“สรวงศ์” ลั่นอยากเห็นเวทีถกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ คนเข้าร่วมต้องไม่มีอคติและมีธงมาแล้ว บอกอย่าปิดกั้นโอกาสประเทศ เห็นเราสู้เพื่อนบ้านไม่ได้แล้ว
ข่าวที่น่าสนใจ
5 พ.ค.2568 นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการให้สส.ลงพื้นที่ ทำความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ว่า จากการลงพื้นที่ของสส.ส่วนมากประชาชนไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ไม่มีอะไรที่ไม่เข้าใจ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำคือมีเวทีหรืออะไรต่างๆ ที่ทำให้มีการทำความเข้าใจมากขึ้น ให้คนที่เขาคิดอีกอย่างหนึ่งกับรัฐบาล เข้ามาพูดคุยกันทำความเข้าใจกันว่าทำไม ถึงต้องมีกฎหมายนี้เพื่อเปิดโอกาสดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ย้ำว่า ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะทำบ่อนกาสิโน ฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อน
นายสรวงศ์ กล่าวอีกว่า “ทั้งนี้ กาสิโนต้องมีเพียงแค่ 10% เพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าไปได้ เพราะต้องมีมาตรการป้องกัน หากครอบครัวไหน ไม่อยากให้คนในครอบครัวเข้า ไปเล่นสามารถยื่นโนติสได้ และมีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน ที่เป็นสากลรองรับ สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีอีเวนต์ตามฮอลล์ต่าง ๆ ศูนย์ประชุม ห้างสรรพสินค้า โรงแรมต่างๆ พื้นที่โดยรอบจะได้ประโยชน์ไปด้วย โดยเวทีที่เราอยากเห็นคือการพูดถึงข้อดีข้อเสีย พูดคุยกันด้วยเหตุและผล ไม่ใช่ว่าฝั่งหนึ่งมีธง อีกฝั่งมีธงมาชนกัน หากเป็นเช่นนั้นจะไม่มีประโยชน์ที่จะพูดคุย ถ้าคิดดูดี ๆ ประเทศไทยเสียโอกาส ไปกับเรื่องแบบนี้เยอะมาก จึงขออย่าปิดกั้นโอกาสของประเทศไทยอีก เพราะว่าเราสู้เขาไม่ได้แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่เป็นศาสนาอิสลามเขาก็มีกัน แต่เขาก็ห้ามคนของเขาเข้า เราก็ห้ามคนของเราเข้าได้ ไม่มีปัญหา”
เมื่อถามว่า เวทีที่จะจัดเจ้าภาพจะเป็นภาควิชาการ หรือรัฐบาล นายสรวงศ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพจะถูกมองว่าเรามีธง จึงอยากให้คนกลางจัดหรือนักวิชาการจัดก็ได้ แต่รัฐบาลมีคนที่พร้อมร่วมเวทีเพื่อไปชี้แจง แต่ต้องมีนักวิชาการที่เป็นกลาง ไม่ใช่ไบแอสไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพราะอยากให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจริงๆ ไม่ใช่ว่าแต่ละคนมีธงมาแล้ว ไม่ยอมซึ่งกันและกัน ไม่เอาแบบนั้น รัฐบาลเองก็อยากที่จะฟังเหมือนกันว่า ความคิดของพวกเขาคืออะไร ทำไมจึงไม่อยากให้มี ทำไมจึงมีไม่ได้ ได้ฟังหรือไม่ว่าข้อกำหนด หรือรายละเอียดของกฎหมายเป็นอย่างไรบ้าง ตนรับประกันได้ว่าคนที่ออกมาต่อต้าน มีไม่ถึง 10% ที่ได้อ่านร่างกฎหมายตัวนี้ แต่นักวิชาการและก็แกนนำ ก็น่าจะได้อ่านร่างกฎหมายดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง