นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ ว่า กรอบเวลาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 คือเมื่อสภาฯ ส่งมา นายกฯ ต้องเก็บไว้ 5 วัน ซึ่งถือเป็นภาคบังคับ และเมื่อครบ 5 วันก็บวกไปอีก 20 วัน โดยจะทูลเกล้าฯ ภายในกรอบเวลา 20 วันนี้เมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งรัฐบาลเตรียมนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ อยู่แล้ว ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องรอ 20 วันสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้เลย ส่วนหากนายกฯ เห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้ไขขัดกับรัฐธรรมนูญ ส.ส.และนายกฯ ที่มีสิทธิยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ตามมาตรา 148 ภายในกรอบ 20 วัน แต่เป็นการยื่นตีความตามพระราชบัญญัติ ไม่ได้ใช้กับการยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ขั้นตอนจะอยู่ในช่วงเวลา 90 วันเมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว
เมื่อถามว่าหากภายใน 90 วันเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับรัฐบาลมีการเลือกตั้งใหม่จะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วในมาตรา 147 ระบุว่าหากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบถือว่าไม่ตกไป เว้นแต่ในระยะเวลา 90 วันไม่โปรดเกล้าฯ ลงมาก็ถือว่าตกไป และให้สภาฯ ยืนยันภายใน 30 วัน และไม่ว่ารัฐบาลจะยุบสภาฯ ลาออก หรืออะไรจะเกิดขึ้น และถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ก็ให้ใช้ฉบับใหม่ แต่ถ้ายังไม่มีการโปรดเกล้าฯ และประกาศใช้ ก็ให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม คือ บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ซึ่งตนถึงบอกว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นในช่วงนี้มันจะยุ่ง
นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้ ระหว่างที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ แม้คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)และส.ส.เตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งเขต ส.ส.และการจัดรายชื่อส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หากโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงมาทุกอย่างต้องเปลี่ยนหมดตามกติการัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม หากจัดการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้ว 1 วัน หากมีการโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีการประกาศใช้การเลือกตั้งก็ถือว่ามีผลทันที ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะมีผลบังคับใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เมื่อถามว่าแสดงว่านายกฯ ไม่มีอำนาจในการยื่นตีความรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ขอตอบ ขอตอบแค่ว่าใช้กับพระราชบัญญัติเท่านั้น ส่วนกรณีที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ไปยื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันว่าไม่กระทบ เพราะการยื่นกับผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เกี่ยวกับกำหนดเวลา แต่ก็เป็นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะรับหรือไม่
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญมีการเขียนไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการยับยั้งพระราชบัญญัติภายใน 90 วัน ในสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ก็มีจำนวน 3 ฉบับ ขณะที่หลายประเทศก็มีการยับยั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา.