ก่อนหน้านั้นเมื่อเวลา 09.55 น.วันที่7 ก.ค.น.ส.แพทองธาร ชินวัตรนายกรัฐมนตรี และรมววัฒนธรรม เดินทางเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยผู้สื่อข่าวถามกรณีที่กัมพูชา เรียกร้องให้ไทยคืนวัตถุโบราณ 20 ชิ้น โดยจะออกค่าใช้จ่ายเอง รมว.วัฒนธรรม ได้หันมาถามสื่อมวลชน ว่านึกว่าจะถามเรื่องชุดไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีของชุดไทย ที่กัมพูชาสอดแทรกขึ้นทะเบียนมรดกโลกในการแต่งงานแบบโบราณของกัมพูชา ไทยจะทำหนังสือทักท้วงเรื่องนี้หรือไม่โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่ากระทรวงวัฒนธรรมได้แถลงเรื่องนี้ไปเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้แล้ว
จากนั้นรมว.วัฒนธรรม แวะเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้าจาก5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “Taste of Southern อัตลักษณ์พื้นถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มาจัดแสดงบริเวณโถงตึกบัญชาการ โดยอุดหนุน
สินค้าเป็นผ้าซาติน ลายพระราชทานสิริราชพัสตราภรณ์ 3 ผืน
วันนี้ (8 ก.ค.68) นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แจ้งว่าองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) แจ้งยืนยันว่ารายการ “ชุดไทย: ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ” (Chud Thai: The Knowledge, Craftsmanship and Practices of the Thai National Costume) จะถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) สมัยที่ 21 ในปี 2569
การเสนอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริม Soft Power และการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมขึ้นบัญชีระดับชาติแล้ว จำนวน 396 รายการ โดย “ชุดไทยพระราชนิยม” ได้รับการขึ้นบัญชีในระดับชาติตั้งแต่ปี 2566 และ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ให้เสนอขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติต่อ UNESCO
ปลัด วธ. กล่าวว่า ชุดไทยเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติที่สะท้อนอัตลักษณ์ และความวิจิตรของวัฒนธรรมไทยผ่านงานช่างฝีมือจากหลากหลายภูมิภาค ถ่ายทอดผ่านลวดลาย เทคนิคการตัดเย็บ และการใช้ผ้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ “ชุดไทยพระราชนิยม” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มให้มีการศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสตรีไทยสมัยต่างๆ มาศึกษา ฟื้นฟู และออกแบบ เพื่อทรงใช้เป็นฉลองพระองค์ในโอกาสที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา และประเทศยุโรปอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2503