วันที่ 30 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ผู้ก่อตั้งเมืองสุรินทร์ คนแรก พลโทธเนศ วงศ์ชอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายวัน เรียงเงิน เจ้าของช้างพังโย รศ.ดร.สำเนาว์ เสาวกูล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ พร้อมด้วยหัวหน้าราชการได้ร่วมประกอบพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง และบายศรีสู่ขวัญ รับขวัญช้างพังโย อายุ 72 ปี
ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกคนร้าย ลักพาตัวไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2546 เจ้าของได้ออกตามหามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งทราบว่า ช้างพังโย ถูกนำไปขายให้ปางช้างแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ฉลอง จ.ภูเก็ต จึงได้นำเอกสารหลักฐานไปตรวจสอบที่ปางช้าง ซึ่งทางเจ้าของแจ้งว่าได้ซื้อมาอย่างถูกต้องในราคา 1.4 ล้านบาท จึงไม่ยินยอมที่จะคืนช้างเชือกดังกล่าวให้ ต่อมา ในปี 2561 นายวัน เรียงเงิน เจ้าของช้าง ได้เดินทางกลับมาบ้านที่สุรินทร์ หารือกับหน่วยงานต่างๆเพื่อต่อสู้ทางคดี และได้ขอความช่วยเหลือ จากพลตรี ธเนศ วงศ์ชอุ่ม (ยศในขณะนั้น) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เพื่อประสานเจ้าหน้าที่ทหารเรือที่จังหวัดภูเก็ตในการนำเอกสารตรวจรูปพรรณช้าง และทางเจ้าของช้างได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดภูเก็ต ได้มีการต่อสู้กันมาถึงจนถึงศาลฎีกา จนเมื่อวันที่ 22 ก.ย.64 ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษา โดยตัดสินให้เจ้าของช้างชนะคดีและได้รับช้างคืน เป็นการติดตามหาตัวช้างพังโย และต่อสู้ทางคดี เป็นเวลา 18 ปี ในวันที่ 24 ก.ย.64 ที่ผ่านมา ช้างพังโย ได้เดินทางด้วยรถยนต์ จากจังหวัดภูเก็ต ถึงจังหวัดสุรินทร์ ในช่วงสองทุ่ม ช้างพังโยยืนบนรถบรรทุกเดินทางเป็นเวลา 25 ชั่วโมง ซึ่งช้างพังโยก็จะอาศัยอยู่ที่โรงช้างภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เพื่อที่ให้นักศึกษาได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของช้าง โดยจะไม่มีการนำช้างพังโยออกไปทำงานอีกต่อไป
ในวันนี้ 30 ก.ย.2564 จึงได้ประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญและรับขวัญช้างพังโย อายุ 72 ปี โดยช้างนายวัน เรียงเงิน เจ้าของช้าง พร้อมบรรดาญาติพี่น้อง และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ได้นำช้างพังโย พร้อมด้วยช้างพังน้องขวัญ อายุ 10 ปี ซึ่งเป็นลูกหลานของช้างพังโย แห่รอบอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง จำนวนสามรอบ จากนั้น พราหมณ์ ได้ประกอบพิธีเรียกขวัญช้างพังโย โดยมีเครื่องเซ่นไหว้ เครื่องบายศรี นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ แม่ทัพภาคภาคที่ 2 และหัวหน้าส่วนราชการ จุดธูปเทียน บนเครื่องเซ่นไหว้ พราหมณ์ เรียกขวัญช้างพังโย ให้กลับมาอยู่กับเนื้อตัว ได้กลับมาบ้าน ให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยในระหว่างประกอบพิธีนายวัน เรียงเงิน เจ้าของช้าง ได้สังเกตเห็นน้ำตาของช้างพังโยที่ไหลออกมา ได้เอามือลูกเช็ดน้ำตาให้ช้างพังโยและเข้าใจได้ว่าช้างพังโยคงรับรู้ความรู้สึกนี้ได้ ต่อมาได้การร่ายรำเรียกขวัญช้าง ของนักเรียนโรงเรียนเขวาสินรินทร์ และลูกหลานของนายวัน เรียงเงิน จากนั้น จากนั้นก็ได้นำผ้าขาวม้า ด้ายสายสินจน์ มาผูกที่หูช้าง คอช้าง แม้กระทั่งหางช้าง เพื่อเป็นการเรียกขวัญช้างพังโย ให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว และให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ดื้อไม่ชน ไม่เจ็บไม่ป่วย ให้อายุหมั่นขวัญยืนตลอดไป
สำหรับโค้งสุดท้ายของนักเสี่ยงโชคได้มีบรรดาผู้ร่วมงานและพี่น้องชาวช้าง ต่างกันจับจ้องธูปเสี่ยงทายที่จุดไว้บนหัวหมูในขณะประกอบพิธี ซึ่งปรากฎตัวเลข 3 ตัวคือ 534 ,435 โดยบางคนก็นำอายุช้างพังโยไปลุ้นโชคคือเลข 72 และเชื่อว่าช้างพังโย คงมาให้โชคในงวดนี้อย่างแน่นอน
ต่อมา จาพนม ยี่รัมย์ หรือ โทนี่ จา ได้ส่งคลิป มีความยาว 1.17 นาที ขอแสดงความยินดี ดีใจต่อครอบครัว “เรียงเงิน” ที่ได้ต่อสู้ มานานกว่า 18 ปี จนได้ช้างกลับคืนมาสู่บ้านเกิดที่สุรินทร์ โดยใช้คำพูดวลีสุดฮิตว่า “ช้างกู อยู่ไหน” และขอบคุณพ่อแม่พี่น้องชาว จ.สุรินทร์ที่คอยเอาใจช่วย พร้อมขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านในความสำเร็จนี้
นายสัตวแพทย์ จักรินทร์ เรียงเงิน อายุ 37 ปี (ควาญช้างรับช่วงต่อจากพ่อ) เล่าว่า ช้างพังโยได้หายไปตั้งแต่ตนเรียนอยู่ ม.6 โดยในช่วงนั้นตนอาจจะไม่ได้คลุกคลีกันเท่าไหร่ เพราะว่าตนก็เรียนอยู่ที่ จ.สุรินทร์ ส่วนช้างพังโยก็ไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด พอตนทราบข่าวว่าช้างหาย ตนรู้สึกเสียใจมาก ซึ่งขณะที่ตนเข้าศึกษาต่อสัตวแพทย์ในระดับอุดมศึกษา จึงทำให้เกิดเป็นรงบันดาลใจให้ตนได้ตามหาช้างพังโยเช่นกัน สำหรับรายจ่ายที่ครอบครัวต้องจ่ายไปเพื่อตามหาช้างพังโย เฉียด 1 ล้านบาท พอๆกับค่าตัวของช้างเอง เพราะต้องเดินทางจาก จ.สุรินทร์ ไป ภูเก็ต หลายสิบเที่ยว เที่ยวละหลายหมื่นพอสมควร.
ภาพ/ข่าว กฤษดากร กีรติธำรงค์เจริญ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.สุรินทร์