“ชัชชาติ” พาคนกรุงฯแบกภาระดอกเบี้ยวันละ 5.4 ล้าน ต่อไป อ้างเหตุยื้อจ่ายหนี้ BTS งวด 2 รอศาลปกครองชี้ผลคดีค้างชำระเงิน
ข่าวที่น่าสนใจ
2 ก.ค.2568 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร หรือ กทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 โดยมีวาระสำคัญคือ ญัตติของนายนภาพล จีระกูล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ สก. ที่ขอให้กรุงเทพมหานครรายงานความคืบหน้าการดำเนินการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง หรือ O&M ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในส่วนที่ค้างชำระ
โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ก่อนเข้าประชุมสภา กทม.ว่า การจ่ายหนี้คืนให้กับบีทีเอส จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งภาระหนี้ที่อยู่ระหว่างกระบวนการฟ้องร้องครั้งที่ 2 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ถึงตุลาคม 2565 โดยเป็นหนี้งวดที่ 2 จำนวน 12,245 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้นจำนวน 10,127 ล้านบาท ดอกเบี้ยจำนวน 2,118 ล้านบาท ในส่วนของหนี้ก้อนที่ 2 เป็นหนี้ในอนาคต เกิดขึ้นหลังการฟ้องครั้งที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงธันวาคม 2567 จำนวน 15,499 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 14,235 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1,264 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามติของสภากทม. ได้มอบหมายให้ กทม.ไปเจรจากับเอกชนเพื่อหาทางออกและขอลดหนี้ โดยเฉพาะภาระหนี้ที่อยู่ในกระบวนการของศาลปกครอง รวมถึงการจ่ายหนี้อื่น ทั้งนี้ กทม.และทางกรุงเทพธนาคมได้เจรจากับเอกชนมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อขอลดหนี้ แต่ทางเอกชนยืนยันไม่ยอมลดหนี้ให้กับ กทม. ซึ่งทางกทม.เข้าใจเอกชน แต่จากมติที่ประชุมสภาฯ ได้ให้กทม.เดินหน้าเจรจากับเอกชน เพื่อต้องการยุติกระบวนการฟ้องร้องและจ่ายหนี้คืนให้กับเอกชน ไม่ต้องรอคำตัดสินของศาลปกครอง กทม.จึงต้องมารายงานผลการหารือให้ทางสภา กทม.รับทราบ พร้อมขอคำแนะนำในดำเนินการต่อจากนี้ เนื่องจากผลการเจรจาที่เกิดขึ้นคือ ทางเอกชนไม่ยอมลดหนี้ให้กทม.
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของค่าจ้างเดินรถในส่วนขยายที่ 2 ที่เป็นส่วนของหนี้ในอนาคต กทม.ยืนยันว่า ต้องการที่จะจ่ายค่าจ้างเดินรถให้กับเอกชน เพราะเอกชนได้ให้บริการเดินรถไปแล้ว แต่เนื่องจากยังมีข้อโต้แย้งบางอย่างเกิดขึ้น จึงทำให้กทม.ยังจ่ายค่าจ้างเดินรถให้เอกชนไม่ได้ พร้อมอธิบายสาเหตุว่า ค่าจ้างเดินรถจะมี 2 ส่วนคือ ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 โดยส่วนต่อขยายที่ 1 แม้จะมีสัญญาและจ่ายเงินให้เอกชนมาแล้ว แต่มีปัญหาคือ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดทั้งเจ้าหน้าที่ กทม.และเอกชน จึงทำให้กทม.สงสัยว่า จะสามารถจ่ายเงินได้หรือไม่ และหาก ปปช. ตัดสินว่าผิดจะมีปัญหาหรือไม่ รวมทั้งกทม.จะเอาเงินคืนได้หรือไม่ ซึ่ง กทม.ได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังป.ป.ช.มาหลายรอบแล้ว ขณะนี้ทางกทม. กำลังเร่งรัดขอคำตอบจาก ป.ป.ช.อยู่
สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 พบว่าปัญหาคือสัญญาของส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ได้ผ่านการพิจารณาสภากทม. จากปกติสัญญาที่ต่อเนื่องจะต้องผ่านการพิจารณาของสภากทม. ดังนั้น กทม. จะต้องนำสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 เข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อขออนุมัติ แต่ทางกทม.จะต้องพิจารณาสัญญาให้รอบคอบ ซึ่งพบว่ายังมีตัวเลขบางตัวที่ทางกทม.เห็นว่าได้พิจารณารอบคอบแล้วหรือไม่ อาทิ สัญญากำหนดให้เพิ่มค่าจ้าง 3% ทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหากเพิ่มค่าจ้าง3%เท่ากันทุกปี จะทำให้ค่าจ้างเดินรถในช่วงปลายอายุสัญญาปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งกทม.จะขอให้ปรับการเพิ่มค่าจ้างเดินรถตามอัตราเงินเฟ้อตามความจริง ดังนั้นตรงนี้เราต้องเอาให้ชัดก่อนที่จะนำเข้าสภา กทม. ต้องดูให้รอบคอบ เพราะเราไม่สามารถรับผิดชอบสิ่งที่คนอื่นทำมาในอดีตได้ แต่ทั้งนี้ก็จะต้องหารือเพื่อหาทางออกอีกครั้ง
นายชัชชาติ ยืนยันว่า กทม. พยายามที่จะชำระหนี้ให้แก่เอกชน ส่วนไหนที่กทม.สามารถจ่ายได้ก็จะจ่ายก่อน เช่น ค่าโดยสารที่เก็บมาก่อน แม้จะต่ำกว่าต้นทุนการเดินรถ กทม.ก็ได้พยายามจ่ายค่าจ้างเดินรถให้เอกชนตามระเบียบ แม้กทม.จะเห็นใจเอกชน แต่ก็จะต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วยเช่นกัน เพราะสุดท้ายทุกคนจะต้องช่วยกันรับผิดชอบ
เมื่อถามว่า ในส่วนของค่าจ้างเดินรถที่เกิดขึ้น เหตุใด กทม.จึงไม่ยึดตามคำตัดสินของศาลปกครอง ที่ได้ตัดสินให้ กทม.จ่ายค่าจ้างเดินรถในส่วนของหนี้ก้อนที่ 1 นั้น นายชัชชาติ ยืนยันว่าไม่ได้ เพราะศาลเองก็จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งที่ศาลตัดสินมา หากศาลยึดคำตัดสินเดิม ศาลก็จะต้องลงมาแล้ว และศาลเองยังไม่ปิดรับการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยความจริง กทม.ก็ต้องการให้ศาลตัดสินโดยเร็วที่สุด แต่มันเป็นคนละเนื้อหา คนละประเด็นกัน เพราะการฟ้องครั้งเเรก เอกชนได้ยื่นเนื้อหาแบบหนึ่ง ส่วนการฟ้องครั้งที่ 2 เอกชนได้ยื่นข้อมูลอีกแบบหนึ่ง และองค์คณะก็ไม่ใช่องค์คณะเดียวกัน แต่หากศาลจะให้ใช้คำตัดสินที่ 1 กทม.ก็ยินดี และศาลก็สามารถลงรายละเอียดคำสั่งได้ทันที นอกจากนี้ กทม. ได้สอบถามไปยังทางทนายความ และอัยการ ของกทม. ว่ากทม.จะสามารถจ่ายค่าจ้างเดินรถในส่วนที่ค้างชำระได้เลยหรือไม่ ซึ่งทางอัยการก็บอกให้ต้องฟังคำตัดสินของศาลปกครอง ดังนั้นส่วนตัวอยากให้ศาลปกครองมีคำสั่งตัดสินลงมา ซึ่งก็กทม.ก็อยากที่จ่ายหนี้ให้หมด ยืนยันไม่ได้ต้องการให้เกิดความล่าช้าในการจ่ายหนี้
ก่อนหน้านี้จากการประชุมสภากทม. เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา โดยนายนภาพล จีระกุล สก.บางกอกน้อย ในฐานะประธานกมธ.ได้รายงานสรุปในกรณีหนี้สินค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งกทม.โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ค้างชำระอยู่ ตั้งแต่ปี 2562 ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ประชุมพิจารณาปัญหาดังกล่าว พร้อมเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลทุกด้าน รวมถึงพิจารณาสัญญา ระเบียบ กฎหมาย คำฟ้อง คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด และแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปว่ามีความจำเป็นที่ผู้บริหารกทม.ควรเร่งชำระหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพื่อลดภาระใช้จ่ายจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
อีกทั้งยังได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ กับ “ท็อปนิวส์” เพิ่มเติม โดยระบุว่า หลังจากที่ตนได้รายงานผลการศึกษาคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บางส่วน) ต่อที่ประชุมสภากทม. โดยเฉพาะในส่วนของภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 รวมถึงภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 5.4 ล้านบาท เห็นชัดเจนว่า ภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีการจัดการชำระหนี้สินค้างจ่ายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้มูลหนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ยอดหนี้ที่บีทีเอสซี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นมูลหนี้ค่าจ้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ถึง ตุลาคม 2565) เป็นเงินต้นพร้อมดอกเบี้นจำนวน 12,245 ล้านบาท(เงินต้น 11,811 ล้านบาท)
ส่วนที่ 2 ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง ธันวาคม 2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 17,121 ล้านบาท
และส่วนที่ 3 คือค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ 1 มค. 68 ไปจนถึงวันสิ้นสุดอายุสัมปทาน ซึ่งเดิมมีข้อเสนอว่าให้นำเอารายได้ของรถไฟฟ้าสีเขียวรายเดือน ส่วนต่อขยายที่หนึ่งและสอง มาจ่ายคืนให้กับบีทีเอสซี ในทุกวันที่ 20 ของเดือน โดย กทม. จะสนับสนุนส่วนต่างค่าจ้างเดินรถ เพื่อทำให้บริษัทกรุงเทพธนาคม และ กทม. ไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย เบื้องต้น แต่ปรากฎว่าผ่านมาแล้ว 3 เดือน จากการตรวจสอบยังไม่มีการชำระเงินให้แก่เอกชนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการวิสามัญฯ มองว่า การเร่งชำระหนี้ให้แก่เอกชนนั้น จะเป็นผลดีกับทางกทม.ไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย 5.4 ล้านบาทต่อวัน และจะสามารถนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาในส่วนอื่น ๆ ได้ อีกทั้งจากการสอบถามทาง บริษัทกรุงเทพธนาคม หรือ เคที ถึงแนวทางการต่อสู้คดี ในส่วนของภาระหนี้ก้อนที่ 2 ที่อยู่ในกระบวนการฟ้องร้องว่ามีประเด็นหรือข้อมูลใหม่ หรือมีความแตกต่างจากการฟ้องร้องครั้งแรก เพื่อจะนำไปใช้ในการต่อสู้หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น