กรมการแพทย์ เตือนประชาชน วิธี "แก้หนาว" อย่าหาดื่มสุรา ชี้ เป็นความเชื่อผิด ๆ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
ข่าวที่น่าสนใจ
ลมหนาวมาแรงทั้งที บางคนก็ชื่นชอบบรรยากาศดี ๆ เหมาะกับการนั่งชิล จิบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เม้ามอย “แก้หนาว” แต่รู้หรือไม่? การดื่มสุรานอกจากจะเป็นความเชื่อผิด ๆ แล้ว ยังเสี่ยงชีวิตโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี พื้นที่ในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศจะหนาวเย็น ประชาชนบางกลุ่มนิยมดื่มสุราเพราะ เชื่อว่าสามารถทำให้ร่างกายอบอุ่นได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด และอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
- เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายในระยะแรกหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังจะขยายตัวทำให้รู้สึกอบอุ่นขึ้นเพียงชั่วครู่
- ร่างกายจะเริ่มระบายความร้อนมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง นำไปสู่ความเสี่ยงการเกิดภาวะไฮโปเทอร์เมีย หรือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกิน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจและสมอง ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง
- ในรายที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก จะออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการง่วง ซึม และอาจหลับไปท่ามกลางอากาศหนาวเย็น
- หากมีเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นไม่เพียงพอ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
- นอกจากนี้ การดื่มสุรายังส่งผลต่อสังคมในอีกหลาย ๆ ด้าน ซึ่งที่ชัดเจนที่สุด คือ การดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ
บรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า การดื่มสุราเพื่อคลายความหนาวเย็นนอกจากเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องแล้ว ยังส่ง
ผลเสียต่อสุขภาพของผู้ดื่มอย่างมาก
แนะนำประชาชนที่จะดื่มสุราเพื่อคลายความหนาวเย็น หันมาเตรียมร่างกายและดูแลสุขภาพตัวเองให้พร้อมในช่วงหน้าหนาว ด้วย 5 วิธี “แก้หนาว” อย่างถูกวิธี
- สวมเสื้อผ้าหนา ๆ สวมถุงมือถุงเท้าและสวมหมวก ให้เพียงพอกับความอบอุ่นที่ร่างกายต้องการ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้ เพราะ มีวิตามินป้องกันโรคหวัดได้
- ดื่มน้ำอุ่นและเครื่องดื่มอุ่น ๆ ช่วยบรรเทาความหนาว
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายได้รับความอบอุ่นภายใน และทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง
- อาบน้ำอุ่นแทนน้ำเย็น จะช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 การรวมกลุ่มเพื่อดื่มสังสรรค์ยังคงเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงและอาจเป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้
หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่
- สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165
- เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)
- กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่
– โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่
– โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน
– โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น
– โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
– โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา
– โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บ : คลิกที่นี่
ข้อมูล : กรมการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง