“ดีเอสไอ” ขนสำนวน 1.7หมื่น แผ่น คดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ ส่งอัยการฟ้อง 5 ผู้ต้องหา

“DSI" เตรียมขนลังสำนวนคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ 46 แฟ้ม เอกสารกว่า 17,620 แผ่น ส่งอัยการสั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา ”3 นอมินีไทย-ชวนหลิง จาง-บินลิง วู“ ภายในบ่ายวันนี้ ยืนยัน ไม่กดดันที่ต้องตรวจสอบองค์กรอิสระ (สตง.) ชี้ อำนาจการพิจารณาความผิดตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. - กฎหมายฮั้วประมูล ต่อผู้บริหารระดับสูงของ สตง. - เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นอำนาจเต็มของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มั่นใจจะได้ตัว ”บินลิง วู“ ผู้ต้องหาชาวจีนรายสำคัญ เชื่อมโยงบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ที่กำลังหลบหนีกบดาน มาดำเนินคดีโดยเร็ว

“ดีเอสไอ” ขนสำนวน 1.7 หมื่น แผ่น คดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ ส่งอัยการฟ้อง 5 ผู้ต้องหา – Top News รายงาน

 

ดีเอสไอ

 

จากกรณีเมื่อวันที่ 22 พ.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำโดย คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 ความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการประชุมภาพรวมสำนวนคดี และสรุปสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา ได้แก่ นายประจวบ ศิริเขตร นายมานัส ศรีอนันท์ นายโสภณ มีชัย นายชวนหลิง จาง และนายบินลิง วู เสนอไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณา ก่อนสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการคดีพิเศษ ภายในกรอบเวลาสิ้นเดือน พ.ค. เพื่ออัยการพิจารณาสำนวนสั่งฟ้องต่อศาลอาญารัชดาภิเษกตามขั้นตอน นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนยังได้พิจารณาขยายผลสืบสวนความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือกฎหมายฮั้วประมูล ภายใต้การตรวจสอบสัญญา 3 ฉบับในโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประกอบด้วย สัญญารับเหมาก่อสร้าง สัญญาการออกแบบ และสัญญาการควบคุมงาน เพื่อหาผู้เกี่ยวข้องรายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นิติบุคคล ที่มีพฤติการณ์ได้มาซึ่งสัญญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทั่งดีเอสไอส่งรายงานข้อมูลให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน เนื่องจากพบเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 26 พ.ค. ที่ ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ประตูกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ประตู 3) ชั้น 2 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 ได้มีการสรุปสำนวน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมความเห็นเสนออัยการสั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา ประกอบด้วย กรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทย 3 ราย คือ นายประจวบ ศิริเขตร นายโสภณ มีชัย นายมานัส ศรีอนันท์ กรรมการชาวจีน 1 ราย คือ นายชวนหลิง จาง และนายทุนชาวจีน 1 ราย ซึ่งอยู่นอกโครงสร้างของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ คือ นายบินลิง วู

 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการสืบสวนสอบสวน โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งในคดีนี้มีพยานเอกสารกว่า 17,620 แผ่น จำนวน 46 แฟ้ม

 

ขณะที่ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการสรุปรายละเอียดให้ฟังว่าคดีพิเศษที่ 32/2568 เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องตึก สตง.ถล่ม ซึ่งดีเอสไอได้ดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ มาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 41 จึงจะได้มีการนำสำนวนส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษในช่วงบ่ายวันนี้ โดยมีจำนวนลังเอกสาร 46 ลัง เเละเอกสารกว่า 17,000 แผ่น พร้อมความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา 5 ราย โดยมี 1 ผู้ต้องหากำลังหลบหนี (นายบินลิง วู) ทั้งนี้ พิกัดข้อมูลการสืบสวนว่าตอนนี้นายบินลิง วู หลบอยู่ที่ไหนนั้น ดีเอสไอได้มีการประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เบื้องต้นผู้ต้องหายังหลบอยู่ในประเทศไทย มั่นใจว่าอีกไม่นานคงจะได้ตัวมาดำเนินคดี ส่วนจะมีใครให้ความคุ้มครองอยู่หรือไม่นั้น เรายังไม่มีข้อเท็จจริงในส่วนนี้ และยังไม่ขอลงรายละเอียดว่าผู้ต้องหาหลบอยู่ในพื้นที่ภาคใดของประเทศไทย ดังนั้น เมื่อจับกุมตัวได้เมื่อใด ก็จะนำตัวผู้ต้องหาพร้อมคำให้การส่งไปยังพนักงานอัยการในภายหลัง อย่างไรก็ดี หากผู้ต้องหาจะขอทำเอกสารขอความเป็นธรรม อันนี้เราไม่ทราบ ต้องแล้วแต่เทคนิกของแต่ละคน ส่วนตอนนี้เจ้าตัวยังไม่ได้มีการประสานขอเข้ามอบตัวแต่อย่างใด

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ร.ต.อ.สุรวุฒิ เผยอีกว่า หากภายหลังจากที่ดีเอสไอได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการคดีพิเศษ แล้วพนักงานอัยการเห็นว่ามีประเด็นที่อยากมอบหมายให้ดีเอสไอไปสอบสวนเพิ่มเติม กรณีนี้หากอัยการเห็นว่ามีเรื่องที่ดีเอสไอต้องสอบสวนเพิ่มเติม เราก็จะรับไปดำเนินการตามคำสั่งของอัยการ แต่ถ้าไม่มีประเด็นเพิ่มเติม อัยการก็จะมีอำนาจในการสั่งคดีไปยังศาล อย่างไรก็ตาม จากการทำสำนวนสอบสวนในตลอดเวลาที่ผ่านมา ดีเอสไอมีความมั่นใจว่าเนื้อหามีความครบถ้วนภายในระยะเวลาที่เรามี ซึ่งในตอนนี้พนักงานอัยการจะมีเวลาในการพิจารณาเนื้อหาสำนวนของดีเอสไอระยะเวลาหนึ่งฝาก หรือ 12 วัน

 

ร.ต.อ.สุรวุฒิ เผยด้วยว่า ที่ผ่านมา กรรมการชาวไทย 3 ราย (นายประจวบ ศิริเขตร นายมานัส ศรีอนันท์ ซึ่งถูกดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาตามกฏหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้น พวกเขาได้มีการส่งคำให้การที่เป็นรายละเอียดปีกย่อย ซึ่งมันสอดคล้องกับคำให้การที่เคยให้ไว้ก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้มีคำให้การที่เป็นประโยชน์ ซึ่งคำให้การส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง แต่ก็เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกัน อีกทั้งพยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจนจึงมีความเห็นสั่งฟ้องทั้งหมด

ร.ต.อ.สุรวุฒิ เผยต่อว่า นอกจากนี้ ในส่วนของ 17 บริษัท ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้น ดีเอสไอจะแยกทำสำนวนต่อไป เนื่องจากมีผู้ต้องหาชาวไทย 3 ราย ไปถือหุ้นในบริษัทอื่นในลักษณะคล้ายกัน จึงทำให้ดีเอสไอต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้น จึงคาดว่าจะแยกเป็นอีกหนึ่งคดีพิเศษ เพื่อตรวจสอบ 17 บริษัทเหล่านี้ โดยจะต้องไปตรวจสอบรายละเอียดโครงการที่บริษัทเหล่านี้ได้ประมูลไป


ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุถึงกรณีที่ดีเอสไอได้มีการประสานข้อมูลสัญญา 3 ฉบับ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปยัง ป.ป.ช. ว่า ในส่วนที่ดีเอสไอดำเนินการก็มีความไปเกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. จึงคาดว่าจะส่งรายละเอียดให้ภายในสัปดาห์นี้ รวมถึงได้มีการประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นคดีที่มีการกล่าวหาองค์กรอิสระและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. โดยดีเอสไอจะต้องนำส่งให้ภายในกรอบเวลา 30 วัน ซึ่งจะมีรายละเอียดเนื้อหาพฤติการณ์ทั้งหมดว่าเราพบข้อเท็จจริงประเด็นใดบ้าง โดยเบื้องต้นเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวพันกันในส่วนของตำแหน่งหน้าที่ อย่างไรก็ตาม กรณีที่ดีเอสไอต้องส่งรายละเอียดให้ ป.ป.ช. เนื่องจากมีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ อีกทั้งทราบว่า ป.ป.ช. มีการตั้งเรื่องไต่สวนไว้แล้วบางส่วน

“สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในคดี สตง. ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในราชการในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย ส่วนจะมีผู้บริหารที่เกษียณไปแล้วหรือไม่ตนขอไม่ลงลึกในรายละเอียดภายในสำนวน และก่อนหน้านี้เราก็ได้มีการกล่าวหาในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีบทบาทควบคุมงาน จำนวน 6 ราย ส่งไปยัง ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ในเวลานี้ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกัน และตามกฎหมายของ ป.ป.ช. มาตรา 30 ได้กำหนดให้ดีเอสไอต้องส่งสำนวนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐให้ ส่วนกฎหมายจะมอบหมายให้ดีเอสไอทำอย่างไรก็ถือเป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าหากมอบหมายมาให้ทำ เราก็ยินดีทำ หรืออีกกรณีหากจะมอบหมายให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปร่วมเป็นคณะอนุฯ ทางเราก็ยินดีให้ความร่วมมือ เพื่อให้ความสนับสนุน” รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุ.

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุต่อว่า หากจะตอบว่าในตอนนี้ถือว่ามีผู้บริหารของ สตง. ต้องมาร่วมรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวแล้วหรือไม่นั้น ตนเรียนว่าต้องเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะไต่สวน 100%

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุอีกว่า สำหรับเอกสารจำนวนมากที่ได้มาจากการตรวจค้นร่วมบูรณาการกับหลายหน่วยงาน ก็ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นต้น มีการแลกเปลี่ยนเอกสารระหว่างหน่วยงานตลอด มีความคืบหน้าอย่างไรก็จะเรียนแจ้งกันให้รับทราบ เพราะยังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องเอกสารต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลตรวจคุณภาพวัสดุต่าง ๆ

 

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุต่อว่า กรณีว่าดีเอสไอมีความกดดันหรือไม่ที่ต้องตรวจสอบองค์กรอิสระนั้น ตนเรียนว่าตามกฎหมายแล้ว ระบุกำหนดไว้ว่า ต้องเป็นองค์กรอิสระตรวจสอบซึ่งกันและกัน จึงทำให้สำนักงาน ป.ป.ช. จะเข้ามามีบทบาทตรงนี้ ดีเอสไอเป็นเพียงผู้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ท้ายสุดแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้พิจารณา พร้อมย้ำว่าเราไม่มีความกดดัน แต่เพียงแค่ว่าประสบปัญหาเรื่องของเอกสารที่ล่าช้า เพราะเอกสารบางส่วนไปอยู่ในตึก ทั้งนี้ ในส่วนของอีก 10 กว่าโครงการอื่น ๆ ที่กิจการร่วมค้า ITD-CREC ประมูลไปได้นั้น ดีเอสไอจะมีการขยายผลตรวจสอบต่อไปเช่นเดียวกัน จะต้องดูรายละเอียดว่าพบความผิดใดบ้างหรือไม่

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในบรรดา 5 ผู้ต้องหาดังกล่าว มี 3 ผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลก่อนหน้านี้ (ในการฝากขังผัดที่ 1) คือ นายประจวบ ศิริเขตร นายโสภณ มีชัย นายมานัส ศรีอนันท์ ส่วนนายชวนหลิง จาง อยู่ระหว่างการฝากขังผัดที่ 1 ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็น 1 ใน 17 ผู้ต้องหาในคดีของตำรวจ สน.บางซื่อ กรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ตึก สตง. ถล่ม คดีอาญาที่ 621/2568 ส่วนนายบินลิง วู เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสะกดรอยและการข่าว ยังอยู่ระหว่างเร่งติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

PEA แนะใช้ไฟฟ้า กรณีน้ำท่วม เพื่อความปลอดภัยประชาชน
จับแล้ว "หมอเตย-พ.จ.อ." คนสนิททิดแย้ม มือคุมบัญชีประมูลร้านค้าวัดไร่ขิง
เปิดผลเจรจา " 2 ผบ.ทัพ ไทย-กัมพูชา" นำ 3 ข้อปฏิบัติ หยุดปะทะช่องบก
"พิพัฒน์" นำเปิดโครงการร่วมมือรัฐ-สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อกว่า 3 หมื่นล้าน เงื่อนไขพิเศษ สร้างโอกาสผู้ประกอบการเสริมแกร่งธุรกิจ
จีนซัดสหรัฐสั่งเพิกถอนวีซ่านักศึกษาจีนไร้เหตุผล
อัยการสูงสุด แจงเหตุ สั่งไม่ฟ้อง "ดร.พอล แชมเบอร์ส" คดีโพสต์หมิ่น ผิดม.112
"มทภ.4" ยืนยัน อาวุธปืนค่ายวชิราวุธ เป็นอาวุธที่ถูกต้อง ไม่พบความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์รุนแรง ชายแดนใต้
ผอ.เทคนิคระยอง รุดช่วยเด็ก นศ.ปวช.3 ยอดกตัญญู สู้ชีวิต ดูแล แม่ป่วยติดเตียง กระทั่งแม่เสียชีวิต
ตร.จ่อเพิ่มข้อหา "ทิดแย้ม-สีกา" ยักยอกเงินประมูลร้านค้าวัดไร่ขิง
"เพิ่มพูน" นำเปิดมหกรรมการศึกษา "ไทย-จีน" สื่อสัมพันธ์ 2 ชาติ แน่นแฟ้น 50 ปี สู่การพัฒนาวิชาการยุคดิจิทัล

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น