“กรมทรัพยากรทางทะเลฯ” เตือนภัยนทท.ระวัง “มังกรทะเลสีน้ำเงิน” โผล่หาดกะรน ย้ำอย่าสัมผัส อันตรายถึงชีวิต
ข่าวที่น่าสนใจ
จากกรณีที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้รับข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์เฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2568 เวลาประมาณ 19.00 น. ว่าพบทากทะเลสีน้ำเงิน หรือ มังกรทะเลสีน้ำเงิน (Blue Dragon) ถูกคลื่นซัดเข้าบริเวณหาดกะรน จังหวัดภูเก็ต คลื่นลมแรง (คลื่นสูงประมาณ 1-2 ม.) สร้างความสนใจให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยพบที่ชายฝั่งภูเก็ต ในช่วงเดือน ส.ค.2566
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าเป็นทากทะเลสีน้ำเงินที่มีพิษชนิด Glaucus sp. ขนาดประมาณ 0.5 ซม. โดยพิษมาจากการเก็บสะสมเข็มพิษจากเหยื่อที่กินเข้าไป ไม่สามารถผลิตเข็มพิษได้ด้วยตัวเอง พร้อมกันนี้ยังพบ แมงกะพรุนกะลาสี (Velella velella) และแมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์ (Porpita porpita) ซึ่งเป็นอาหารของทากทะเลสีน้ำเงินร่วมด้วย
สำหรับมังกรสีนํ้าเงิน เป็นทากทะเลสีสันสดใส ลำตัวสีน้ำเงินสลับสีขาว จัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่นเดียวกับหอยและปลาหมึก กินสัตว์ทะเลที่มีพิษเป็นอาหาร ทำให้มังกรทะเลสีน้ำเงินนี้มีสีสันสวยงาม ประกอบกับลักษณะของแขนขาที่มีรูปร่างพริ้วสยายคล้ายกับปีก จึงเป็นที่มาของชื่อว่า มังกรสีน้ำเงิน (The Blue Dragon) แม้จะมีขนาดเล็กแต่มีนิสัยดุร้าย พร้อมโจมตีเหยื่อและผู้บุกรุกด้วยพิษอันร้ายแรงที่จะเข้าไปทำลายระบบประสาทการทำงานของหัวใจและเซลล์ผิวหนัง ซึ่งไม่ได้ผลิตขึ้นเอง แต่จะสะสมพิษจากสัตว์ที่มันกินเป็นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมงกะพรุนพิษ ที่มีฤทธิ์คล้ายกับแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หากสัมผัสถูกผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง จัดเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก
ทั้งนี้หากพบเห็น ทากทะเลสีน้ำเงิน หรือ มังกรทะเลสีน้ำเงิน (Blue Dragon) บนชายหาดหรือในทะเล ห้ามเข้าใกล้หรือสัมผัสเด็ดขาด ให้แจ้งไลฟ์การ์ดบริเวณหาดกะรน หาดกะตะหาดป่าตอง หรือหาดอื่น ๆ เพื่อให้ช่วยกันเก็บตัวอย่าง ทั้งแมงกระพรุนเหรียญ มังกรทะเลสีน้ำเงิน และแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส หรือแจ้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) แต่ถ้าหากถูกพิษแล้วสามารถใช้น้ำส้มสายชู ล้างบริเวณที่ถูกพิษเพื่อบรรเทาอาการและรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที นอกจากนี้ ขอให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ระมัดระวังการพบเจอแมงกะพรุนหัวขวด (Bluebottle Jellyfish) ชนิด Physalia sp. ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารของทากทะเลสีน้ำเงินที่มีพิษ และมักพบแมงกะพรุนกลุ่มนี้หลังจากการพบเจอทากทะเลสีน้ำเงิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น