บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ในพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 23 ภายใต้แนวคิด “ปรับเปลี่ยน เรียนรู้ สู่ความยั่งยืน”
โครงการรางวัลลูกโลกสีเขียว เริ่มขึ้น ในปี 2542 เพื่อนำพาให้สังคมได้รู้จักกับคนและชุมชนที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ด้วยความอุตสาหะ เสียสละ โดยมิได้คาดหวังเงินทองและชื่อเสียงใด ๆ และให้ความสำคัญกับบุคคล ชุมชน และกลุ่มเยาวชน ที่เป็นต้นแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จากนั้นในปี 2553 ได้ยกระดับเป็น “สถาบันลูกโลกสีเขียว” ปัจจุบัน มีผลงานรวมทั้งสิ้น 858 ผลงาน มีเครือข่ายลูกโลก สีเขียวกว่า 5,000 คนทั่วประเทศ สามารถช่วยรักษาและขยายพื้นที่ป่าสะสมกว่า 2.47 ล้านไร่
โดยพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวในครั้งที่ 23 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ปรับเปลี่ยน เรียนรู้ สู่ความยั่งยืน’ มีผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 16 ผลงาน 4 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย ประเภทชุมชน 6 ผลงาน , ประเภทกลุ่มเยาวชน 4 ผลงาน , ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต (สิบ-ปะ-นน-เก-ตุ-ทัด) รางวัลแห่งความยั่งยืน 3 ผลงาน และ ประเภทงานเขียน 3 ผลงาน
ภายในงานมีการบรรยายสุดพิเศษ ในหัวข้อ “บทเรียนจากคนที่ทำให้โลกกลายเป็นสีเขียว” โดย คุณทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสารออนไลน์ The Cloud และเสวนา การปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดย คุณอุมา ศรีสุข ผอ.กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม , ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย , พ่อหลวงปรีชา ศิริ ผู้นำชุมชนห้วยหินลาด และ คุณ กุลวดี จันทรปาน ผู้จัดการ สถาบันลูกโลกสีเขียว
นอกเหนือจากนั้นยังมีการเสวนางานเขียน จากผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ดำเนินเวทีเสวนาโดย รศ. ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ประธานกรรมการประเมิณคุณค่าผลงานรางวัลประเภทงานเขียน ภายใต้หัวข้อ “เสียงโหยหวนจากธรรมชาติ ประสบการณ์ผสานจินตนาการสู่การสร้างสรรค์วรรณกรรมสีเขียว” โดยมี คุณพิเชษฐ์ เบญจมาศ ได้รับรางวัลดีเด่นจากเรื่อง ‘’ศพของเพื่อนส่งกลิ่นทั่วท้องทะเล’’ , คุณรสสุคนธ์ สารทอง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากเรื่อง ‘’เฟรมผ้าใบที่ไม่ได้จัดแสดง’’ และ คุณพวงเพชร สุพาวาณิชย์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากเรื่อง “กว่างนอกสังเวียน”
การปรับเปลี่ยน วิธีคิด วิถีชีวิต และเปิดรับองค์ความรู้ที่หลากหลาย ผสมผสานทั้งวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น จะสนับสนุนให้ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิต และทำให้โลกของเรายั่งยืนต่อไป