คลัง แจงปม ไม่เยียวยาร้านอาหาร

คลังแจงปมไม่เยียวยาร้านอาหาร เหตุมีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว ทั้งสินเชื่อ-พักหนี้

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก ประเด็นข้อวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และข้อเรียกร้องให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2564

จากกรณีที่มีข้อวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด โดยควรนำเม็ดเงินเหล่านี้มาเยียวยาในกลุ่มที่เดือดร้อนจริง ๆ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุม และข้อเรียกร้องให้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลต่อร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทั้ง 3 ระลอกนั้น

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และเตรียมความพร้อมของมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร ในระยะเร่งด่วนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังกล่าว รวมทั้งมาตรการสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลายจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศได้

ภายใต้ข้อจำกัดจากสถานการณ์ตามกล่าวข้างต้น คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จึงได้พิจารณาใช้มาตรการเยียวยาที่ดำเนินการอยู่แล้วและยังไม่สิ้นสุดโครงการ ได้แก่ โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน โดยเพิ่มวงเงินให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน โดยปัจจุบันทั้งสองโครงการมีผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้รับสิทธิ์รวมกันประมาณ 41 ล้านคน ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว ทั้งนี้ การเพิ่มวงเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งสองโครงการจะทำให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็วกว่าการให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่ เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของทั้งสองโครงการที่ภาครัฐมีอยู่ในปัจจุบันได้ทันที ขณะที่การให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงจะต้องทำการสำรวจข้อมูลใหม่ รวมทั้งตรวจสอบและคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบ จึงต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานกว่า และกระบวนการดังกล่าวอาจทำให้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ การเพิ่มวงเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวยังจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจฐานรากจากร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อย รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร จึงเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบรายย่อยในท้องที่อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำหรับโครงการคนละครึ่งระยะ 3 เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ในส่วนของมาตรการด้านการเงิน คณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบ 2 มาตรการ ได้แก่
(1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

(2) มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจของลูกหนี้ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้

(1) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม โดยผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่มีสินเชื่อและไม่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก เฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปีตลอดระยะเวลามาตรการ โดยรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลา 6 เดือน และมีการประกันสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ

(2) มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นขอโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยมีสิทธิเช่าทรัพย์สินเพื่อประกอบธุรกิจต่อไป และมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันโอนหรือระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ในส่วนของมาตรการด้านภาษี รัฐบาลได้ออกมาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ทำบัญชีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่มีความรุนแรงและครอบคลุมทั่วประเทศและสนับสนุนการทำธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงช่วยลดความแออัดและความเสี่ยงจาก COVID-19 อีกทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในมือผู้ประกอบการให้มีมากขึ้นและนานขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ตำรวจ สภ.สัตหีบ" ใจฟู "หนุ่มใหญ่ใจบุญ" มอบทุนปรับปรุง "ตู้ยาม" เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน
"นายกฯอิ๊งค์" ถวายสัตย์ปฏิญาณตน แล้ว ยิ้มตอบสื่อ พรุ่งนี้เริ่มทำงาน ก.วัฒนธรรม
ชาวบ้านล้อมจับโจรขโมย จยย. ผู้ก่อเหตุแกล้งเมา พูดไม่รู้เรื่อง
"ท็อปนิวส์" ขออภัยนำเสนอภาพและคลิปข่าว "โดรน JOUAV" ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
เรือเฟอร์รี่อินโดนีเซียล่มใกล้เกาะบาหลี
โซเชียลสวดยับ “จิรัฏฐ์” เหยียด "สมาคมแม่บ้านทหารอากาศ" ลั่นแรง "อิพวกแม่บ้าน"
"หนุ่มวัย 28" ดับปริศนาคาโรงแรม กับงูเห่าในถุงผ้าที่มัดไว้
คืนเดียว 2 เคส หนุ่มไทยหนีตายจากแก๊งบัญชีม้า เล่าชะตากรรมสุดช้ำในกรุงปอยเปต
"ปตท." ครองบริษัทชั้นนำอันดับ 1 ในไทย ซ้ำได้อันดับ 2 ใน Southeast Asia ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน สะท้อนศักยภาพดำเนินงานเป็นเลิศในระดับสากล
"ปตท." จับมือ บีเอ็นพี พารีบาส์ ลงทุนตราสารหนี้ ESG หนุนภารกิจยั่งยืน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น