วันที่ 15 ก.ย. – ที่รัฐสภา ตัวแทนแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุม โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า หลังจากจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่ผ่านมา ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านได้สรุปประเด็นว่าจะมีประเด็นใดที่จะสามารถยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้หรือไม่ เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะยื่นต่อป.ป.ช.ทั้งหมด 8 เรื่อง อาทิ เรื่องโควิด-19 เรื่องการเกษตรทุจริต การระบายราคายางพารา และเรื่องดาวเทียม รวมทั้งจะยื่นต่อกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธานกมธ. เพื่อพิจารณาในประเด็นการตจ่ายเงิน 5 ล้านบาทในรัฐสภา หลังจากนี้มอบหมายให้พรรคร่วมรัฐบาลไปรวบรวมญัตติ และข้อมูลก่อนลงชื่อเสนอสภาฯต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ในวันที่ 29 ก.ย.จะมีการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้งที่พรรคเพื่อไทย เพื่อสรุปประเด็นทั้งหมด
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ 8 ประเด็นที่จะยื่นป.ป.ช.นั้น แบ่งเป็นเรื่องโควิด-19 จำนวน 6 เรื่องคือ การระบายสต๊อกยางพารา 1 เรื่อง และดาวเทียม 1 เรื่อง โดยเรื่องทั้งหมดจะเกี่ยวกันกับรัฐมนตรีทั้งหมด 4 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทุกคนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและจงใจปล่อยปะละเลย ทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนการยื่นต่อกมธ.ป.ป.ช.ในประเด็นการจ่ายเงิน 5 ล้านบาทในสภาฯนั้น จะมีการสรุปรายละเอียดกันอีกครั้งในวันที่ 29 ก.ย. คาดว่าภายหลังจากสรุปสำนวนแล้ว จะนัดหมายพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคลงชื่อพร้อมกันและยื่นต่อป.ป.ช.อีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไปรัฐมนตรีรายบุคคลแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 หรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า เราคิดว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวเพื่ออภิปรายตามมาตรา 152 แต่ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะอยู่ถึงตอนนั้นหรือไม่
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า เราทราบดีว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 รัฐบาลย่อมได้เสียงข้างมากจากสภาฯ กับการทุจริตหรือเอื้อประโยชน์กับบางคนนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องยื่นเรื่องต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย เช่นการฟ้องศาลให้ติดคุกติดตะรางหรือเว้นวรรคทางการเมือง ซึ่งกรณีนี้มีรัฐบาลหลายสมัยและรัฐมนตรีหลายคน แม้ในสภาฯจะรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็ไม่รอดพ้นจากกฎหมาย ยืนยันว่าการทำหน้าที่ครั้งนี้เป็นไปตามหน้าที่และกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แม้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะไม่ได้ระบุไว้ก็ตาม
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่มีการแจกเงิน 5 ล้านบาทในสภาฯ ที่จะยื่นต่อกมธ.ป.ป.ช.ว่า เหตุผลที่จะยื่นให้กมธ.ก่อน เพราะมองว่ากมธ.ชุดนี้มีอำนาจและหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งหมดในการเรียกบุคคลและเอกสาร รวมถึงพยานทั้งหมดเข้ามาตรวจสอบ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเป็นหน้าที่ของกมธ.ยื่นให้ป.ป.ช.พิจารณาต่อไป ส่วนเหตุผลที่ไม่ยื่นต่อป.ป.ช.โดยตรงนั้น เนื่องจากเราต้องการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยใช้กลไกสภาฯที่จะสามารถเรียกคนและเอกสาร ทั้งประจักษ์พยานและหลักฐานเชิงประจักษ์เข้ามาพิจารณาประกอบ หรือพูดง่ายๆคือเอาหลักฐานให้แน่นที่สุด
เมื่อถามว่า กรณีที่บอกว่าไม่มีกล้องวงจรปิดบริเวณชั้น 3 อาคารรัฐสภา นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องวงจรปิดไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เนื่องจากรัฐสภามีหลายชั้น แม้ชั้น 3 ไม่มี แต่ชั้นอื่นอาจจะมี ซึ่งเรามีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ เช่น กล้องวงจรปิดอื่นๆ หรือประจักษ์พยานอื่นๆ ทั้งนี้พยานเชิงประจักษ์ไม่ใช่มีเพียงนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยเท่านั้น ซึ่งนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ก็ออกมาพูดเรื่องนี้หลายครั้ง โดยหลักฐานประจักษ์พยานอาจจะลำบากสักนิดนึง เพราะต้องสงวนสิทธิ์เขาไว้ด้วย