“หาน จื้อเฉียง”ทูตจีนโต้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีส่งออกกดดันโลก ชี้ไม่ใช่ความยุติธรรม แต่เป็นการใช้อำนาจบีบบังคับคู่ค้า

"หาน จื้อเฉียง"ทูตจีนโต้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีส่งออกกดดันโลก ชี้ไม่ใช่ความยุติธรรม แต่เป็นการใช้อำนาจบีบบังคับคู่ค้า

ภายหลังจาก มีการเปิดเผยข้อมูล ว่า ประกาศ Fact Sheet ของ “ทำเนียบขาว” ได้ขึ้นข้อความ “ในวันปลดแอก (2 เม.ย.) ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศในอัตรา 10% และกำหนดอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นแบบรายบุคคลต่อประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้ามากที่สุด เพื่อสร้างมาตรฐานที่เท่าเทียมกันและปกป้องความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา มีประเทศต่างๆ มากกว่า 75 ประเทศที่ติดต่อเข้ามาเจรจาหารือเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าใหม่ ส่งผลให้ปัจจุบันมีการระงับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ย

ยกเว้น “จีน” ที่มีการตอบโต้กลับ ซึ่งปัจจุบัน จีนเผชิญกับภาษีนำเข้าในอัตราสูงสุดถึง 245% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐอันเป็นผลจากการตอบโต้ จนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า สหรัฐฯจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน จาก 145% เป็น 245% หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ทางทำเนียบขาวและหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐ ยังไม่มีการชี้แจงตัวเลข 245% นี้ว่าเป็นมาอย่างไร โดยตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อ้างอิงถึงการเก็บภาษีจีน และสื่อต่างๆ อ้างอิงในปัจจุบันยังเป็นตัวเลขที่ 145%

ล่าสุด นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้แสดงทัศนะ และตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐผ่านเว็ปเพจของสถานทูตเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเทพ โดยมีการเผยแพร่ในวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 ดังนี้

การเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวางทั่วโลก ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เพื่อน ๆ หลายคนได้สอบถามข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาอยากรู้ว่าชาวจีนมองเรื่องนี้อย่างไร และจะรับมืออย่างไร ข้าพเจ้าจึงขอใช้พื้นที่เล็ก ๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เพื่อแบ่งปันทัศนะส่วนตัว และเป็นการตอบคำถามสำหรับสาธารณะชนที่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้

การได้เปรียบดุลการค้าเป็นความผิดหรือไม่? การค้าระหว่างประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรและข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การค้าขายที่สมัครใจและเพื่อประโยชน์ร่วมกัน การที่บริษัทอเมริกันเลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตฮาร์ดดิสก์แล้วนำกลับไปขายในสหรัฐฯ ก็เพราะไทยมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า หากคิดว่าไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ และตัดสินว่าไทยมีการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯและสมควรถูกขึ้นภาษี ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว การที่สหรัฐฯ เกินดุลในภาคการค้าบริการกับคู่ค้าทั่วโลกมากถึง 295,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล จะถือว่าสหรัฐฯ ไม่เป็นธรรมต่อคู่ค้าทั่วโลกหรือไม่ และคู่ค้าทั่วโลกควรลงโทษสหรัฐฯ หรือไม่ ดังนั้น การขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ จึงไม่สอดคล้องกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง

การแบ่งงานกันทำและการค้าเสรีระหว่างประเทศต่าง ๆ คือรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯเองก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบการค้าโลก ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้บริโภคสินค้าคุณภาพดี ราคาคุ้มค่าจากทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ครองความได้เปรียบในภาคการเงิน เทคโนโลยี และด้านอื่น ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง คุณโอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) เคยเขียนบทความระบุอย่างชัดเจนว่า “สหรัฐฯ คือผู้ชนะรายใหญ่ที่สุดในเวทีการค้าโลก”

การเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ไม่ใช่ความยุติธรรม แต่คือการใช้อำนาจบีบบังคับ สหรัฐฯ ใช้ภาษีเป็นอาวุธในการบีบบังคับคู่ค้าจนถึงขีดสุดและแสวงหาผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แท้จริงแล้ว นี่คือการใช้อำนาจการเมืองเข้าครอบงำเศรษฐกิจและการค้า อันเป็นการกดดันฝ่ายเดียวต่อคู่ค้าอย่างไม่เป็นธรรม ทั่วโลกมี 190 กว่าประเทศ ลองจินตนาการดูว่า หากทุกประเทศต่างคิดว่าประเทศของตนเองต้องมาก่อน และหลงเชื่อในสถานะที่มีอำนาจที่แข็งแกร่ง โลกนี้จะถอยกลับไปสู่ยุคแห่งกฎป่า ประเทศเล็กและประเทศที่อ่อนแอจะกลายเป็นผู้รับเคราะห์ และระเบียบกติกาสากลจะถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

สหรัฐฯ จุดชนวนสงครามภาษี ทำให้ห่วงโซ่อุปทานสั่นคลอนไปทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงต่อการถดถอยอย่างหนัก จนถูกนานาประเทศประณามอย่างรุนแรง นายดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรียกร้องให้ชาติอาเซียนอย่านิ่งนอนใจ นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เตือนว่าสิ่งที่สหรัฐฯ กำลังกระทำจะผลักดันให้โลกเข้าสู่ยุคใหม่ที่ใช้อำนาจโดยพลการมากขึ้น เต็มไปด้วยลัทธิการคุ้มครองการค้าและเป็นอันตราย ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน กล่าวต่อสาธารณะว่านโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก และทำลายผลประโยชน์ของผู้บริโภคทั่วโลก นายกรัฐมนตรีมาร์ค คาร์นีย์แห่งแคนาดากล่าวว่า เรื่องนี้คือ “โศกนาฏกรรมของการค้าโลก”

จีนจะรับมืออย่างไร? แก่นแท้ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯคือการได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นคู่ค้าสำคัญระหว่างกันทั้งด้านการค้าสินค้าและการค้าบริการ ตลอดจนการลงทุนระหว่างกัน การรักษาความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างสองประเทศไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อทั้งจีนและสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นคุณต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย ข้อเท็จจริงพิสูจน์แล้วว่า เมื่อจีนกับสหรัฐฯ ร่วมมือกัน ทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ แต่หากปะทะกัน ย่อมเสียหายทั้งคู่ สงครามการค้าย่อมไม่มีผู้ชนะ ลัทธิคุ้มครองก็ไม่ใช่ทางออก ความสำเร็จของจีนและสหรัฐฯ ต่างเป็นโอกาสสำหรับอีกฝ่าย มิใช่ภัยคุกคามต่อกันอย่างแน่นอน

จีนไม่ประสงค์จะทำสงครามภาษี แต่หากมีคนบังคับเรียกเก็บภาษีอย่างไม่มีเหตุผลกับจีน จีนก็จำเป็นต้องตอบโต้อย่างเด็ดขาด ที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ อย่างมีพลัง ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของจีน และเพื่อปกป้องระเบียบการค้าเสรีของโลก รวมถึงความยุติธรรมและความเป็นธรรมของมนุษยชาติ

 

 

สหรัฐฯ เป็นผู้เริ่มต้นสงครามการค้า ท้ายที่สุดกลับส่งผลเสียทั้งต่อผู้อื่นและตัวเอง ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบเป็นอันดับแรก ผลการวิจัยของสถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) ระบุว่า ท้ายที่สุด ต้นทุนด้านภาษีกว่า 90% จะตกที่ผู้นำเข้า ธุรกิจปลายน้ำ และผู้บริโภคในสหรัฐฯ ความผันผวนของตลาดหุ้นและพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เป็นเหมือนรถไฟเหาะในช่วงนี้ ก็ได้สะท้อนถึงความจริงข้อนี้แล้ว ประเทศจีนมีสำนวนโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ยกก้อนหินขึ้นมา แต่กลับหล่นทับขาตัวเอง” ข้าพเจ้าเชื่อว่า การที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่เพียงแต่จะถูกต่อต้านจากนานาประเทศ ยังจะถูกคัดค้านโดยประชาชนชาวอเมริกันที่ชาญฉลาดอีกด้วย

มองความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-ไทยหลังจากนี้อย่างไร? จีน-ไทยมีภูมิประเทศที่เชื่อมต่อกัน มีอนาคตที่ร่วมกัน เป็นคู่ค้าสำคัญทั้งด้านการค้าและห่วงโซ่อุตสาหกรรม ท่ามกลางความปั่นป่วนของระบบเศรษฐกิจโลก จีนและไทยควรร่วมมือกัน ยึดมั่นในหลักการค้าเสรีและการเปิดกว้าง ยึดมั่นในการดำเนินความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ส่งเสริมการค้าระหว่างกันและการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน เรายังควรปกป้องระเบียบการค้าโลก ร่วมมือใช้กลไกความร่วมมือจีน-อาเซียน องค์การการค้าโลกและเวทีอื่น ๆ เรียกร้องให้ทุกประเทศยึดมั่นในหลักการที่ไม่กีดกัน เปิดกว้าง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อร่วมกันปกป้องและสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีความร่วมมืออย่างเปิดกว้าง

 

จีนจะยังคงเดินหน้าขยายการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง และแบ่งปันโอกาสแห่งการพัฒนากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จีนมีประชากร 1.4 พันล้านคน และมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่เกือบ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรายินดีต้อนรับผลิตภัณฑ์คุณภาพดีจากประเทศไทยให้เข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น ฝ่ายจีนจะสนับสนุนให้รัฐบาลท้องถิ่น องค์กรภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น อีกทั้งจะสนับสนุนให้บริษัทจีนในประเทศไทยใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุตสาหกรรมในท้องถิ่นของไทยให้เต็มที่ ร่วมมือกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย รวมถึงส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวของไทย จีนพร้อมจับมือกับไทยเพื่อสร้างต้นแบบแห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่เอื้อประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มความมั่นคงภายใต้สถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน และเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่การเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ม.นเรศวร" สั่งเลิกจ้าง "ดร.พอล" โดนร้องทำผิดคดี 112 ตม.ยึดหนังสือเดินทาง เหตุถูกเพิกถอนวีซ่า
สศร. เผยโฉมทัพศิลปินไทย-ต่างชาติกลุ่มสอง 15 ศิลปิน "กลุ่มศิลปิน" ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยในงาน Thailand Biennale, Phuket 2025
"มหาดไทย" ขับเคลื่อนจัดรูปที่ดินนราธิวาส สุไหงโก-ลก พลิกโฉมเมืองชายแดน สู่การเติบโตที่ยั่งยืน
ยังไม่จบ "มาดามเมนี่" อัปเดตยังได้ของคืนไม่ครบ ยื่นคำขาด 10 วัน ลั่นขอเจรจา "ดิว อริสรา" ปมยืมของหรู
เปิดปฏิบัติการ "FOX Hunt" ทลายแก๊งหลอกลงทุน FOX Wallet ปลอม รวบ 8 สมาชิกจีนดำ-ไทยดำ ยึดทรัพย์กว่า 3 ล้านบาท
"บิ๊กต่าย" สั่งสอบ ตร.พาผู้ต้องหา ลักลอบนำข้อสอบฯ ออกจากโรงพัก ย้ำใครผิดว่าไปตามผิด
กรุงไทยนำเทรนด์! จับมืออินฟลูฯสายท่องเที่ยว สร้างปรากฏการณ์ TOURIST สู่ TOURICH ผ่าน Krungthai Travel Debit Card
สสจ.มุกดาหาร ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ "แอนแทรกซ์" เพิ่ม 1 ราย รอผลตรวจกลุ่มเสี่ยงอีก 3 ราย
TPIPL จัดงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568
เพราะทะเลคือชีวิต ซีพีร้อยเรียงความดีผนึกชุมชน ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 76 ล้านตัว สร้างความยั่งยืนให้ชายฝั่งตราด

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น