“สภาพัฒน์” ปรับ GDP ไทยปี 68 เหลือขยายตัวแค่ 1.3–2.3% เจอปัญหาหนี้ครัวเรือน พิษภาษีสหรัฐฯ
ข่าวที่น่าสนใจ
19 พ.ค. 2568 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 และแนวโน้มปี 2568 ว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ขยายตัว 3.1% เป็นผลมาจากภาคการผลิต และการใช้จ่ายยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะปริมาณการการส่งออกสินค้า ขยายตัว 13.8% และการส่งออกบริการขยายตัว 12.3% เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐขยายตัว 26.3% ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.89% สูงกว่า 0.88% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่า 1.01% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% และ 0.9% ตามลำดับ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 80,444 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 15.0 สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส เร่งขึ้นจากร้อยละ 10.6 ในไตรมาสก่อนหน้า กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ยางพารา ร้อยละ 32.4 ,คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 130.8 ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง อาทิ ข้าว ลดลงร้อยละ 30.4, ทุเรียน ลดลงร้อยละ 0.5 ทั้งนี้การส่งออกสินค้าไปตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และจีน อาเชียน และสหภาพยุโรป ไม่รวมUKด้านการส่งออกสินค้าไปยังตลาดออสเตรเลีย และฮ่องกง ลดลงต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 72,269 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ชะลอลงจากร้อยละ 10.7 ในไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.5 พันล้านดอลลาร์ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 245,300 ล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่าทั้งสิ้น 12.08 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.4% ของ GDP
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 สศช.ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว อยู่ที่ 2.3 – 3.3% ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 2.8% เหลือเพียงขยายตัว 1.3 – 2.3% ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ 1.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง
อย่างไรก็ดีการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี ยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มชะอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร ซึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจในปี คือ การใช้จ่ายภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายให้มากขึ้น การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ทั้งสามเครื่องยนต์นี้ต้องเร่งให้มากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยง ตัวสำคัญคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งตอนนี้การเจรจาการค้ายังไม่ได้ข้อยุติ และหลายประเทศกำลังเข้าคิวรอ ขณะที่ในประเทศยังมีปัญหาหนี้สินครัวเรือนในระดับสูงด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น