ตัวแทนภาคธุรกิจจีนได้รายงานสถานการณ์การทำการผลิตและการดำเนินงานของแต่ละบริษัทระหว่างการประชุม สรุปได้ดังนี้ (1) ธุรกิจจีนมีการจ้างงานพนักงานชาวไทยสูงถึงกว่า 90% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยล้วนให้ความสำคัญกับสวัสดิการและผลประโยชน์ของพนักงาน อีกทั้งมีการฝึกอบรมทักษะให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง จนพนักงานชาวไทยจำนวนไม่น้อยสามารถพัฒนาขึ้นมามีตำแหน่งบริหารขององค์การ
(2) ธุรกิจจีนพยายามขยายความร่วมมือในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกับบริษัทไทย โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานใหม่หนึ่งแห่งได้สร้างความร่วมมือด้านจัดซื้อกับบริษัทไทยกว่า 35 บริษัท มีชิ้นส่วนถึง 415 รายการที่ป้อนเข้าโดยบริษัทพันธมิตรในประเทศไทย
(3) ธุรกิจจีนมีการชำระภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยบริษัทผลิตยางรถยนต์หนึ่งแห่ง แม้ยังอยู่ในช่วงได้รับสิทธิประโยชน์การลดหรือยกเว้นภาษี แต่ในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา บริษัทดังกล่าวได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 620 ล้านบาท
(4) ธุรกิจจีนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยบริษัทต่าง ๆ ที่มาตั้งสายการผลิตในไทย ต่างนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยระดับโลกมาใช้ โดยเฉพาะสองบริษัทที่ผลิต “โมเลกุลซีฟ” และ “เซลล์แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งช่วยเติมเต็มช่องว่างในอุตสาหกรรมของไทยในด้านนี้
(5) ธุรกิจจีนช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย บริษัทที่เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก โดยมีตลาดหลักอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และยุโรป และมีแนวโน้มเพิ่มความหลากหลายยิ่งขึ้น
(6) ธุรกิจจีนยึดมั่นในแนวคิด “อยู่ในไทย ทำเพื่อไทย” ปฏิบัติหน้าที่ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแข็งขัน ทั้งนี้ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วยความกระตือรือร้น และบริจาคสิ่งของให้แก่โรงเรียน โรงพยาบาล และบริจาคเงินและสิ่งของให้แก่พื้นที่ประสบภัย เป็นต้น
ผู้บริหารกลุ่ม WHA ได้กล่าวชื่นชมบริษัทจีนที่มาลงทุนในประเทศไทย โดยระบุว่า ปัจจุบัน มีบริษัทจีนกว่า 326 แห่งเข้ามาตั้งฐานธุรกิจภายในนิคมฯ WHA บริษัทจีนเหล่านี้ดำเนินธุรกิจโดยเคารพกฎระเบียบของไทยอย่างเคร่งครัด ไม่เพียงแต่นำเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยมาสู่ประเทศไทย พวกเขายังให้รายได้และสวัสดิการแก่พนักงานชาวไทยอย่างงดงาม พร้อมกล่าวเชิญชวนให้บริษัทจีนอื่นๆเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
หลังรับฟังรายงานของภาคธุรกิจ เอกอัครราชทูตหาน จื้อเฉียง กล่าวว่า แม้สภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะเผชิญกับความท้าทายจากการใช้นโยบายภาษีของสหรัฐอย่างไม่มีเหตุผล แต่การพัฒนาและความร่วมมือยังคงเป็นความต้องการร่วมกันของประชาคมโลก และการใช้วิธีการกดขี่แบบฝ่ายเดียวย่อมไม่ใช่ทางออกในระยะยาว การลงทุนและความร่วมมือเป็นเสาหลักสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-ไทย การที่ธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น สอดคล้องกับเป้าหมายการขยายธุรกิจสู่ระดับสากลของบริษัทจีน และเป็นการสนองต่อความต้องการด้านการพัฒนาของประเทศไทย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและประชาชนในพื้นที่ สะท้อนถึงมิตรภาพและความร่วมมืออันดีระหว่างสองประเทศอย่างแท้จริง
ทูตหานกล่าวว่าเศรษฐกิจของจีนและไทยมีโครงสร้างที่เกื้อกูลกันอย่างมาก ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศยังมีศักยภาพและเติบโตได้อีกมาก บริษัทจีนในประเทศไทยควรยึดมั่นในหลักการ “ความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน” พัฒนาความสามารถและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบของกฎหมาย ต้องเสริมสร้างความมั่นใจและฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อมุ่งสู่ผลประกอบการที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งมีส่วนร่วมในการสานต่อมิตรภาพที่เรียกว่า “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” และเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน-ไทยต่อไป
http://th.china-embassy.gov.cn/th/sgxw/202505/t20250523_11630931.htm