กลายเป็นที่จับตามองอีกครั้ง จากการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาด
ระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวนเงินถึง 7 แสนล้านบาท
พลันปรากฎข่าวไฟเขียวกู้เงินอีก 7 แสนล้าน บรรดาขาประจำที่จ้องรุมวิจารณ์การทำงานรัฐบาลทุกเม็ด ออกมาถล่มทันที อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แกนนำพรรคไทยสร้างไทย
“คุณหญิงหน่อย” โพสต์ข้อความว่า ครม.กระทำการกู้เงินแบบลับๆ ทำเอกสารแค่ 4 แผ่น พร้อมกับโชว์ไอเดียว่า รัฐบาลควรทำ 3 สิ่งก่อนกู้เงินลับๆครั้งนี้ด้วย
“3 สิ่งที่รัฐบาลควรทำก่อนกู้เงินแบบลับๆ ที่ทำเอกสารแค่ 4 แผ่น ในการอนุมัติสร้างหนี้ให้คนไทยเพิ่มอีก 700,000 ล้านบาท เบื้องต้นเห็นด้วยกับการที่เราต้องอัดเม็ดเงินเพิ่มเพื่อเยียวยาประชาชน ธุรกิจที่เดือดร้อน และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่สำคัญที่สุด คือ การหยุดยั้งการระบาดโควิด-19 อย่างถาวร ด้วยการทุ่มงบประมาณจัดซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพดีให้เพียงพอกับประชาชนอย่างรวดเร็ว…” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
3 สิ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์ออกมาชิงตัดหน้าเสนอรัฐบาลมีอะไรบ้าง
หนึ่ง ตัดงบปี 2565 ที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน ที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้คนไทย ออกไปทั้งหมดก่อนเช่นงบกระทรวงกลาโหมที่มีสูงถึง 203,282 ล้าน
สอง เงินกู้ใหม่ ต้องไม่เป็นการตี ’เช็คเปล่า’ เหมือนเงินกู้ 1 ล้านล้านรอบที่แล้ว
สาม ต้องใช้เงินกู้ของประชาชนทุกบาทอย่างโปร่งใส ซึ่งแม้จะคาดหวังได้ยากจากรัฐบาลนี้ (เพราะแค่ขั้นตอนแรกในการอนุมัติงบนี้ก็แอบทำอย่างลับที่สุดแล้ว)
นอกจากคุณหญิงสุดารัตน์ ที่ออกมาดักทางรัฐบาล พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้ตอบสื่อเมื่อถามถึงการตรวจสอบเงินกู้ 7 แสนล้านอย่างไรว่า ก็ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่าเมื่อเงินที่กู้มาเอาไปทำอะไรบ้าง หากไม่ชอบมาพากล รัฐบาลทำให้เสียหายอีก ก็จะนำมาเป็นวาระ วอนรัฐบาลอย่าทำให้มีปัญหา บริหารงานอย่างตรงไปตรงมา เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
…….
คราวนี้ มาไล่ดูตามข้อเท็จจริง เบื้องหลังการออกพรก.กู้เงิน เกิดขึ้นจากที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ซึ่งอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องจัดประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต ซึ่งเข้าข่ายกรณีเหตุจำเป็นและฉุกเฉิน กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องเสนอ ออกพ.รก.การกู้เงิน เข้าเป็นวาระลับริมแดง
พิจารณาเอกสารที่นำเสนอต่อครม. มีทั้งสิ้น 7 แผ่น ไม่ใช่ 4 แผ่นตามที่คุณหญิงสุดารัตน์ ออกมาตีกินแต่อย่างใด
หากพิจารณาเหตุผลความจำเป็นของการออกพรก.กู้เงิน โดยละเอียด อาจตอบคำถาม 3 สิ่งที่รัฐบาลควรทำก่อนกู้เงิน ตามที่คุณหญิงสุดารัตน์ ใช้โอกาสชิงพื้นที่ข่าว
กระทรวงการคลังให้เหตุผลความจำเป็นต้องออกพ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาทไว้ดังนี้
สืบเนื่องจากครม.มีมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 63 ได้อนุมัติร่างพ.ร.ก. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และต่อมาพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจาก การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19) ได้มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563โดยกำหนดให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือ /เงินตราต่างประเทศ วงเงินไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท โดยจะต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2564
1 ล้านล้านล็อตแรกใช้จ่ายอะไรบ้าง
ทั้งนี้ ณ วันที่ 11 พ.ค. 64 ครม.มีมติอนุมัติโครงการที่เสนอ ขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 แล้ว จำนวน 287 โครงการ กรอบวงเงินกู้ 833,475 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ละระลอกในช่วงปี 2563 – 2564
โดยเป็นการช่วยเหลือด้านการแพทย์ และสาธารณสุข การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และการฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม
ปัจจุบันได้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มต่างๆ ผ่านโครงการเยียวยา เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 42.47 ล้านคน
โครงการเราชนะ จำนวน 32.90 ล้านคน
โครงการเราไม่ทิ้งกัน จำนวน 15.26 ล้านคน
โครงการเรารักกัน จำนวน 8.1 ล้านคน และการฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม
โดยมีผู้รับผลประโยชน์ผ่านการดำเนินโครงการคนละครึ่ง จำนวน 14.79 ล้านคน และเราเที่ยวด้วยกัน จำนวน 5.77 ล้านคน โดยมีกรอบวงเงินกู้คงเหลือ จำนวน 166,525 ล้านบาท
เหลือแค่ 1.6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 11 พ.ค.64 เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและ ผู้ประกอบการจากการระบาดของ COVID-19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ซึ่งมีความจำเป็นต้องนำเงิน ส่วนที่เหลือไปใช้ตามวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของ COVID-19 อีกประมาณ 150,000 ล้านบาท จึงทำให้มีวงเงินคงเหลือจำนวน 16,525 ล้านบาท และ คาดว่าจะมีการคืนกรอบวงเงินกู้เหลือจ่ายบางส่วน
โดยคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้จะพิจารณาให้กับ หน่วยงานอื่นต่อไป ซึ่งจากการดำเนินมาตรการทางการคลังข้างต้นภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ส่งผลให้ เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวร้อยละ 6.1 ซึ่งต่ำกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ประมาณร้อยละ 8
นอกจากกระทรวงการคลัง แจกแจงการออกพ.ร.ก.กู้เงินล็อตแรก 1 ล้านล้านบาท นำไปใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆโดยละเอียดแล้ว พร้อมกับยอมรับมีวงเงินคงเหลือจำนวน 16,525 ล้านบาท
กระทรวงการคลังยังได้อธิบายต่อไปว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลกยังมีความยืดเยื้อ อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 มีลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) หลายจุด ทั้งในแหล่งที่พักอาศัย สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ สาธารณะ และในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างและมีความรุนแรง มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ณ วันที่ 17 พ.ค.64 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 110,082 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 43,268 ราย และเสียชีวิตจำนวน 614 ราย
คาดการณ์ แม้กระจายวัคซีนแล้ว แต่ศก.ยังหดตัว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลพยายามจัดหาและกระจายวัคซีนให้ครอบคลุม ประชากรมากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ยังมีความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงไม่สามารถใช้เป็น หลักประกันว่าจะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บ รายได้ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการกระจายวัคซีน ของหลายประเทศ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรายได้หลักของประเทศซึ่งมาจากภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่า จำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2564 จะอยู่ที่ 3.2 ล้านคน ลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมที่ 5 ล้านคน หรือลดลง ประมาณร้อยละ 53 จากปี 2563 และคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงประมาณ 440,000 ล้านบาท จากปี 2563
นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้คาดการณ์ผลกระทบจากการระบาด ของ COVID-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยว่า จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัว ร้อยละ 2.3 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย
การระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นตัว ของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2,387,425 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการเอกสารงบประมาณ 343,575 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.5 และต่ำกว่าปี 2562 จำนวน 178,691 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.9
สำหรับ สถานการณ์การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาการหดตัว ของเศรษฐกิจในปี 2563 และภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในอนาคต รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหา จำกัดการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ ของ COVID-19
ข้อจำกัดของการใช้งบปี64-65 มากู้สถานการณ์
แต่เนื่องจากแหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 มีข้อจำกัด อาทิ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีกระบวนการและใช้เวลา การดำเนินงาน ซึ่งอาจไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ประกอบกับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล งบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะปี48 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใกล้เต็มกรอบวงเงินแล้ว
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และเพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารสภาพคล่องทางการคลังในกรณีที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับความเสียหาย และเตรียมการรองรับความเสียหายใหม่ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ โดยการเตรียมความพร้อมด้านการเงินล่วงหน้า เพื่อให้ทันต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบ ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวและยากต่อการแก้ไข
นอกจากนั้น ภายหลังการระบาดของ COVID-19 ภาครัฐจำเป็นต้องมีการลงทุน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าเมื่อสถานการณ์การระบาดสิ้นสุดลง และสถานการณ์ต่างๆ กลับเข้าสู่ ภาวะปกติ ธุรกิจเอกชน ภาคการผลิต และภาคการบริการจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการกลับมาดำเนินการ ได้ตามปกติ
เปิดกรอบการใช้จ่าย 7 แสนล้านบาท
ดังนั้น ในช่วงรอยต่อดังกล่าวที่การลงทุนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว เต็มศักยภาพ ภาครัฐจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเห็นควรกำหนดกรอบวงเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ไม่เกิน 700,000 ล้านบาท สำหรับใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค และวัคซีนที่ยังมีความจำเป็นในช่วงที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการกระจายวัคซีนให้กับประชากรตามแผน และการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและ ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจ รักษาการจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่องในระยะ หนึ่งปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สำหรับการบริหารความเสี่ยงของผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ ของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้และสภาพคล่องของรัฐบาล
โดยกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่ากรอบวงเงินที่เสนอจะช่วยทำให้เศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ สศค. ประมาณไว้อีก ประมาณร้อยละ 1.5
โดยมีกรอบการใช้จ่ายเงิน ดังนี้
1.) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-๑๙ วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับ การบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19
2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-๑๙ วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อมให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องได้
3 ) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 วงเงิน 270,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ แผนงาน/โครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นการลงทุน และการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ตอบข้อคาใจ “ทำไมไม่ใช้แหล่งเงินปี 64-65″
คราวนี้ ข้อวิจารณ์ทำไมไม่ใช้งบที่เหลืออยู่จากปีที่ผ่านมานำมาใช้จ่าย กระทรวงการคลังก็ได้นำเสนอไว้คราวนี้ด้วยว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาแหล่งเงินงบประมาณที่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 พบว่ามีข้อจำกัด ดังนี้
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้เสนอตั้งงบกลาง รายการที่ใช้รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย
1.1) รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19 ซึ่งได้ตั้งกรอบวงเงินไว้จำนวน 40,325.6 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ใช้จ่าย งบประมาณดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19 ตลอดจนค่าใช้จ่าย ในการจัดซื้อวัคซีน ซึ่งปัจจุบันได้มีการทยอยเบิกจ่ายงบประมาณรายการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงอาจไม่เพียงพอ สำหรับการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ การแพร่ระบาดได้
1.2) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งได้ตั้งกรอบวงเงินไว้ จำนวน 99,000 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ช่วงต้นปีงบประมาณ64 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติและสาธารณภัยต่าง ๆ อีกทั้ง เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น เป็นต้น ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ64
- การโอนงบประมาณ รายจ่ายประจำปี64 ของส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ ในรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในปีงบประมาณ64 อาทิ รายการ งบประจำอื่นที่ไม่จำเป็น และรายการงบลงทุนที่ยังไม่มีการผูกพันสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง มาไว้เพิ่มเติมในรายการ งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พบว่า ปีงบประมาณ64 สำนักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยรับงบประมาณ ตามแผนการใช้งบประมาณจริงในแต่ละไตรมาส จึงทำให้ หน่วยรับงบประมาณไม่มีเงินคงเหลือที่จะนำมาจัดทำพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี64
- เงินทุนสำรองจ่ายตามมาตรา 45 แห่งพ.ร.บ.งบประมาณปี61 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้วจำนวน 25,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงิน คงเหลือ จำนวน 25,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับรองรับการแก้ไขปัญหาจากการระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำเป็นต้องสำรองไว้เป็นวงเงินฉุกเฉินเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ64 ไม่สามารถ ดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 64 มีข้อจำกัด และได้รับผลกระทบ จากการระบาดของ COVID-19 ประกอบกับปัจจุบันวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปีงบประมาณ64 ตามพ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะปี48 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เหลือกรอบวงเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำกัด และอาจจำเป็นต้องใช้วงเงินกู้ดังกล่าวในกรณีการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลของรัฐบาลไม่เป็นไปตามประมาณการอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ดังนั้น รัฐบาล จึงไม่สามารถดำเนินการจัดหางบประมาณผ่านแนวทางดังกล่าวได้
- การใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อรองรับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อาจไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2564 จึงไม่อาจใช้รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นในกรณีเร่งด่วนได้
ทั้งหมดนี้คือคำตอบ “ทำไมต้องกู้เพิ่ม 7 แสนล้านบาท” ทราบแล้วเปลี่ยน