No data was found

BBC เผยไทยชี้แจง UN ม 112 ช่วยปกป้องสถาบันกษัตริย์และความมั่นคงชาติ

กดติดตาม TOP NEWS

คณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้ชี้แจงเรื่องการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อที่ประชุม "การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะ" (Universal Periodic Review หรือ UPR) ครั้งที่ 3 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยชี้ว่ากฎหมายมาตรานี้ช่วยปกป้องสถาบันกษัตริย์และความมั่นคงของชาติ อีกทั้งมีการใช้กฎหมายนี้ด้วยความระมัดระวัง

ไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่คณะทำงาน UPR กำลังทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในการประชุมสมัยล่าสุดที่ดำเนินอยู่ระหว่าง 1-12 พ.ย. โดยก่อนหน้านี้ไทยได้เข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะครั้งที่ 1 และ 2 ไปแล้ว เมื่อเดือน ต.ค. 2554 และ พ.ค. 2559 ตามลำดับ
ในกระบวนการ UPR ครั้งที่ 3 นี้ มีขึ้นในวันที่ 10 พ.ย. โดยคณะผู้แทนของไทยซึ่งนำโดยนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ต้องตอบคำถามของนานาชาติเกี่ยวกับความคืบหน้าของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้แทนชาติประชาธิปไตยตะวันตก ได้แก่ เบลเยียม แคนาดา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ได้เรียกร้องในที่ประชุมให้ไทยดำเนินการแก้ไขหรือทบทวนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่มักเรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยชี้ว่ากฎหมายมาตรานี้เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก
ขณะที่สหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อ “การขยายขอบเขต” การใช้กฎหมายนี้ และผลกระทบที่มีต่อเสรีภาพในการแสดงออก

อย่างไรก็ตาม นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “สะท้อนถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักของชาติ ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงจากคนไทยส่วนใหญ่”

“การดำรงอยู่ของมัน (กฎหมายนี้) มีความเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการพิทักษ์สถาบันสำคัญต่าง ๆ ของชาติ และความมั่นคงของชาติ” เขากล่าว
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า นับแต่เกิดการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยกลุ่มนักศึกษาเมื่อปีก่อน มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 156 คน ซึ่งรวมถึงเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 13 คน

การเข้าชี้แจงในกระบวนการ UPR ของไทยครั้งนี้มีขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งมีนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้ปราศรัย เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทย ว่า “พระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และจะดำรงอยู่ร่วมกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทย เห็นพ้องต้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทย และถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้”

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า ภายใต้กลไก UPR ประเทศที่ถูกทบทวนสถานการณ์จะต้องจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของตนเองนำเสนอต่อที่ประชุม ส่วนภาคประชาสังคมก็จะจัดทำรายงานคู่ขนานเพื่อให้ชาติสมาชิกอื่น ๆ ได้รับทราบข้อเท็จจริงอีกด้านและนำไปประกอบการทำข้อเสนอแนะที่จะเสนอต่อรัฐบาลไทย ขณะที่ประเทศที่ถูกประเมินจะมีทางเลือกว่าตกลงจะนำข้อเสนอแนะนั้นไปปรับใช้ หรือเพียงแค่รับทราบข้อเสนอแนะก็ได้

ในกระบวนการ UPR ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาของไทยในปี 2554 และ 2559 ประเด็นปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกชาติสมาชิกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้ง โดยมีข้อเสนอแนะตั้งแต่การให้ปรับแก้ไขลดโทษ ไปจนถึงการให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) อย่างไรก็ตาม ผู้แทนไทยก็ไม่เคยรับข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับมาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง

ไอลอว์ ระบุว่า รายงานของรัฐบาลไทยที่นำเสนอต่อที่ประชุม UPR ครั้งนี้ระบุว่า ไทยพยายามมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นไปตาม SDG เช่น ประชาธิปไตยและเสรีภาพ รวมถึงมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่นอย่างโคกหนองนา ในด้านที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพทางการเมือง รายงานของรัฐบาลไทยกล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไทยเป็นประเทศที่พระมหากษัตริย์ได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง โดยมาตรา 112 มีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ใช่เพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ส่วนในคดีมาตรา 112 ที่มีความกังวลจากหลายฝ่ายนั้น ก็มีการดำเนินคดีถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมาย (due process of law) และมีการใช้กลไกหลาย ๆ อย่างเพื่อกลั่นกรองคดีรวมถึงยังมีช่องทางในการขอพระราชทางอภัยโทษอีกด้วย

ในการแถลงด้วยวาจาโดยนายธานี ทองภักดี กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองว่า รัฐบาลไทยให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่การใช้เสรีภาพต้องเป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามแก้กฎหมายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ และได้มีความพยายามสร้างเวทีพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ระหว่างวัย นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายที่ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
ในส่วนของข้อแนะนำของชาติสมาชิกที่มีต่อไทย มีทั้งการสนับสนุนร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย การแสดงความกังวลต่อการที่คณะรัฐมนตรีอนุมติร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ

ส่วนประเด็นการขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองก็ได้รับการพูดถึงหลายครั้ง เช่น สหรัฐฯ เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยยกเลิกอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำ ขณะที่ลักเซมเบิร์กแนะนำให้รัฐบาลไทยพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพการแสดงออก เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

เบลเยียมแสดงความกังวลต่อกรณีที่รัฐบาลไทยจับกุมผู้ชุมนุมและแนะนำให้รัฐบาลไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights)
สาธารณรัฐไอร์แลนด์แนะนำให้รัฐบาลไทยยุติการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทางการเมือง ญี่ปุ่นแนะนำให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม
สหราชอาณาจักร แนะนำให้มีการเปิดพื้นที่ให้แก่พลเมือง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึง เยาวชน พลเมือง ทนายความ สื่อมวลชน นักวิชาการ เพื่อให้ได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งการชุมนุมและการรวมกลุ่มได้อย่างเสรีทั้งในโลกออนไลน์และโลกจริง

มาลาวีแนะนำให้รัฐบาลไทยอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของการควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนเกาหลีใต้ แนะนำให้รัฐบาลไทยปรับกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออกให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและประกาศใช้กฎหมายป้องกันการบังคับสูญหาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ชาติสมาชิกหลายประเทศยังเรียกร้องให้ไทยยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิต และส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ระทึก กระบะยางแตกชนเสาไฟเจ็บยกคันรวม 8 ราย มีเด็ก 3 ขวบเจ็บด้วย
ตำรวจพัทยา รวบโจ๋ 17 ชักปืนคู่คู่อริวันสงกรานต์ สารภาพเคยปืนตบอริ ริมหาดจอมเทียน
อันวาร์ ชี้อิหร่านโจมตีอิสราเอล "ชอบธรรม"
กราบหัวใจ จนท.บาดเจ็บ แข็งใจสู้ขับรถฉุกเฉิน รุดช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุ
เกาหลีใต้รำลึก 10 ปีโศกนาฏกรรมเรือเซวอล
นองเลือด! บุคคลปริศนากระหน่ำยิง กลุ่มวัยรุ่นโดนลูกหลง ตาย 1 เจ็บ 3 ล่าสุด ตร.ทราบตัวคนร้ายแล้ว
ตร.ทางหลวงจัดกำลังอำนวยความสะดวก หลังเส้นทางเลี่ยงถนนสายเอเชีย รถหนาแน่น มุ่งหน้าเข้ากทม.
"นิ้วขาด" สุดสยองแต่ต้องมีสติ 4 ข้อเก็บรักษาส่วนขาดต่อคืนได้
"ปู่จ๋าน" แร็พเปอร์ดัง เล่าอุทาหรณ์ชีวิต หลังป่วยหนักจนต้องเข้าไอซียู
ตำรวจเร่งล่าแก๊งโจ๋ห้าวชักปืน 2 กระบอกจ่อคู่อริ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น