” ได้สำรวจความคิดเห็นการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ใน 8 ประเด็นคือ 1.การรับรู้โครงการหรือกิจกรรมด้าน Coding 2.การรับรู้เกี่ยวกับ Coding 3.ระดับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง Coding 4.ระดับความคิดเห็นต่อการนำเรื่อง Coding มาใช้ 5.ประเด็นความกังวลเกี่ยวกับ Coding ที่ไทยจะนำมาใช้ในระบบการศึกษา 6.ประโยชน์และความต้องการการสนับสนุนต่อการนำเรื่อง Coding มาพัฒนาใช้ในระบบการศึกษา 7.ช่องทางการสื่อสารที่ต้องการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมด้าน Coding และ 8.ระดับความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดความก้าวหน้าของกระทรวงศึกษาธิการ ท้ายที่สุดคือการสอบถามเรื่องจุดเด่นของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ผลสำรวจความคิดเห็น พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจให้ความเห็นต่อจุดเด่นของดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช คือ การขับเคลื่อน coding มากที่สุด ร้อยละ 27.68 รองลงมาได้แก่ พัฒนาและปฏิรูปการศึกษา
“คุณหญิงกล่าวย้ำเสมอว่า COVID cannot stop CODING นั่นคือ แม้จะมีสถานการณ์การระบาดโควิด ก็ไม่สามารถหยุดการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องโค้ดดิ้งได้ ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาตื่นตัวในการเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้นักเรียนมีกระบวนการคิดอย่างมีลำดับขั้นตอน เป็นระบบ พัฒนาทักษะการคิดในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถปรับการเรียนรู้ได้ในชีวิตประจำวันของตนเอง ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ด้านกระบวนการคิดและวางแผน ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกเรื่องภายใต้แนวทาง Coding for All” นางดรุณวรรณ กล่าว