เปิดคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด แก้พิพากษาเดิม ชี้ “ยิ่งลักษณ์” ต้องชดใช้ 10,028 ล้านบาท ในฐานะนายกฯ ละเลย เพิกเฉย ทำนโยบายรับจำนำข้าวก่อให้เกิดความสียหาย
ข่าวที่น่าสนใจ
หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด โดยไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และตุลาการเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่ให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ เป็นเงิน 35,717,273,028 บาท
ในคดีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ อนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ร่วมกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร กรณีที่ร่วมกันมีคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ากระทรวงการคลังยอมรับว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ายิ่งลักษณ์เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง และขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดก็ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และเพิกถอนคำสั่งยึด อายัดทรัพย์สิน รวมทั้งคำสั่งขายทอดตลาด และคำสั่งปฏิเสธคำขอกันส่วนในฐานะเจ้าของร่วม
โดยมีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารข่าวศาลปกครองที่แนบมาพร้อมนี้
1.ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแยกพฤติการณ์การกระทำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง การดำเนินการในส่วนของนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งไม่มีส่วนที่ต้องรับผิดทางละเมิดต่อกระทรวงการคลัง ,ส่วนที่สอง การดำเนินการในการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งเป็นการกระทำทางปกครอง ย่อมอยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
ส่วนกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กระทรวงการคลังเพียงใดนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยดังนี้
ความเสียหายเฉพาะในขั้นตอนการระบายข้าว ด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี นางสาวยิ่งลักษณ์ทราบปัญหาการทุจริตแล้ว แต่ไม่ได้ติดตามกำกับดูแล โดยเฉพาะในการติดตามดูแลหรือตรวจสอบการทุจริตตามสัญญาซื้อขายแบบจีทูจี ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ในฐานะประธาน กขช. เข้าร่วมประชุม กขช.แค่เพียงครั้งเดียว จากพฤติการณ์ดังกล่าว จึงเห็นได้ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธาน กขช. ยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลยไม่ติดตาม หรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงาน ผลการดำเนินงานตรวจสอบ ส่งผลให้มีปัญหาการระบายข้าวไม่ทัน ต้องเก็บรักษาข้าวในคลังเป็นเวลานานจนข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญเสีย อีกทั้งไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอของหน่วยงาน ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ
พฤติการณ์แห่งการกระทำของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย นางสาวยิ่งลักษณ์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กระทรวงการคลัง ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยเมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบจีทูจี ตามสัญญาซื้อขาย จำนวน 4 ฉบับ มีความเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 20,057,723,761.66 บาท ความเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบจีทูจี เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายคน และเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น จึงสมควรกำหนดสัดส่วนความรับผิดของนางสาวยิ่งลักษณ์ ตามมาตรา 8 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยให้รับผิดในอัตราร้อยละ 50 ของความเสียหายจากการระบายข้าวแบบจีทูจี ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ จึงคิดเป็นเงินที่นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดจำนวน 10,028,861,880.83 บาท
คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่13 ตุลาคม 2559 เฉพาะส่วนที่เรียกให้นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยึด อายัดทรัพย์สินของนางสาวยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่นางสาวยิ่งลักษณ์ได้มาภายหลังจากการที่นางสาวยิ่งลักษณ์และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี อยู่กินฉันสามีภริยา สามีนางสาวยิ่งลักษณ์จึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่มีส่วนในทรัพย์สินเท่ากันกับนางสาวยิ่งลักษณ์ แม้จะไม่ปรากฏชื่อนายอนุสรณ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าวก็ตาม ดังนั้นการที่กระทรวงการคลัง โดยปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิเสธการขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดมาจากนางสาวยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อนายอนุสรณ์
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นดังนี้
1.ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะส่วนที่ให้นางสาวยิ่งลักษณ์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
2.ให้เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆ ของกรมบังคับคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ที่มีคำสั่งประกาศหรือการดำเนินการใดๆ ในการยึดอายัดทรัพย์สินของนางสาวยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อันเป็นการบังคับตามมาตรการทางปกครอง ที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เฉพาะในส่วนที่เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
3.ให้ปลัดกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลัง ดำเนินการสั่งการเกี่ยวกับการขอกันส่วนทรัพย์สินที่ ถกยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาดตามสิทธิของนายอนุสรณ์ จำนวน 37 รายการ และแจ้งให้กรมบังคับคดีจัดทำบัญชีรับ-จ่าย เพื่อกันส่วนให้นายอนุสรณ์ในฐานะเจ้าของรวม รวมทั้งแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าว ให้แก่นายอนุสรณ์ทราบ ทั้งนี้ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น