No data was found

“ดร.ธนวรรธน์” ยันศก.ไทยไม่ถึงวิกฤต ชี้กู้ 5 แสนล้าน แจกไม่คุ้มค่าเท่าใช้ลงทุน

กดติดตาม TOP NEWS

"ดร.ธนวรรธน์" เผยนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ มองเศรษฐกิจไทย “ไม่เข้าขั้นวิกฤต” ชี้แค่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด แต่การขยายตัวยังเป็นบวก พร้อมมองเงินดิจิทัล ส่วนหนึ่งควรให้กลุ่มเปราะบาง ที่ต้องการใช้เงินจริง และที่เหลือนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะได้ประโยชน์มากกว่า

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ว่า จากคำถาม เศรษฐกิจไทยวิกฤตจริงหรือไม่ คำว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และนักวางนโยบายส่วนใหญ่ มองและเห็นพ้องร่วมกัน คือการที่เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ มีการขยายตัวติดลบหรือมีการขยายตัวที่ต่ำมาก จนทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมองว่าคือ ”วิกฤตเศรษฐกิจ “

โดยวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น มาจาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ หนึ่ง การล้มลงของสถาบันการเงินหลายแห่ง หรือที่เรียกว่า financial crisis ซึ่งเมื่อสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ล้ม หรือปิดกิจการลง จะทำให้เกิดปัญหาสินเชื่อตึงตัวจึงทำให้มีการปิดกิจการของธุรกิจต่างๆ ต่อเนื่อง จนเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ และทำให้เกิดการปลดคนงาน

สถานการณ์เหล่านี้เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่คุ้นเคยในช่วงที่ผ่านมา คือ วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ที่มีการปิด 56 ไฟแนนซ์ และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ ถึง 7.5% ในปี 2541 และวิกฤตการณ์ซับไพร์มของสหรัฐ ที่ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐปิดกิจการลง จากการปล่อยสินเชื่อคุณภาพต่ำ ในปี 2551

วิกฤตเศรษฐกิจที่สอง คือ วิกฤตที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงของประเทศนั้นๆ จนทำให้เกิดเงินไหลออก หรือทำให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงิน และทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง ทำให้ประเทศนั้นจะต้องกู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟ และสถาบันการเงินอาจตึงตัวในด้านการเงิน จึงเป็นที่มาที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวติดลบหรือขยายตัวต่ำ

โดยวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คือ วิกฤตต้มยำกุ้งที่ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 7% ของจีดีพี ในปี 2541 /วิกฤตการณ์ ค่าเงินเปโซ หรือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงของประเทศเม็กซิโก จนทำให้เกิดสถานการณ์ที่มีการเก็งกำไรค่าเงินเปโซซึ่งเกิดขึ้นในปี 2538

วิกฤตการณ์ที่สาม เกิดมาจากการที่มีเหตุปัจจัยอื่นๆ อาทิ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดรุนแรงคือ โควิด-19 ที่ทำให้ทั่วโลกมีการปิดประเทศ ปิดกิจการ และทำให้มีการปลดคนงาน ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ อาทิ ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1%

ทั้งหมดจึงเป็นภาพรวมของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ประเทศนั้นๆ มีเศรษฐกิจที่ขยายตัวติดลบ จนทำให้เกิดการปลดคนงาน ซึ่งของไทยเจอวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 ที่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบในปี 2541 คือ -7.5% และการว่างงานเกิดขึ้นประมาณ 4.3-4.4% และช่วงโควิด-19 ที่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 6.1% และการว่างงานปรับสูงขึ้นจาก 1% เป็น 2%

ข่าวที่น่าสนใจ

รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุว่า ในส่วนของประเทศไทย หากจะเข้าคำนิยามของคำว่า “วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่นักเศรษฐศาสตร์หรือผู้วางนโยบายทางด้านเศรษฐกิจมองร่วมกัน พบว่า “ประเทศไทยไม่ได้เข้าขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ“ เพราะในปีนี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 น่าจะได้ 1.5% ว่างงานที่ 1% โดยเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงมาจากปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่เกิดการสู้รบในรัสเซีย-ยูเครน /อิสราเอล-ฮามาส ทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง การส่งออกของไทยขยายตัวขยายตัวติดลบ จึงทำให้เศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลง

แต่มุมมองรัฐบาลได้นิยาม ว่าเศรษฐกิจไทยโตขยายตัวต่ำ และมีการฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลจึงเกรงว่า หากเป็นเช่นนี้ประเทศไทยจะเข้าขั้นวิกฤตได้ ซึ่งเป็นมุมมองของรัฐบาล

โดยนิยามจากภาควิชาการและภาคเศรษฐศาสตร์รวมถึงภาพที่เป็นประสบการณ์ของนานาชาติ ประเทศไทยไม่ได้เรียกว่าเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจแต่ประเทศไทยฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดและมีสัญญาณชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นบวก

โดยกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้เปิดเผยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวได้ 1.5% รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุว่า การที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/66 ขยายตัวได้ 1.5% ทำให้ 9 เดือนแรก เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ทั้งปี 66 ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5% สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวได้ถึง 4% โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมที่คาดว่า จะเติบโตได้ 3.0-3.5% และหากเทียบกับช่วงเกิดโควิด -19 ในปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% และเศรษฐกิจไทยได้มีการฟื้นตัวในปี 2564 ที่ 1.5% และปี 2565 เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.6% และในปี 2566 เศรษฐกิจคาดว่าจะขยายตัว 2.5% ถือเป็นการฟื้นตัวช้า และต่ำกว่า ระดับ 3% จึงทำให้รัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า

ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่าเศรษฐกิจไทยแย่ จากตัวเลขจีดีพีออกมาที่ 1.5% ในไตรมาส 3 ปีนี้ และย้ำว่าโครงการเงินดิจิทัล เป็นเรื่องที่จำเป็น รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุว่า กรณีของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน กับโครงการที่จะต้องกู้เงิน คำถามที่สำคัญคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะมีการให้ประชาชนที่เข้าเงื่อนไขคนละ 10,000 บาท เป็นการสร้างอำนาจซื้อให้ประชาชน ในการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ของตนเอง และเป็นการใช้จ่ายเงินระยะสั้นเพียง 6 เดือน ใช้พร้อมกันทั่วประเทศ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที โดยคาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเข้าสู่ระบบในเดือน พ.ค.67 และจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 4-5% ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์ การกระตุ้นเศรษฐกิจ

รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุว่า หลายคนมองว่า โครงการนี้ เป็นการใช้เงินที่คุ้มค่าหรือไม่ เพราะการใช้เงิน 500,000 ล้านบาทเป็นการใช้เงินที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทย หากไม่รวมโครงการรับจำนำข้าว และถือเป็นการใช้เม็ดเงินครึ่งหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ ที่ใช้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท จึงทำให้มีการตั้งคำถามว่า ควรใช้เม็ดเงินในโครงการที่เป็นการสร้างการลงทุนระยะยาว และสามารถเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวหรือไม่ ดังนั้น จึงมีมุมมองต่างๆ ออกมาตรงกันว่า เม็ดเงินดังกล่าวน่าจะถูกนำไปใช้ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

โดยมองว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ด้านความคุ้มค่าในระยะยาว เพื่อทำให้การเติบโตอย่างยั่งยืน น่าจะคุ้มค่าน้อยกว่าเอาไปลงทุน ดังนั้น จึงอยู่ที่คำตอบของรัฐบาลที่จะเน้นว่าโครงการนี้ รัฐบาลตั้งใจจะกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะมีมาตรการอื่นๆ เสริม ดังนั้น จึงยากในการมองว่าโครงการนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะรัฐบาลเลือกที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนมุมมองทางวิชาการ ต้องยอมรับว่า การนำเอาเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้กลุ่มเปราะบาง ที่มีความต้องการใช้เงินจริงๆ เพียงแค่บางส่วน และนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะได้ประโยชน์มากกว่า

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีหากกฤษฎีกา มีความเห็นไม่ผ่านพร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โครงการเงินดิจิทัล จะเดินไปในทิศทางใด รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุว่า หากกฤษฎีกาไม่ผ่านจะต้องมอง 2 มุม คือ รัฐบาล จะเลือกวิธีอื่นใดมาดำเนินการ เช่น การใช้เงินงบประมาณแผ่นดินของปี 2567 ซึ่งอาจจำเป็นต้องเลือกว่าจะใช้เต็มจำนวน 5 แสนล้านบาท โดยไม่ทำโครงการอื่น หรือ จะมีการกันเงินไว้บางส่วนเพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต บางส่วน และมอบให้ประชาชนอีกบางส่วนในปีงบประมาณถัดไป

ดังนั้น หากรัฐบาลจะเลือกเดินหน้าโครงการนี้ ก็มีด้วยกัน 2 วิธี คือ

– การใช้เงินเต็มจำนวน กับแบ่งเงินเพื่อใช้กับโครงการเป็นช่วงๆ หรือ เฟส โดยช่วงแรก อาจจะมีการโอนเงินให้ประชาชนเพียง 16 ล้านคน ซึ่งจะใช้เม็ดเงินเพียง 1.6 แสนล้านบาท และช่วงที่ 2 ในช่วงปลายปีงบประมาณ หรือ ต้นปีงบประมาณ กับประชาชนอีกกลุ่ม ในช่วงปลายปีงบประมาณ 67 หรือต้นปีงบประมาณ 68

– รัฐบาลยกเลิกโครงการนี้ และใช้โครงการอื่นแทน ซึ่งรัฐบาลจะต้องไปหาโครงการว่าจะใช้โครงการใด ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีโครงการทางเลือกเกิดขึ้น อีกทั้งหากรัฐบาลกู้เงินไม่ได้ รัฐบาลจะต้องใช้เงินจากงบประมาณเพื่อมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากการจะใช้เงินจากมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยการใช้เงินกู้จากรัฐวิสาหกิจ หรือการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.บ.นั้นไม่สามารถทำได้ จึงต้องใช้เงินงบประมาณดำเนินการ
ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเรื่องทำโครงการนี้หรือไม่ หากเลือกจะดำเนินการอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย หากไม่มีเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท เข้าไปกระตุ้น และไม่มีโครงการอื่นออกมาเสริม มองว่า ศักยภาพเศรษฐกิจไทยปี 67 จะเติบโตได้ประมาณ 3-3.5% แต่หากมีเม็ดเงินจากส่วนนี้เข้าไป จะต้องติดตามว่า รัฐบาลจะใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งเดียว 5 แสนล้านบาทหรือไม่ ซึ่งหากใช้เม็ดเงิน 5 เเสนล้านบาท จะมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 4-5 % สูงขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"นักโบราณคดี" ยืนยัน "โกลเด้นบอย" ถูกค้นพบที่ จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นหลักฐานใหม่ พลิกหน้าประวัติศาสตร์
คลิปนี้ชัดมาก “แม่น้องไนซ์” พูดเต็มปากเต็มคำ เชื่อมจิตมีในพระไตรปิฎก โซเชียลจับตาส่อผิด พ.ร.บ.คอมพ์
ครอบครัว-เพื่อนสนิท เคลื่อนศพ “บุ้ง ทะลุวัง” วนรอบเมรุ กล่าวคำอาลัยก่อนทำพิธีฌาปนกิจ
"มูลนิธิยังมีเรา" ร่วม "มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์-ไทยสมายล์ กรุ๊ป" มอบทุนการศึกษา "เยาวชน สมุทรสงคราม" สานฝันโอกาสเด็กยากไร้
หลวงพ่อแจกข้าวเหนียวมะม่วง และผลไม้ตามฤดูการ เนื่องในโอกาสที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ แทนแจกวัตถุมงคล ญาติโยมอิ่มบุญ อิ่มท้องไปตามๆกัน
"สว.ดิเรกฤทธิ์" ยันไร้ใบสั่งยื่นศาลรธน.วินิจฉัยคุณสมบัติ "พิชิต" พ่วงถอดถอน "นายกฯ"
เปิดบ้านทหารใหม่ ให้ผู้ปกครองเดินทางเยี่ยมบุตรหลาน
คนเมืองชลกว่าพันคน แห่ร่วมยินดี ”รมต.เฮ้ง” เลขาขิง-รมต.ปุ้ย ส.ส.เป้า ส.ส.ลูกหมี รวมไทยสร้างชาติ ยังแน่นปึ้ก มาครบทีม
พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสารท องคมนตรีเป็น ประธานเปิดงานประกวดโคกระบือไก่สวยงามครั้งแรกของจังหวัดฉะเชิงเทราที่จัดยิ่งใหญ่ได้มาตรฐาน ณ บ้านคลองมะหาดใจกลางดงช้างป่าท่าตะเกียบ มีผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมพร้อมมอบถ้วยรางวัลเกือบร้อยรางวัลใบประกาศเกียรติคุณเงินรางวัลให้เกษตรกรที่นำโค กระบือ วัวไก่ ร่วมแข่งขัน พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสารท องคมนตรี บอกว่าทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงให้ความห่วงใยใส่ใจในพื้นที่อำเภอท่าตะเกียบที่ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในการห่วงใยนำแก้ไขปัญหาภัยช้างป่ามาโดยตลอด
ใส่ใจ สุขภาพ "เมืองพัทยา" จัดงานมหกรรมเครือข่ายสุขภาพชุมชน ครั้งที่ 2

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น