“รองผอ.” คดีฮั้วประมูล เผย “3 วิศวกร” รับลงชื่อตรวจงานสร้างตึกสตง.จริง เร่งสอบลายมืออีก 7 ราย ยังปฏิเสธ – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 นายศุภภางกูร พิชิตกุล รอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยความคืบหน้า การเรียกสอบ 10 วิศวกร ที่ลงลายมือชื่อในเอกสารการคุมโครงการก่อสร้าง อาคารสตง. ที่พังถล่ม เป็นวันที่ 2 ว่า วันนี้มีวิศวกรเข้ามาให้ปากคำรวมทั้งหมด 10 คน โดยมี 3 คนที่ยอมรับว่าลายเซ็นที่ปรากฏ บนเอกสารควบคุมงานของกิจการร่วมค้า PKW เป็นลายเซ็นของตัวเองจริง โดยทั้ง 3 คนอ้างว่าไปควบคุมงานและปฏิบัติงานในไซต์งานจริง ซึ่งลายเซ็นของทั้งสามคนเป็นลักษณะการเซ็นรายงานประจำสัปดาห์
ส่วนจะมีการเซ็นทั้งหมดกี่ครั้งนั้น นายศุภภางกูร อธิบายว่า เจ้าหน้าที่ได้สุ่มตรวจรายงานประจำสัปดาห์ ต่อคนประมาณ 2 สัปดาห์ พบว่าทั้ง 3 คนมีลายเซ็นอยู่ในรายงานของทั้ง 2 สัปดาห์ที่สุ่มออกมา โดยผู้ที่มีลายเซ็น ยืนยันว่า จะต้องตรวจสอบก่อนเซ็นทุกครั้ง ถ้าระหว่างการก่อสร้างหากพบความผิดปกติ ก็จะมีการรายงานเป็นขั้นตอนตามลำดับชั้นไปถึงนายสมชาย ทรัพย์เย็น ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการ และหากเป็นปัญหาที่กระทบกับโครงสร้าง ผู้จัดการโครงการก็จะรายงานเป็นขั้นตอนไปถึงสตง. ซึ่งแต่ละคนมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน อย่างบริษัท ว.และสหาย จะดูแลเรื่องของระบบ ส่วนเคพีดูแลเรื่องโครงสร้าง
“การก่อสร้างต้องรายงานเริ่มต้นจากผู้รับเหมาอยู่แล้ว คืออิตาเลียนไทย และไชน่า เรลเวย์ ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า เพราะเขาดำเนินการก่อสร้าง เขาต้องพบว่า มีปัญหาในการก่อสร้างออกแบบหรือไม่อย่างไร“ นายศุภภางกูร กล่าว
นายศุภภางกูรย้ำว่า หากเป็นงานหลักๆด้านโครงสร้าง จะต้องรายงานตามขั้นตอนจนถึงผู้ออกแบบ แต่หากเป็นปัญหาเล็กๆน้อยๆในการก่อสร้าง สามารถพิจารณาแก้ไขปัญหาตามหน้างานได้เลย
ส่วนวิศวกรอีก 7 คน ที่ปฏิเสธไม่ใช่ลายเซ็นตัวเองนั้น เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่จะส่งลายเซ็นตัวอย่าง ที่ให้วิศวกรเซ็นต่อหน้าพนักงานสอบสวน โดยทำการปกปิดลายเซ็นตัวปัญหา ก่อนส่งไปที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อทำการตรวจสอบว่า เป็นลายเซ็นจริง หรือมีการปลอมแปลงหรือไม่ โดยพนักงานสอบสวนจะรวบรวมลายเซ็นให้ใกล้กับเวลาที่เกิดเหตุ เพื่อส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบ ซึ่งทั้ง 7 คนที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ลายเซ็นของตัวเอง เจอลายเซ็นดังกล่าวในรายงานประจำสัปดาห์เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการเบิกเงินกับ สตง. ส่วนจะเซ็นเหมือนกันหรือไม่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เอกสารที่สุ่มนำมาตรวจลายเซ็นใกล้เคียงกัน มีแตกต่างกันบ้างเป็นปกติของการเซ็นชื่อ แต่การเปรียบเทียบจะต้องเปรียบเทียบกับเจ้าของลายเซ็นจริงว่าตรงกับลายเซ็นที่เป็นปัญหาหรือไม่
ส่วนทั้ง 7 คนเกี่ยวข้องอย่างไรกับบริษัท กิจการร่วมค้า PKW นั้น นายศุภภางกูร ระบุว่า ทั้ง 7 คนอยู่ในบริษัท ว.และสหาย ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทของกิจการร่วมค้า PKW และมีตำแหน่งเป็นวิศวกรที่ทำงานระบบของบริษัท ว.และสหาย ซึ่งข้อเท็จจริงคือมีการนำชื่อวิศวกร 7 คนนี้ มาเบิกในงานของ PKW แต่เจ้าตัวไม่ได้ไปทำงาน และทั้ง7คนให้การว่า ไม่ได้ไปไซต์งาน และไม่ได้ควบคุมงานตามวันและเวลาที่ปรากฎในเอกสารที่มีลายเซ็น