พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติครั้งที่ 2/2564 เรื่องบูรณาการเชื่อมโยงจัดการน้ำทั่วไทยด้วย 10 มาตรการรับมือฝนปี 64 กล่าวภายหลังการประชุม ว่า จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักเร่งจัดทำแผนปฎิบัติการเชิงพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ให้เกิดการเชื่อมโยง ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกำชับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำการใช้น้ำเพื่อลดการสูญเสียน้ำให้มากที่สุด โดยเน้นการบริหารจัดการใช้น้ำฝนเป็นหลัก พร้อมเร่งเก็บกักน้ำบนดินและใต้ดินดินภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนน้อย พร้อมย้ำกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือน น้ำหลากดินถล่ม พร้อมทบทวนแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องของกับสถานการณ์
พล.อ.ประวิตร ยังมอบหมายให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบความพร้อมของระบบระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ อาคารบังคับน้ำและแนวคันป้องกันน้ำโดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือในพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที รวมถึงให้มีการสร้างการรับรู้ทั้ง 10 มาตรการอย่างทั่วถึง
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าในสองประเด็น คือผลการดำเนินงานตามงบกลางปี 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง กักเก็บน้ำฤดูฝนและป้องกันน้ำท่วม รวม 23,286 รายการโดยมี 15 หน่วยงานร่วมดำเนินการ พบว่าด้านแหล่งน้ำ 23,257 แห่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 14,966 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ 6,304 แห่งยกเลิก 1987 แห่งและด้านครุภัณฑ์ 29 รายการขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 10 รายการอยู่ระหว่างดำเนินการ 18 รายการและยกเลิก 1 รายการ สำหรับส่วนที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ จะมีการเร่งรัดให้เสร็จภายในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งหากโครงการด้านแหล่งน้ำดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะมีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้นถึง 702 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำบาดาล 47 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำดิบผลิตประปา 61 ลูกบาศก์เมตรพื้นที่รับประโยชน์กว่า 7 ล้านไร่ และครัวเรือนได้รับประโยชน์ 3 ล้านครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 2 ล้านไร่ ผู้ใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้น 5 แสนราย มีการจ้างแรงงานเกือบ 2 แสนราย และกำจัดปริมาณวัชพืชได้ 7 ล้านตัน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า การรับมือสถานการณ์ฤดูฝนปี 2564 แต่ละหน่วยงานได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ มีการคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ พบว่าเดือนกันยายน มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุดจำนวน 1,012 ตำบล 290 อำเภอ 56 จังหวัด ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเนื่องจากฝนน้อยกว่าค่าปกติในเดือนกรกฎาคม มีพื้นที่เสี่ยงมากที่สุดจำนวน 1,504 ตำบล 239 อำเภอ 29 จังหวัด และมีการดำเนินการเตรียมแก้มลิง เพื่อรองรับน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมาตรรวม 13.04 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้ดำเนินการขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวาเพื่อแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ