เครื่องยนต์แอร์อินเดีย เกิดการตัดน้ำมันก่อนตก
ผลการสอบสวนเบื้องต้น เหตุเครื่องบินแอร์อินเดียตกเมื่อเดือนที่แล้ว จนคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 250 คน พบว่า เครื่องยนต์ถูกตัดน้ำมัน อย่างไม่ทราบสาเหตุ
สำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยานแห่งอินเดีย ได้รายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์เครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ ซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปลอนดอนจากเมืองอาห์มดาบาดของอินเดีย ประสบอุบัติเหตุตกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากเครื่องเพิ่งขึ้นได้เพียง 30 วินาที โดยรายงานได้ระบุว่า ไม่กี่วินาทีหลังจากเครื่องขึ้นบิน สวิตช์ควบคุมน้ำมันได้ถูกปิด ทำให้เครื่องขาดน้ำมัน
ในรายละเอียดได้ระบุด้วยว่า ทันทีที่เครื่องบินขึ้นจากพื้นดิน ภาพจากกล้องวงจรปิดได้แสดงให้เห็นถึงแหล่งพลังงานสำรอง ที่เรียกว่ากังหันอากาศ ได้ชี้ไปว่า เครื่องยนต์กำลังสูญเสียพลังงาน ขณะที่ในเสียงของนักบินที่บันทึกไว้พบว่า นักบินทั้ง 2 กำลังถกเถียงกันอย่างสับสนว่า ใครเป็นคนตัดน้ำมัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่า สวิตช์น้ำมันถูกเปลี่ยนไปอยู่โหมดตัดอย่างไม่ทราบสาเหตุ อย่างไรก็ดี เมื่อพบสวิตช์ดังกล่าวในจุดเกิดเหตุ ก็พบว่า มันได้ไปอยู่ในโหมดทำงานแล้ว
สำหรับสวิตช์เหล่านี้ จะมีสปริงเพื่อให้คงอยู่ในตำแหน่งเดิม ดังนั้น ในการจะเปลี่ยนจากโหมดทำงาน ไปเป็นโหมดตัด นักบินจะต้องดึงสวิตช์ขึ้นมาก่อน แล้วจึงเลื่อนสวิตช์จากโหมดทำงาน ไปเป็นโหมดตัดได้ ทั้งนี้ รายงานเบื้องต้นไม่ได้มีการระบุว่า สวิตช์ถูกเปลี่ยนไปที่ตำแหน่งตัดระหว่างเที่ยวบินได้อย่างไร หรือมีเหตุฉุกเฉินใด ๆ ที่ต้องตัดเครื่องยนต์
ด้านแอนโธนี บริกเฮาส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยการบินของสหรัฐ ได้ให้ข้อมูลว่า นักบินจะไม่สามารถขยับสวิตช์น้ำมันโดยไม่ได้ตั้งใจได้ ขณะที่จอห์น แนนซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินของสหรัฐอีกราย ก็มีความเห็นว่า โดยปกติแล้วนักบินที่มีสติ จะไม่ปิดสวิตช์ในระหว่างบินเด็ดขาด โดยเฉพาะเมื่อเครื่องบินกำลังเริ่มไต่ระดับขึ้น เพราะการสับสวิตช์ จะทำให้เครื่องยนต์ดับทันที แล้วส่วนใหญ่ก็มักใช้เพื่อดับเครื่องยนต์เมื่อเครื่องบินมาถึงประตูสนามบิน และในสถานการณ์ฉุกเฉินบางกรณี เช่น เครื่องยนต์เกิดไฟไหม้เท่านั้น
สำหรับเหตุการณ์เครื่องบินตกครั้งนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนบนเครื่อง 242 ราย โดยรอดชีวิตมาได้เพียง 1 ราย ขณะที่การตกของเครื่อง ได้ชนเข้ากับที่พักนักศึกษา จนมีผู้เสียชีวิตในส่วนพื้นดินอีก 19 ราย ถือเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ คาดว่าจะมีรายงานขั้นสุดท้ายออกมา ภายในหนึ่งปี หลังจากเกิดอุบัติเหตุ
#บก.ข่าวทีวี