การปรับโครงสร้างสินค้าภาคการเกษตรของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรโดยเน้นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รองรับผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิก กลายเป็นผลงานเด่นของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้การนำของอธิบดี “วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์” ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพราะพลันที่นายวิศิษฐ์ ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งอธิบดีเมื่อกว่า 4 ปีก่อน “การส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร” คือ 1 ในนโยบายที่อธิบดีให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ
จากนโยบายดังกล่าว สู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมมากขึ้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายสินค้าเกษตร เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตระหว่างชนิดสินค้า (Matching Business) และขับเคลื่อนโดยระบบเครือข่ายที่จะช่วยให้สินค้ามีการพัฒนาร่วมกับการลดต้นทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สามารถขับเคลื่อนไปด้วยกัน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้สหกรณ์ภาคการเกษตรที่ปัจจุบันมีจำนวน 4,509 แห่ง และกลุ่มเกษตรกร อีก 4,661 กลุ่ม ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจในระดับชุมชนที่เป็นหลักในการช่วยเหลือให้บริการ และเป็นที่พึ่งให้กับเกษตรกรสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่ได้
นางสายฝน แสงใส ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ การันตีสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 ผู้ผลิตและจำหน่ายไข่ไก่ ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ปัจจุบันมีสมาชิก 31 ราย มีทั้งฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ กลางและรายย่อย ผลิตไข่ไก่ได้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนฟองต่อวัน จำหน่ายให้ห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ในจังหวัดภาคเหนือ ตลาดริมปิง เชียงใหม่ รวมทั้งเครือข่ายสหกรณ์ด้วยกัน โดยได้นำไข่ที่ได้รับความเสียหายจากกระบวนการผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การสนับสนุนด้านเครื่องมืออุปกรณ์การผลิตจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ปัจจุบันสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไข่ไก่มากมายหลายชนิด อาทิ ไส้กรอกไข่ขาว ไข่ขาวหลอดพร้อมรับประทาน เต้าหู้ไข่ไก่ และขนมฝอยทอง ทองหยิบทองยอดใช้วัตถุดิบจากไข่แดง จำหน่ายในตลาดริมปิง ร้านอาหาร ร้านค้าทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน
เช่นเดียวกับสหกรณ์การเกษตรสว่างอารมณ์ จำกัด อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล ข้าวกข43 และอื่น ๆ โดยการผลิตเฉลี่ย 1,000 ตันต่อรอบฤดูการผลิต ซี่งผลผลิตส่วนใหญ่นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นข้าวสารบรรจุถุงขนาดต่าง ๆ ภายใต้ตรา “เพชรสว่าง” ปัจจุบันนอกจากแปรรูปข้าวสารบรรจุถุงแล้ว สหกรณ์นำปลายข้าวหอมจากการสีมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตเป็น “เซรั่มบำรุงผิว” โดยร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดอุทัยธานีและทีมนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในการดำเนินการ จนในที่สุดก็ได้ผลิตภัณฑ์เด่นออกมา ชื่อว่า “เซรั่มปลายข้าวหอมบำรุงผิว” ปัจจุบันขวดขนาด 90 ซีซี สนนราคาจำหน่ายอยู่ที่ 189 บาท ผลิตจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสหกรณ์ฯ กำลังต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ได้แก่ ครีมกันแดด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำวิจัย
นางอุบลรัตน์ นัคราจารย์ ที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตรสว่างอารมณ์ จำกัด กล่าวถึงผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวจากปลายข้าวหอมอินทรีย์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปล่าสุดของสหกรณ์ จากเดิมที่สหกรณ์ได้จำหน่ายปลายข้าว สนนราคาอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปลายข้าวหลายเท่าตัว ซึ่งปกติปลายข้าวหอม 5 กิโลกรัมจะผลิตเซรั่มบำรุงผิวได้จำนวน 500 ขวด นับว่าเป็นการแปรรูปสินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่าสูง ปัจจุบันผลิตตามออเดอร์เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 ขวดต่อเดือน ในอนาคตหากมีออเดอร์เพิ่มขึ้นก็จะสามารถผลิตในจำนวนที่เพิ่มขึ้นได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยกองพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2566 ถึงปัจจุบัน จากผลการดำเนินงานปรากฏว่า ปี 2566 มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 140 แห่ง โดยสามารถสร้างเครือข่ายแปรรูปสินค้าเกษตรและเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูป จำนวน 7 เครือข่ายที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการแปรรูปผลผลิต โดยมีมูลค่าจำหน่ายสินค้า/ผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มขึ้น มูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปของสถาบันเกษตรกรก่อนเข้าร่วมโครงการมีมูลค่า 2,228.90 ล้านบาท และหลังจากที่เข้าร่วมโครงการมีมูลค่า 2,451.61 ล้านบาท โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่ากว่า 222 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2567 จำนวนกลุ่มเป้าหมายได้ลดจำนวนลงเหลือ 100 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามงบประมาณประจำปีที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนอุปกรณ์การผลิตการตลาดเพื่อการแปรรูปแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 32 แห่ง มูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปของสถาบันเกษตรกรก่อนเข้าร่วมโครงการมีมูลค่า 1,883 ล้านบาท และหลังจากที่เข้าร่วมโครงการมีมูลค่า 1,994 ล้านบาท โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.90 คิดเป็นมูลค่ากว่า 111 ล้านบาท
ล่าสุดปี 2568 ได้กำหนดเป้าหมายให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า จำนวน 177 แห่ง ใน 57 จังหวัด ซึ่งมีมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปของสถาบันเกษตรกรก่อนเข้าร่วมโครงการมีมูลค่า 4,063 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน (สิ้นสุดไตรมาส 2) มีมูลค่ากว่า 2,300 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 4 จะมีมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือประมาณกว่า 4,200 ล้านบาท รวมทั้งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการตลาดที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร จำนวน 16 แห่ง ทั้งนี้ ยังมีการสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายตลาดแปรรูปสินค้าเกษตร ให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
นับเป็นอีกก้าวของ “กรมส่งเสริมสหกรณ์” ในการยกระดับสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาล”ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้วยการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรสมาชิก