ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาง ตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์ยางพาราและ ผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกาต่ออุตสาหกรรมยางไทย พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในปี 2567 มีการส่งออกยางพาราจำนวน 3.96 ล้านตัน โดยส่งออกยางแท่งเอสทีอาร์มากที่สุด จำนวน 1.76 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการศึกษามาตรการการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้ง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมสำหรับการรับมือกับมาตรการดังกล่าว และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกรให้น้อยที่สุด
ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การหารือแนวทางการดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องยางพารา และเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้าใจและเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ยางพาราไทย พบว่า ประเทศไทยของเราเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ใน 3 ของโลก จึงแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนครั้งนี้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์ผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกาต่ออุตสาหกรรมยางไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาและทบทวนแนวทางการดำเนินงานให้มีความชัดเจน และแก้ไขปัญหาด้านราคายาง เพื่อคลายความกังวลใจของพี่น้องเกษตรกร โดยยึดมั่นตามแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรฯ ที่ยึดมั่นการถวายงานและสานต่อของพระราชา รวมกับการดูแลเกษตรกรของพระราชาให้ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีมาตรการภาษีดังกล่าวออกมาแล้วท้ายที่สุดต้องมีคนจ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา หรือผู้ส่งออก ผู้รับซื้อในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ควรต้องเป็นพี่น้องเกษตรกรคนไทยที่เป็นคนจ่ายอย่างแน่นอน