“จตุพร” ชี้ร่างกม.นิรโทษฯต้องรอบคอบพิจารณาขอบข่าย ยกพระราชประสงค์สถาบันฯเป็นหลัก ถ้าคิดช่วยคนโดนคดี 112 ควรวางเป็นโมเดล วางกรอบลงโทษเพิ่มให้หนัก ถ้าก่อเหตุซ้ำ
สืบเนื่องเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2568 ที่ผ่านมา รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม จำนวน 5 ฉบับ ต่อเนื่องจากการประชุมสภาฯ ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการอภิปรายสรุปเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.แต่ละฉบับก่อนจะลงมติ นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายสรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.สร้างสังคมสันติสุข ที่นำเสนอ ไม่ได้ทำเพื่อกลุ่ม กปปส. แต่ทำเพื่อทุกกลุ่ม แต่ไม่ได้นิรโทษกรรมคนทุจริต ความผิดคดีอาญาเข่นฆ่าประชาชน และคดีมาตรา 112 ขอให้ลดการเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน สิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ารับร่างกฎหมายแล้วจะตราเป็นกฎหมายทันที ต้องไปหารือในชั้น กมธ. เชื่อว่า สภาจะจับมือร่วมกันให้สังคมเกิดสันติสุข
ขณะที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ไม่ได้ยิน สส.คนใดบอกไม่อยากให้อภัยคนที่ทำผิดจากการแสดงออกทางการเมือง คดีมาตรา 112 มีมูลเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง ควรได้รับนิรโทษกรรม ถ้ารับร่างเฉพาะฝ่ายรัฐบาล เท่ากับเปิดช่องนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ทำร้ายประชาชน แล้วไปนิรโทษกรรมข้อหากบฏ ก่อการร้าย ปิดสนามบิน ชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอข้อเรียกร้องทางการเมืองให้ตัวเอง จะเรียกว่าสร้างสังคมสันติสุขได้อย่างไร การนิรโทษกรรมแบบได้บางกลุ่ม แต่ตีตราคนอีกกลุ่ม ถือว่าผิดทาง เลือกปฏิบัติ อยากให้ผู้ที่มีอำนาจออกกฎหมาย โหวตนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ให้เดินต่อไปได้ ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยก็ไปอธิบายสื่อสารให้เข้าใจ อย่าไปตัดสินก่อนว่า คดีมาตรา 112 น่ารังเกียจ คดีมาตรา 112 มีมิติ มีเรื่องราวมากกว่าที่เคยทราบมา อย่าปิดประตูตาย ทอดทิ้งคนอีกหลายร้อยชีวิต เหมือนพวกเขาไม่มีตัวตน ขอให้รับร่างกฎหมายนี้ เพื่อเคารพต่อสามัญสำนึกของท่านเอง
ด้านนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า หลักการนิรโทษกรรมพรรคภูมิใจไทยคือ ไม่รวมคดีทุจริต ไม่รวมคดีมาตรา 112 และการกระทำผิดให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือต้องรับผิดชอบต่อตัวบุคคล ที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ การจะเดินหน้าไปสู่สันติสุข ต้องมั่นใจกุญแจที่ไขจะนำไปสู่ความปรองดอง ไม่ใช่ไขแล้วไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ยอมรับเห็นใจคนทำผิดมาตรา 112 แต่ต้องยอมรับว่า คนที่ถูกลงโทษคดีมาตรา 112 มีไม่น้อย ที่เป็นทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก การแก้กฎหมายต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง และการเผชิญหน้า คนทำผิดมาตรา 112 ยังมีช่องทางอื่น เช่น ถ้าสำนึกผิดก็ขอพระราชทานอภัยโทษ หลายคนที่ถูกลงโทษคดีนี้ก็ได้รับการอภัยโทษ พรรคภูมิใจไทยไม่ได้รังเกียจคนทำผิดมาตรา 112 แต่ถ้าไปเหมารวมทุกกรณี สิ่งตามมาคือความไม่สงบสุขในสังคมรอบใหม่ ต้องมาขอนิรโทษกรรมไม่จบสิ้น ขออภัยไม่สามารถรับร่างที่ขัดเหตุผล นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม เพราะไม่อาจเยียวยาบาดแผลเก่า เพื่อไปสร้างบาดแผลใหม่ขึ้นมาได้
ส่วนทางด้านน.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายว่า จะส่งเสริมสันติสุข โดยทิ้งคนอีกกลุ่มได้อย่างไร ที่ผ่านมาได้ไปทำความเข้าใจร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลต่อ สส.ต่างพรรค หลายคนบอกเห็นใจ เข้าใจ แต่ทำไม่ได้เรื่องการนิรโทษกรรม มาตรา 112 เราเถียงกันในห้องแอร์จะนิรโทษกรรมให้คดีใดก่อน แต่ไม่คำนึงว่า ไม่ว่าเป็นคดีใด ทุกคนก็เป็นประชาชน คดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ถูกแบ่งแยก จะส่งเสริมสันติสุข โดยทิ้งคนอีกกลุ่มได้อย่างไร แม้จะมีความหวังน้อยนิด เพราะรู้ลึกๆ ในใจแต่ละคนมีธงอย่างไร ร่างของพรรคก้าวไกลไม่มีนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ในเนื้อหา เข้าใจดีว่า การรับร่างกฎหมายฉบับนี้ลำบากใจ แต่อย่างน้อยให้กดงดออกเสียงก็ยังดี ถือว่าเพียงพอให้ทุกร่างได้ไปถกในชั้น กมธ. ขอดึงสติทุกคนนี่คือวาระ 1 จะปิดประตูความหวังประชาชนตั้งแต่วาระ 1 คงไม่ใจร้าย ขอเปลี่ยนความเห็นใจเป็นการงดออกเสียงก็ยังดี
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากอภิปรายร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมครบทั้ง 5 ฉบับแล้ว ที่ประชุมจึงลงมติ โดยให้แยกการลงมติเป็นรายฉบับ ผลปรากฏที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบ 3 ฉบับคือ ฉบับที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 299 ต่อ 0 งดออกเสียง 172 ฉบับที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของนายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม ได้รับความเห็นชอบ 311 ต่อ 0 งดออกเสียง 158 ไม่ลงคะแนน 1 และฉบับที่ 5 ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 311 ต่อ 3 งดออกเสียง 147 โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณา 32 คน ใช้ร่างของนายวิชัยเป็นร่างหลัก
ขณะที่อีก 2 ฉบับไม่ได้รับความเห็นชอบคือ ฉบับที่ 3 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ ไม่ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 319 ต่อ 147 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะแนน 1 และฉบับที่ 4 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่ภาคประชาชนเป็นผู้เสนอ ไม่ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 306 ต่อ 149 งดออกเสียง 20 ถือว่า ที่ประชุมไม่รับหลักการ ต้องตกไป