“ดร.ณัฏฐ์” กางระเบียบป.ป.ช.ไต่สวนผิด “พีระพันธุ์” สามารถร้องนายกฯ-ศาลรธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ “สนธิญา” จี้เร่งสอบ “แจกถุงยังชีพ” ตามกม.
ข่าวที่น่าสนใจ
18 พฤษภาคม 2568 สืบเนื่องจากนายภูเทพ ทวีโชติธนากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.ชี้แจงว่า ในการไต่สวนเรื่องกล่าวหา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ดังกล่าว คณะกรรมการไต่สวนได้ส่งหนังสือเชิญไปยังนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา ตามที่อยู่ที่ปรากฏในทะเบียนราษฎรทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดยมีใบตอบรับไปรษณีย์ส่งกลับมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ดังนั้น การดำเนินการส่งหนังสือดังกล่าวของคณะกรรมการไต่สวนจึงชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 5 ประกอบระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ข้อ 73 แล้ว
ล่าสุด ดร.ณัฏฐ์ หรือ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชนคนดัง ให้ความเห็นและอธิบายว่า
(1)อำนาจไต่สวนของ ปปช.องค์กรอิสระ เป็นไปตาม พรป.ว่าด้วย ปปช.พ.ศ.2561
(2)ในการไต่สวนของ ปปช.หรือคณะกรรมการไต่สวน เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ที่ ปปช.ใช้อำนาจในการออกระเบียบภายในองค์กรและใช้เป็นเครื่องมือในการไต่สวน ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุม ปปช.ชุดใหญ่ วินิจฉัยชี้มูลความผิด
(3)ในการไต่สวนของ ปปช.หรือคณะกรรมการไต่สวน เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอมีมูลเพียงพอที่จะวินิจฉัยชี้มูลความผิด ให้แจ้งข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ตามระเบียบ ปปช.ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ.2561 ข้อ 72 วรรคหนึ่ง
ดร.ณัฏฐ์ อธิบายว่า ตามระเบียบ ปปช.ข้อ 72 วรรคสอง วิธีการแจ้งข้อกล่าวหา คณะกรรมการไต่สวนจะต้องสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นเสนอกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล เพื่อพิจารณาให้แจ้งข้อกล่าวหาและให้พนักงานไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
แต่ในกรณีกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา อาจมีคำสั่งให้คณะไต่สวนเบื้องต้นดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ โดยให้ระบุประเด็นข้อไม่สมบูรณ์ที่จะให้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนไว้ในคราวเดียวกันด้วย
(4) ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาตามกำหนดนัดเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้ส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไปให้ผู้ถูกกล่าวหา โดยให้จัดส่งไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและให้นำข้อ 73 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ดร.ณัฏฐ์ อธิบายว่า กรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน พยายามหลีกเลี่ยงไม่มารับทราบข้อกล่าวหา โดยใช้ช่องทางพีอาร์ตนเองโดยทำหนังสือขอเยือนประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว โดยไม่ได้รับเชิญ ในช่วงจังหวะเดียวกัน โดยที่ตนรู้อยู่แล้วว่ามีหมายเรียกจากคณะไต่สวน ปปช.เรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาที่เผยแพร่ทางสื่อครึกโครมในวันเวลาและสถานที่ แต่พยายามบิดเบือนว่าไม่ได้รับหมายเรียกให้ไปแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ใช่เหตุขัดข้องและไม่แจ้งเหตุขัดข้องต่อคณะกรรมการไต่สวน ปปช.ที่ไม่อาจเดินทางมาได้ ถือเป็นพฤติการณ์จงใจไม่มาตามหนังสือเชิญ ถือว่า ได้รับทราบโดยชอบ คณะกรรมการไต่สวนยังไม่มีอำนาจขอหมายจับจากศาล
แต่ระเบียบข้อ 75 กรณีนายพีระพันธุ์ฯไม่มาให้ถือว่าสละสิทธิ์ในการต่อสู้คดี โดยให้คณะกรรมการไต่สวนจัดส่งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
ให้ทำบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นสามฉบับ เพื่อเก็บไว้ในสำนวนการไต่สวนหรือรายงานการไต่สวนเบื้องต้นหนึ่งฉบับ โดยให้ส่งไปให้ผู้ถูกกล่าวหาสองฉบับ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเก็บไว้หนึ่งฉบับ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือซือและวันเดือนปีที่รับทราบส่งกลับคืนมารวมไว้ในสำนวนการไต่สวนหรือรายงานการไต่สวนเบื้องต้นหนึ่งฉบับ
ในระเบียบ ปปช.เขียนไว้ชัดว่า เมื่อล่วงพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว แม้จะไม่ได้รับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาคืน หรือไม่ได้รับคำชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและไม่ประสงค์ที่จะแก้ข้อกล่าวหา
ส่วนข้อที่ถามว่า นายพีระพันธุ์ฯ ถูกกล่าวหาในการเป็นกรรมการและถือหุ้น ผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งแจกถุงยังชีพและแต่งตั้งกรรมการบริษัทไปนั่งบอร์ด กฟผ.รวมถึงตั้งคนใกล้ตัวไปนั่งเป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงถูกตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามสมัคร เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรค รสทช.และต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี มีช่องทางไหนสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้
ดร.ณัฏฐ์ อธิบายว่า ตาม ระเบียบ ปปช.ข้อ 76 ในกรณีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว คณะกรรมการไต่สวนหรือคณะไต่สวนเบื้องต้น พิจารณาแล้วเห็นว่า การให้นายพีระพันธุ์ฯ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหา ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ทางราชการหรือเป็นอุปสรรคในการไต่สวนต่อไป ให้ทำความเห็นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อส่งเรื่องให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว
อีกช่องทางหนึ่ง คือ สส.หรือ สว.ต้องใช้รายชื่อ 1 ใน 10 เสนอต่อประธานสภาแห่งนั้นแล้วยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดกรณีนายพีระพันธุ์ฯกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและมีคุณสมบัติต้องห้าม เป็นรัฐมนตรี ทำให้สถานะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะราย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง หรือช่องทาง กกต. ไต่สวนและมีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ตามมาตรา 82 วรรคท้าย โดยผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หากศาลมีเหตุอันควรสงสัยปรากฏตามคำร้องขอ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสองก็ได้
ขณะที่วันพรุ่งนี้ 19 พ.ค. 2568 เวลา 10.30 น. มีรายงานระบุว่า นายสนธิญา สวัสดี จะเดินทางไปที่ ป.ป.ช. สนามบินน้ำ เพื่อร้องให้ ป.ป.ช. ไต่สวน ตรวจสอบข้อเท็จจริง การฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง และ การกระทำผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ พรรครวมไทยสร้างชาติ และคณะกรณีเกี่ยวกับ หมายเรียก เพื่อตรวจสอบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เรื่องการแจกถุงยังชีพ ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ และกฎหมาย เพื่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 234 235 ฝ่าฝืน จริยธรรมร้ายแรง และร่วมกันกระทำผิด เกี่ยวกับ พรบ. คอมพิวเตอร์ ทำให้ หน่วยงานราชการ ป.ป.ช. เสียหาย นำความเท็จ ลงสู่ สื่อสารออนไลน์
จึงร้องเพื่อให้ ป.ป.ช. โปรดวินิจฉัย ไต่สวน และดำเนินการต่อไป
กระผมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช พ.ศ. 2560 มาตรา 41 (1)(2) ประกอบมาตรา 50 เพื่อ ป.ป.ช. ดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น