นักวิชาการกฎหมาย มองต่าง อธิบดีอัยการ ภาค 6 พลิกไม่สั่งฟ้อง “ดร.พอล” ถามกลับ ผตห.ทำผิดตาม “โครงสร้างความรับผิดทางอาญา” หรือไม่
ข่าวที่น่าสนใจ
หลังจากที่นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลกคดีระหว่าง พ.อ.มงคล วีระศิริ ผู้กล่าวหา ดร.พอล แซมเบอร์ส (Dr.Paul Chambers) ผู้ต้องหา ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 6 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2) , 20 ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาตามข้อกล่าวหา โดยผู้ต้องหาจะครบกำหนดฝากขัง ครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 พ.ค.2568
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการภาค 6 มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 6 ตามความเห็นและมติของคณะทำงานกำหนดแนวทางการบังคับใช้กฎหมายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
และสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) , 20
และพนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกจะได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก พร้อมทั้งดำเนินการส่งสำนวนพร้อมความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 6 เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งในคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 ต่อไป
ล่าสุดวันนี้ (2 พ.ค.) ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการกฤษฏีกาคณะที่ 11 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง อัยการกับการสั่งคดีอาญา: กรณีสั่งไม่ฟ้อง พอล แชมเบอร์ส คดี ม.112
โดยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ระบุว่า ในระบบกฎหมายไทย พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนคือ ทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานทั้งหลายว่า “ผู้ต้องหา” ได้กระทำความผิด มีเหตุยกเว้นความผิด หรือ มีเหตุยกเว้นโทษหรือไม่ แล้วทำ “ความเห็น” เสนอพนักงานอัยการว่า “ควรฟ้องคดี” หรือ “ไม่ควรฟ้องคดี”
พนักงานอัยการจะตรวจสำนวน และทำการ “สั่งคดี” โดย “สั่งฟ้อง” หรือ สั่งไม่ฟ้อง” ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 โดยพนักงานจะพิจารณาเป็น 2 ระดับคือ
ข้อหนึ่ง ในชั้นต้น พนักงานอัยการต้องพิจารณาว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นไปตาม “โครงสร้างความรับผิดทางอาญา” หากไม่ครบ “โครงสร้างความรับผิดทางอาญา” ก็จะต้องสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าครบ “โครงสร้างความรับผิดทางอาญา” อัยการก็จะมีระบบการสั่งคดีตามข้อ 2
ข้อสอง การสั่งคดีของพนักงานอัยการมี 2 ระบบคือ การฟ้องคดีตามกฎหมาย และ การฟ้องคดีตามดุลยพินิจ ซึ่งการฟ้องคดีตามกฎหมาย หมายความว่า หากการสอบสวนพบว่าผู้ต้องหากระทำความผิด พนักงานจะต้องฟ้องคดีนั้นเสมอ ส่วนกรณีอื่นๆ การฟ้องคดีของพนักงานอัยการเป็นไปตามระบบ “การฟ้องคดีตามดุลยพินิจ” ซึ่งหมายความว่า แม้การกระทำของผู้ต้องหาจะเป็นความผิด พนักงานอัยการอาจใช้ “ดุลยพินิจ” สั่งไม่ฟ้องคดีก็ได้ ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ.” ซึ่งได้มีระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ พ.ศ.2554
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ระบุอีกว่า กรณีการสั่งไม่ฟ้อง พอล แซมเบอร์ส คดี ม.112 -พ.ร.บ.คอมฯ โดยอ้างว่า “เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการภาค 6 มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา มาตรา 112 รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ตามความเห็นและมติของคณะทำงานกำหนดแนวทางการบังคับใช้กฎหมายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” ประเด็นปัญหาคือ กรณีได้มีการพิจารณาตามลำดับการดำเนินคดีชั้นพนักงานอัยการดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ การกระทำของผู้ต้องหาเป็นไปตาม “โครงสร้างความรับผิดทางอาญา” ในความผิดฐานดังกล่าวหรือไม่?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น